‘อลงกรณ์’ ชี้ยากแต่ต้องทำ ให้พรรคเก่า-ใหม่ ยึดแนวทางระบบไพรมารี่

วันที่ 17 มิถุนายน 2561 นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงกรณีหลายพรรคการเมืองกังวลเรื่องการเลือกตั้งในระบบไพรมารี่ ว่า จากประสบการณ์กว่า 20 ปีที่อยู่ในพรรคการเมืองและผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้งเห็นว่าการเลือกตั้งแบบไพรมารี่เป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูปพรรคการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยโดยการเพิ่มสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของสมาชิกพรรคให้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.เพื่อให้สมาชิกพรรคมีความเป็นเจ้าของพรรคและส.ส.ของพรรคมากขึ้นเมื่อนั้นพรรคการเมืองจะเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชนอีกทั้งยังเป็นการช่วยให้พรรคการเมืองพ้นจากการถูกครอบงำของกลุ่มผลประโยชน์และนักการเมืองกังฉินที่ใช้พรรคการเมืองแสวงหาประโยชน์ทุจริตคอรัปชั่นงบประมาณแผ่นดินและโครงการของรัฐดังที่เกิดขึ้นในอดีต

“หากต้องการปฏิรูปการเมืองให้บังเกิดผลต้องเริ่มจากระบบไพรมารี่ซึ่งหวังว่าพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่จะช่วยกันขับเคลื่อนระบบไพรมารี่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแม้จะยากและตัองสละอำนาจของผู้บริหารพรรคหรือกลุ่มผลประโยชน์ให้กับสมาชิกพรรคก็ต้องทำเพื่อยกระดับพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองและพัฒนาประชาธิปไตยแบบผู้แทน(representative democracy)ที่ใช้มา80กว่าปีเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม(participatory democracy)” นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า  ระบบไพรมารี่ริเริ่มเสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)สนช.)เห็นพ้องต้องกันโดยบรรจุระบบไพรมารี่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นครั้งแรก และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองและเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งยืนยันว่าสามารถปฏิบัติได้จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเลื่อนระบบไพรมารี่ออกไปไม่เช่นนั้นการปฏิรูปการเมืองก็ไม่สามารถนับหนึ่งได้และหากติดขัดเรื่องเวลาหรือแนวปฏิบัติใดๆก็ควรหารือร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองและกกต. ส่วนประเด็นที่อ้างว่าการเลือกตั้งขั้นต้นจะทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคนั้นฟังไม่ขึ้นเพราะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคก็ใช้ระบบการเลือกตั้งเหมือนกัน หรือประเด็นที่กังวลว่าผู้สมัครส.ส.จะไปรวมสมาชิกเป็นกลุ่มก้อนเพื่อสนับสนุนตนเป็นผู้สมัครส.ส.นั้นตนเห็นว่าเป็นการดีกว่าที่ผู้สมัครส.ส.จะมุ่งหน้าหาสมาชิกมากกว่ามุ่งหน้าหาผู้ใหญ่ในพรรคหรือกลุ่มทุน

“อีกประเด็นคือปัญหาเรื่ององค์ประชุมของการเลือกตั้งขั้นต้นที่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คนในเขตเลือกตั้งที่มีสาขาพรรคหรือจะมีสมาชิกไม่ถึง 50 คนในจังหวัดที่ไม่มีสาขาในเขตเลือกตั้งแล้วจะดำเนินการไพรมารี่ไม่ได้ซึ่งหากพรรคการเมืองหาสมาชิกแค่ 50 คนใน 1 จังหวัดหรือ 100 คนในเขตเลือกตั้งที่มีสาขาพรรคก็อย่าตั้งเป็นพรรคการเมืองให้เสียเวลาเพราะถ้าคิดจะส่งส.ส.เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งต้องมีคะแนนหลายหมื่นคะแนนแค่ 50 คน 100 คนยังบอกทำไม่ได้จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น” นายอลงกรณ์ กล่าว