“นพ.สุภัทร” แฉ รัฐบาลคสช.เร่งแปรรูปการไฟฟ้าชายแดนใต้ให้เป็นเอกชนถือหุ้นใหญ่

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และเป็นนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลในการแปรรูปการไฟฟ้าในภาคใต้ โดยมีการตั้งบริษัทเปิดทางให้กลุ่มเอกชนเข้ามาถือหุ้นใหญ่ โดยระบุว่า

“เรื่องนี้เงียบมาก รัฐบาลกำลังจะแปรรูปการไฟฟ้าในชายแดนใต้ให้เป็นเอกชนถือหุ้นใหญ่….

จากนโยบายหนุนโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยังไม่ตกผลึก เพราะคนสามจังหวัดเขายังไม่มั่นใจในผลกระทบที่จะมีต่อพื้นที่ แต่รัฐบาลทหารกำลังรุกไปอีกขั้น จะตั้งบริษัทชื่อ RPS (Regional Power System) ที่มีการถือหุ้นของเอกชนถือหุ้น 51%, กฟผ.(EGAT)24.5% และ กฟภ.(PEA)24.5% ซึ่งเป็นการแปรรูปการไฟฟ้าให้เป็นบริษัทเอกชนแบบรวดรัดยิ่ง เป้าหมายคือให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้2561(ก่อนเลือกตั้ง) โดยจะนำร่องกับการไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้(ยะลา, ปัตตานี และ นราธิวาส) เป็นแห่งแรก

การแปรรูปการไฟฟ้าเป็นเอกชนเคยถูกคัดค้านอย่างหนักมาแล้วจากคนไทย รอบนี้รัฐบาลทหารขอลองของอีกรอบ ซึ่งผลกระทบต่อประชาชนมีแน่ ทำไมต้องเร่งรีบในยุคเผด็จการ รอรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่มีความชอบธรรมมาพิจารณาไม่ดีกว่าหรือ

ทั้งนี้บริษัท RPS นี้ กองทุนฯกระทรวงพลังงาน จะถือหุ้น 51%ไปก่อน แล้วค่อยโอนให้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โดยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่/ชีวภาพเดิม ประมาณ 112.5 MW อยู่ในความดูแล หรือต่อไปอาจก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นของวิสาหกิจชุมชนเอง แต่แท้จริงใครได้ประโยชน์กันแน่ในการอ้างวิสาหกิจชุมชนในครั้งนี้ อันนี้ยังต้องเจาะกันต่อไป

ในส่วน กฟภ.ต้องโอน ผู้ใช้ไฟ ประมาณ ห้าแสนราย(3 จังหวัดใต้)ให้ บริษัท RPS แล้ว กฟภ.จะได้ค่าให้บริการสินทรัพย์(ค่าเช่าสายส่งสายจำหน่าย)

คาดว่าเดือน มิถุนายน นี้ 3 ฝ่ายลงนาม MOU และนำเสนอ ครม.ใน เดือนกันยายน วันจันทร์ ที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา พนักงาน กฟภ.หลายพื้นที่จึงได้แต่งชุดดำ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านเรื่องนี้แล้ว

เรื่องใหญ่เรื่องนี้เงียบมาก มุบมิบมาก น่าเป็นห่วงสุดๆ”