เล็งแยก ‘กสพท’ จากทีแคส ลดเวลา 5 รอบเหลือแค่ 2 เดือน นักวิชาการหนุน ลดภาระเด็ก

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นเรื่องระบบทีแคสว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน มีหลายคนอยากให้กลับไปแบบเดิมคือการสอบแอดมิสชั่นส์ หรือสอบเอ็นทรานซ์ แต่ต้องไปเปรียบเทียบระหว่างของเก่าและของใหม่ว่ามีผลดีอย่างไร หากคิดระบบใหม่ออกมา แต่ของเก่ายังไม่พร้อม ก็เกิดปัญหาอีกว่า ปัญหาการรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบทีแคสนั้น เท่าที่ฟัง นายกฯ ชื่นชมว่าเป็นระบบที่มีหลักการดี สามารถแก้ปัญหาให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบหลักสูตร ลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ซึ่งระบบเดิมผู้ปกครองบางรายต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นแสน แต่ระบบทีแคส ค่าใช้จ่ายในการสมัครมากสุดไม่เกิน 6-7 พันบาท และที่สำคัญไม่ให้มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเอง ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ถือเป็นครั้งแรกของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่เปิดคะแนนให้เด็กได้เห็น ข้อผิดพลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนี้ทางทปอ.จะต้องไปปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น ซึ่งตนได้พูดคุยกับ ทปอ. และได้มีข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เบื้องต้นจะต้องแยกกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ออกมาเพราะเห็นแล้วว่า ทำให้เกิดปัญหาการกั๊กที่นั่ง และปรับให้แจ้งคะแนนเฉพาะตัวเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาร้องเรียน ส่วนที่กังวลว่าการแจ้งคะแนนเฉพาะเด็กจะไม่โปร่งใสเป็นธรรมนั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่จริง เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ระบบเอ็นทรานซ์ ไม่เคยมีการแจ้งคะแนนมาก่อน รวมถึงจะต้องกระชับเวลาการรับสมัครแต่ละรอบให้สั้นลง โดยทั้ง 5 รอบไม่ควรเกิน 2 เดือน

“ปัญหาเกิดขึ้นไม่ถึง 10% แต่เป็นเพราะข้อผิดพลาดที่เกิดจากการสื่อสารผ่านโซเชียล ทำให้เรื่องต่าง ๆ กระจายไปอย่างรวดเร็ว ยืนยันว่าทีแคสเป็นระบบที่ดี 100% แก้ปัญหาที่เกิดจากระบบเอ็นทรานซ์ และการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์เดิม ดังนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะกลับไปใช้ระบบเดิม แต่เราต้องปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น “นพ.อุดมกล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวว่า เรื่องทีแคส นายกพูดกลางๆ ไม่บอกว่าใครถูกใครผิด การเปรยลักษณะนี้มีนัยว่าที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ต้อง รีบปรับปรุงแก้ไข ซึ่งตนเห็นด้วยว่าทปอ.ควรปรับปรุงระบบ ข้อดีของทีแคส คือลดค่าใช้จ่ายในการวิ่งรอกสมัครสอบและลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ปัญหาการกั๊กที่ลดลง เป็นต้น แต่กลับกลายเป็นว่า แก้ปัญหาหนึ่งกลับเกิดปัญหาที่ซับซ้อนกว่าขึ้นแทน เกิดคำถามว่าคัดเด็กเพื่ออะไร และทำไมต้องมีการสมัครถึง 5 รอบ ซึ่งจำนวนรอบสมัครมากเกินไป เป็นอันตรายกับตัวเด็กและครอบครัว ทำไมระบบทีแคสถึงทำให้เด็กกดดันระยะเวลายาวนานแบบนี้ จำต้องวางระบบใหม่ มีจำนวนรอบสมัครให้น้อยลงและตอบสนองความต้องการของเด็ก ซึ่งจากสังเกตมา 2-3 ปี การปรับปรุงการสมัครสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษา ยิ่งปรับปรุงมากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มภาระเด็กมากเท่านั้น

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้ข้อคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปด้านการศึกษา เช่น การบ้านของนักเรียนให้ลดลง เรียนผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น ออกข้อสอบปรนัยให้น้อยลง เพิ่มข้อสอบอัตนัย เพื่อให้เด็กวิเคราะได้นั้นว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายกฯ ออกมาพูด มองว่านายกฯ รับรู้ถึงปัญหา อีกทั้งเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ให้สังเกตว่านายกฯ จะสั่งการลักษณะเดิมมา 2-3 ครั้งแล้ว และทางศธ.ทำได้แต่รับนโยบาย แต่ปฏิบัติและจัดการปัญหาไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า ศธ. ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปได้แม้จะเป็นคำสั่งโดยตรงจากนายกฯ ก็ตาม

“พอมีกระแสสังคมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทีแคส หรือสอบเข้าอนุบาล ป.1 และป.3 หรือการบ้านที่ต้องลดลง นายกฯ จะมอบนโยบายให้จัดการ ศธ.ทำได้เพียงรับนโยบายเพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณของสังคมเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ากลไกการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับการเรียนเพื่อสอบ ไม่ใช่เรียนเพื่อพัฒนา คิดดูว่าเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ตั้งแต่ ป.1-6 ชีวิตการเรียนของเด็กเผชิญกับการสอบมากกว่า 50 ครั้ง เด็กไม่ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ชีวิตการเรียนมีแต่การติว การสอบ วนแบบนี้ และคิดว่านายกฯ จะต้องออกมาเตือนอีกแน่นอน อยากให้นายกฯ ไม่ใช่แค่สั่งการแต่ควรติดตามด้วยว่า ศธ. รับนโยบายมาปฏิบัติตามจริงหรือไม่” นายสมพงษ์ กล่าว

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงการสอบคัดเลือกเด็กอนุบาล ป.1 การสอบภาษาอังกฤษป.3 ว่าต้องไปพิจารณาใคร่ครวญว่าทำแล้วเกิดประโยชน์อะไรหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มและเสียประโยชน์ ทำให้ผู้ปกครองเดือดร้อน ก็ยกเลิกไป ให้หาวิธีการอื่นนั้น ว่า สิ่งที่นายกฯ พูดถือว่าถูกต้อง การจัดการศึกษาทั้งระบบจะต้องสอดคล้องกัน ที่ผ่านมาการศึกษาบ้านเรายังมาไม่ถูกทาง การให้เด็กสอบเข้า ป.1 สอบภาษาอังกฤษป.3 หรือให้เด็กกวดวิชามากเกินไป ต้องกลับไปมองถึงหลักการของการจัดการศึกษาจริง ๆ ว่าเป็นอย่างไร เราต้องการอะไร และอนาคตการเรียนการสอนจะต้องไม่เน้นวิชาการ แต่ควรเน้นทักษะและสมรรถนะ เพราะเนื้อหาวิชาการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขณะที่ปัญหาสำคัญ คือ ครูส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหลักคิดที่ถูกต้องของความเป็นครู ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับทัศนคติของครูทั้งประเทศ ว่า อนาคตการเรียนในห้องเรียนต้องลดลง ศธ.ต้องปรับบทบาท ไม่ได้เป็นเจ้าของการจัดการศึกษา แต่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของ ฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ตั้งแต่รัฐบาลที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลโรงเรียน และมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นก็ต้องเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลโรงเรียนด้วย ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องมองภาพใหญ่ให้ได้ก่อนว่าทิศทางการเรียนการสอนของโลกในอนาคต ควรเป็นอย่างไร

ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดศธ. กล่าวถึงกรณีที่นายกฯ ระบุถึงการบ้านของนักเรียนให้ลดลง ให้เรียนผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น ออกข้อสอบปรนัยให้น้อยลง เพิ่มข้อสอบอัตนัยเพื่อให้เด็กวิเคราะห์ ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของตน เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้