‘บิ๊กจิน-บิ๊กอู๋’ เดินสายปทุมฯ ติดตามสร้างอาชีพ ‘ผู้ต้องขัง’

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ต้องขังชั้นดีที่ออกมาฝึกทักษะอาชีพในสถานประกอบการ ที่บริษัท เกรทวอลล (1988) จำกัด จ.ปทุมธานี

 

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ได้ติดตามและขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำ หลังจากที่ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือตาม “โครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมราชทัณฑ์ กรมการจัดหางาน (กกจ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างอาชีพ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ต้องขัง ไม่หวนไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งนี้ บริษัทเกรทวอลล (1988) ได้รับผู้ต้องขังสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานจัดส่ง พนักงานประกอบประตู ช่างเชื่อม ช่างประกอบ และช่างปูกระเบื้องยาง ได้รับอัตราค่าจ้างวันละ 325 บาทต่อคน 

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า โครงการสร้างอาชีพผู้ต้องขัง มีผลการดำเนินงาน ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ดำเนินการก่อนพ้นโทษ เป้าหมาย 37,000 คน ดำเนินงาน 35,097 คน ช่วงที่ 1 ฝึกทักษะและนำชิ้นงานเข้าไปทำในเรือนจำ เป้าหมาย 27,000 คน ผลการดำเนินงาน 24,562 คน แยกเป็น 1.นำชิ้นงานเข้าไปผลิตในเรือนจำ 18,793 คน เช่น ถักอวน ปักผ้า สานตะกร้า ประดิษฐ์ดอกไม้ พับถุงกระดาษ ทำห่วงทองรูปพรรณ เป็นต้น 2.ฝึกทักษะอาชีพในสถานประกอบการ 1,266 คน เช่น ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างติดตั้งเหล็กโครงสร้างมวลเบาและหลังคา นวดแผนไทย ล้างอัดฉีด เป็นต้น 3.ฝึกทักษะฝีมือแรงงาน 4,503 คน เช่น ช่างปูกระเบื้อง ก่ออิฐฉาบปูน ช่างไฟฟ้า ทำขนมไทย เป็นต้น ช่วงที่ 2 เตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษ เป้าหมาย 10,000 คน ผลการดำเนินงาน 10,535 คน โดย แนะแนวอาชีพ สาธิตการประกอบอาชีพอิสระ และบริการจัดหางาน 7,211 คน และทดสอบความพร้อมทางอาชีพ 3,324 คน กลุ่มที่ 2 การดำเนินการหลังพ้นโทษ ได้รับการจ้างงานแล้ว 394 คน เช่น พนักงานฝ่ายผลิต พนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ประกอบอาชีพอิสระ 71 คน เช่น เพาะเห็ดฟาง ช่างเชื่อม รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

“บริษัทเกรทวอลลฯ มีการจ้างงานผู้ต้องขังอยู่แล้วในตำแหน่งพนักงานทั่วโดยเป็นผู้ต้องขังชาย 21 คน แบ่งเป็น ทำงานทั่วไป 16 คน ทำงานที่มีทักษะ 5 คน มีผู้ควบคุมดูแลจากเรือนจำ 2 คน ทำงานวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 08.00 -17.00 น. มีรถรับ-ส่ง จากเรือนจำ พร้อมมีอาหารมาจากเรือนจำ และรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน 7 คน ปัจจุบันเหลือ 4 คน ยังมีอีกหลายสถานประกอบการที่รับผู้พ้นโทษเหล่านี้เข้าทำงาน เช่น บริษัท เอ็ดดี้ โกล์ด จำกัด (ทำทอง) โรงงานอุตสาหกรรมกระเบื้องดินเผา เด่นจันทร์ เป็นต้น” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน โดยผู้พ้นโทษที่สนใจจะประกอบอาชีพอิสระ สามารถจดทะเบียนเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน และกระทรวงแรงงานมีกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน สำหรับให้ผู้รับงานกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิต หรือขยายการผลิตเพื่อสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านได้อีกด้วย โดยมีวงเงินปล่อยกู้ตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ระยะเวลาผ่อนชำระ 2-5 ปี