เสียงสะท้อน ‘คสช.’ เสียงวิจารณ์ ‘รัฐบาล’ ผ่านเวทีสัมมนาทางการเมือง

ช่วงที่ผ่านมา เหล่าพรรคการเมืองยังคงทำกิจกรรมเกือบทั้งหมดไม่ได้ ที่ทำได้ทำไปแล้วเป็นการหาสมาชิกพรรคตามข้อกำหนดของกฎหมาย อุปสรรคขวากหนามก็ยังเป็นเรื่องการติดล็อกใหญ่ ถึงขั้นอยากให้มีการยกระบบไพรมารีโหวตไปไว้บนหิ้งก่อนจะได้หรือไม่ ตราบใดที่การแบ่งเขตเลือกตั้งก็ยังไม่เกิดขึ้น การจัดประชุมของแต่ละพรรคก็ยังไม่ให้ทำ รวมทั้งจำนวนสมาชิกที่หามาก็น้อยเต็มทน

ช่วงสุญญากาศทางการเมืองที่ยังไม่รู้เลยว่าจะเดินหน้าไปอย่างไรต่อ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ในเมื่อเหล่าพรรคการเมืองยังหาที่ยืนของตัวเองอย่างลำบาก เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้นักการเมือง ตั้งแต่อดีต ส.ส. ไปจนถึงอดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งแกนนำพรรคทั้งเก่าและใหม่ต่างต้องพูด “แตะ” ให้ถึงไปตามเวทีเสวนาต่างๆ ตั้งแต่ต้นปี 61 ที่ผ่านมา

วงเสวนาเมื่อ 14 มิ.ย. ล่าสุด ตั้งหัวข้อ “อนาคตประชาธิปไตยไทย : ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง?” ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทั้ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กับ “จาตุรนต์ ฉายแสง” เป็น 2 ใน 4 คนที่ถูกเทียบเชิญ

“จาตุรนต์” วิพากษ์กฎหมายที่เขียนขึ้นมาเหมือนย้อนหลังกลับไป 50 ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญถูกบัญญัติขึ้นมาให้รัฐบาลสมัยหน้าต้องทำตามแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ทำตามก็เจอตรวจสอบ แผ้วทางไปสู่การถอดถอน ดังนั้นควรรีบกำหนดเลือกตั้งโดยเร็ว คสช.ต้องเลิกใช้มาตรา 44 จะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง ก่อนจะยืนยันว่า จะต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รวมทั้งแก้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ

ขณะที่ “อภิสิทธิ์” บอกตอนหนึ่งว่า แม้จะมีรัฐธรรมนูญกับกฎหมายลูกที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังเดินหน้าไม่ได้เพราะไปติดคำสั่งของคสช. ท่ามกลางคำประกาศว่าจะมีโรดแมป หากเป็นไปได้ก็น่าจะยกเลิกคำสั่งคสช.เพราะไม่เห็นเลยว่าการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองจะไปกระทบความมั่นคงได้อย่างไร

ย้อนไป 20 พ.ค. วงเสวนา “The Move We Decide-ก้าวที่เลือกได้” จัดที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อีกเช่นกัน ทั้ง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” และ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” จากพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ตามลำดับ ร่วมพูดคุยกับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ วงนี้พูดถึงการต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “คุณหญิงสุดารัตน์” ชี้ตอนหนึ่งถึงทัศนคติของผู้มีอำนาจต้องเปลี่ยนด้วย เช่น การใช้มาตรา 116 ดำเนินการกับผู้ที่เห็นต่าง

“อรรถวิชช์” เรียบเรียงภาพของรัฐธรรมนูญที่ถูกจัดทำขึ้น 20 ฉบับ ตลอดกว่า 80 ปีที่ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตย กลับมาเสียเวลาในการร่างกับการแก้มากกว่าจะใช้ ส่วนฉบับล่าสุด อาจต้องลองใช้กันไปก่อน ถ้าไม่ดีต้องแก้แน่ ยืนยันว่าไม่มีอะไรแก้ไม่ได้ ทำนองเดียวกับ “ปิยบุตร” ที่บอกต้องเปิดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้ออกเสียงประชามติว่าต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ โดยคดีความที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 ต้องยุติการดำเนินคดี ใครถูกดำเนินคดีต้องได้รับการนิรโทษ

ส่วนวงเสวนา “พรรคการเมือง คนรุ่นใหม่ กับทิศทางการเมืองไทย” จัดที่ ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เมื่อ 2 พ.ค. อรรถวิชช์ คนเดิม ถูกเทียบเชิญ พร้อมกับ สุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.เพื่อไทย และไกลก้อง ไวทยการ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ร่วมเสวนา วงนี้มองเส้นทางการเมืองของประเทศขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ที่กระโดดเข้าสู่สนามการเมืองที่จะมีส่วนรวมกำหนดอนาคตทางการเมือง โดยผ่านระบบไพรมารีโหวต และอย่ายอมให้กลับไปเป็นเหมือนครึ่งศตวรรษที่แล้ว

ดังนั้นหากไล่ตามปฏิทินลงไป จะพบวงเสวนาอีกหลายเวทีที่ชูประเด็นแสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญ ต่ออนาคตการเมืองไทย รวมถึงประเด็นนายกฯคนนอก ล้วนควรมองเป็น “เสียงสะท้อน” มากกว่ามองว่าเป็นพวกยืนตรงข้ามกับคสช. ที่อาจใช้เวทีกล่าววาจาอย่างดุเดือด ย้ำว่าเพราะด้วยการกุมอำนาจในมืออย่างยาวนานที่ทำให้คนเหล่านี้ต้องหันไปใช้บริการพื้นที่สาธารณะมิใช่หรือ เป็นช่องทางการพูดคุย อธิบายและให้ความเห็น สื่อไปยังประชาชนและถึงผู้มีอำนาจโดยตรง ให้มองเป็นการรับฟังอย่างหลากหลายมากขึ้น ที่เชื่อว่ายังดีกว่าคอยฟังรายงานจากทีมงานเพียงอย่างเดียว