อาชญากรรม : ตำรวจล่าสุดขอบฟ้า “จีวรบิน” สกัดเกมลึก ลี้ภัย “เยอรมนี”

ยังเป็นปฏิบัติการตามล่าคนร้ายมาดำเนินคดีอย่างเข้มข้น

สำหรับการติดตามตัวพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ 1 ใน 7 ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีเงินทอนวัด

ที่หลบหนีหมายจับออกจาก กทม. ไปยังหลายจังหวัด

ก่อนใช้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูกศิษย์ลูกหา ช่วยพาผ่านแดนเข้าสู่ประเทศลาว แล้วจึงต่อเครื่องบินไปยังหลายประเทศ

โดยมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายที่ประเทศเยอรมนี เพื่อจะทำเรื่องขอลี้ภัย

แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยก็ยังติดตามอย่างไม่ลดละ พร้อมส่งหมายจับเป็นบุคคลต้องการตัวไปทั่วโลก

จนกระทั่ง ตม.เยอรมนี พบขณะเดินทางเข้าสนามบินแฟรงก์เฟิร์ต จึงอายัดตัวไว้ พร้อมรอให้เจ้าหน้าที่ไทยเดินทางไปทำเรื่องขอรับตัวกลับไปดำเนินคดี

สุดท้ายอดีตพระพรหมเมธียังคงดิ้นยื่นเรื่องลี้ภัยจนได้

จึงเป็นเรื่องที่ทางการไทยต้องต่อสู้ชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นคดีทุจริต ไม่ใช่เรื่องการเมือง

แล้วเฝ้ารอการตัดสินใจของเยอรมนี

ปฏิบัติการล่าพรหมเมธี

หลังปฏิบัติการบุกจับพระเถระในคดีเงินทอนวัดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา สามารถจับกุมดำเนินคดีได้แล้วทั้งหมด 6 รูป

ยังเหลือเพียงรูปเดียวที่ยังหลบหนี ซึ่งก็คือพระพรหมเมธี (จำนงค์ เอี่ยมอินทรา) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งล่าสุดราชกิจจานุเบกษาประกาศเรื่องโปรดเกล้าฯ ถอดสมณศักดิ์เรียบร้อย

ปฏิบัติการไล่ล่าจึงบังเกิดขึ้น เริ่มที่การไล่เรียงช่วงเวลาของอดีตพระพรหมเมธี ตั้งแต่ถูกออกหมายจับ

จนพบว่าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม อดีตพระพรหมเมธีเดินทางไปรับกิจนิมนต์ที่ จ.พิษณุโลก เมื่อได้รับข่าวการบุกจับ ก็เปลี่ยนแผนไม่เดินทางกลับวัด แต่เดินทางไปกบดานอยู่ที่วัดป่าสุคนธรักษ์ อ.เรณูนคร จ.นครพนม เพื่อรอจังหวะติดต่อลูกศิษย์ที่อยู่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศลาว ให้มาพาหลบหนีออกตามช่องทางธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังพบว่าอดีตพระพรหมเมธีรู้ตัวอยู่แล้วว่าตกเป็นเป้าถูกจับกุมคดีเงินทอนวัด ถึงกับเคยพูดผ่านกลุ่มลูกศิษย์ให้ไม่ต้องกังวล เพราะหากเกิดเรื่องจริง ก็พอจะมีช่องทางหลบหนีอยู่แล้ว

หลังได้ข้อมูลที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ลงพื้นที่ จ.นครพนม และข้ามไปยังแขวงคำม่วน เพื่อหาข่าว และติดตามล่าตัวอดีตพระพรหมเมธี

ในที่สุดก็พบรถโตโยต้า อัลฟาร์ด สีบรอนซ์ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน จอดทิ้งไว้ที่กุฏิวัดสุคนธรักษ์ จึงยึดรถยนต์หรูไปตรวจสอบลายนิ้วมือแฝงและดีเอ็นเอ

อย่างไรก็ตาม พระอธิการพรเทพ จักกวโร เจ้าอาวาสวัดป่าสุคนธรักษ์ ให้การว่าไม่เคยรู้จักอดีตพระพรหมเมธีเป็นการส่วนตัว เคยพบกันเพียงครั้งเดียวตอนไปทำบุญที่วัดในแขวงคำม่วน ประเทศลาว ยืนยันว่าวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยหลบหนี

ส่วนรถคันที่จอดอยู่นั้น เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา มีญาติโยมนำรถคันดังกล่าวมาฝากจอดไว้ แต่ก็ไม่ได้สังเกตว่าเป็นรถใคร เพราะเป็นวันพระที่มีคนมาทำบุญจำนวนมาก กระทั่งเย็นวันเดียวกันมีตำรวจมาตรวจสอบที่วัด พอรู้ว่าเป็นรถของพระที่หลบหนีก็ตกใจ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย

เป็นอีกเบาะแสของการหลบหนี

จ่อจับ 5 ลูกศิษย์ช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็คุมตัวสีกา จ. อายุ 50 ปี ลูกศิษย์คนสนิทชาวไทย ที่สามารถควบคุมตัวมาจากด่าน ตม.สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 (นครพนม-คำม่วน) ขณะกำลังเข้าประเทศมาสอบสวน

ซึ่งก็รับสารภาพว่าเป็นผู้ใช้รถตู้โตโยต้า อัลฟาร์ด สีบรอนซ์เงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน พาอดีตพระพรหมเมธีหลบหนี

พร้อมเล่าถึงวินาทีที่ตัดสินใจเผ่นว่า เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ตนนิมนต์อดีตพระพรหมเมธีไปรับกิจนิมนต์ที่ จ.พิษณุโลก ขณะที่กำลังจะเดินทางกลับวัดสัมพันธวงศ์ ก็ได้ข่าวว่าตำรวจเปิดปฏิบัติการไล่ล่าครั้งใหญ่ จึงเปลี่ยนใจให้รถมาส่งที่ จ.นครพนม แล้วเปลี่ยนรถข้ามโขงไปยังประเทศลาว

แต่ระหว่างนั้นเป็นห่วงรถตู้ที่จอดตากแดด จึงวานให้ชาวลาวที่รู้จักกันหาคนไปขับเอาไปจอดเก็บข้างโรงครัววัดป่าสุคนธรักษ์ อ.เรณูนคร เพราะเคยรู้จักกับเจ้าอาวาสวัดนี้มาก่อน

ส่วนสีกา จ. ได้เดินทางไปส่งอดีตพระพรหมเมธีและคนขับรถที่ฝั่งลาว แล้วมีคนมารับช่วงต่อไปเมื่อช่วงสายของวันที่ 26 พฤษภาคม โดยไม่ทราบว่านำไปหลบซ่อนที่ใด ก่อนจะเดินทางกลับประเทศ โดยให้คนขับพาข้ามสะพานไทย-ลาว เมื่อเช้าวันที่ 31 พฤษภาคม แล้วจึงถูกตำรวจคุมตัวไว้สอบสวน ส่วนชาวลาวที่ขับรถมาส่ง เจ้าหน้าที่ปล่อยกลับประเทศไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ จากการสอบสวนพบว่าสีกา จ. เป็นเจ้าแม่ตลาดหุ้นในไทย เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนขนาดใหญ่หลายแห่ง มีสามีเป็นคนไทย ทำสัมปทานเหมืองแร่ทองคำอยู่แขวงสาละวัน ทางภาคใต้ของลาว

ขณะที่ตำรวจเตรียมขออนุมัติหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 คน ฐานพาอดีตพระพรหมเมธีหลบหนี พร้อมประสานกับตำรวจลาวเพื่อช่วยติดตามตัวอดีตพระพรหมเมธีที่กำลังหลบหนี

ตามล่ากันอย่างกระชั้นชิด

เปิดเส้นทางหนีข้ามทวีป

และไม่ใช่แค่หลบหนีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อเช็กกล้องวงจรปิด พบความเคลื่อนไหวของอดีตพระพรหมเมธีที่โรงแรมดงชัย เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน โดยออกเดินทางจากโรงแรมไปเมื่อช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 26 พฤษภาคม พร้อมหลานชายชื่อโค้ด

จากนั้นทั้งคู่นั่งรถโดยสารไปยังประเทศกัมพูชา กบดานอยู่สักพัก จนกระทั่งเวลา 05.15 น. วันที่ 1 มิถุนายน อดีตพระพรหมเมธีและหลานชายขึ้นเครื่องบินสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ QR971 จากกรุงพนมเปญ แวะจอดที่สนามบินโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 06.23 น. จากนั้นไปยังสนามบินโดฮา ประเทศกาตาร์ แล้วต่อเครื่องไปยังท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

แต่สุดท้ายถูก ตม.เยอรมนีจับกุมได้ ตามประกาศตามล่าตัวของประเทศไทย

โดยรายงานข่าวพบว่า อดีตพระพรหมเมธีเดินทางเข้าประเทศเยอรมนีโดยมีเป้าหมายไปยังสำนักงานผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เพื่อขอยื่นเรื่องเป็นผู้ลี้ภัย

ส่วนสาเหตุที่อดีตพระพรหมเมธีต้องหลบหนีและต้องขอสิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัยให้ได้ ไม่เหมือนพระเถระอีก 6 รูปที่ถูกออกหมายจับในคราวเดียวกัน เนื่องจากรู้ตัวว่ากระทำผิดร้ายแรง ไม่ใช่แค่คดีทุจริตเงินทอนวัดเท่านั้น

เพราะมีข้อมูลว่าอดีตพระพรหมเมธีมีมลทินที่มีสีกาใกล้ชิดไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยครั้ง และยังพาออกงานสำคัญๆ รวมถึงงานพิธีด้วย ทำให้เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด จึงตัดสินใจหลบหนีทันที

ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พร้อมทีมงานบินด่วนไปถึงแฟรงก์เฟิร์ต เพื่อขอตัวอดีตพระพรหมเมธีกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย

ยืนยันว่าเป็นคดีทุจริต ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่เข้าข่ายการขอลี้ภัย

ยื่นลี้ภัยเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม อดีตพระพรหมเมธีก็ยื่นขอลี้ภัยเรียบร้อย ผ่าน ตม.เยอรมนี ต่อมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประเทศเยอรมนี ได้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังสำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BAMF)

และได้รับความคุ้มครองในทันที ตามระเบียบดับลิน (Dublin Regulation) เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรป และเยอรมนีต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951

โดยคำร้องขอลี้ภัยของอดีตพระพรหมเมธี หากถูกปฏิเสธ ก็สามารถยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อไปได้อีก โดยสำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BAMF) ใช้ระยะเวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน

ทั้งนี้ การขอลี้ภัยมี 4 ประเภท ดังนี้ 1.ขอลี้ภัยทางการเมือง 2.ขอลี้ภัยในประเภทฐานะผู้ลี้ภัย 3.ขอรับความคุ้มครองเพียงบางส่วน และ 4.การขอคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังประเทศต้นทาง

คาดว่าอดีตพระพรหมเมธีขอยื่นลี้ภัยในประเภทที่ 1 ที่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือ ผู้ยื่นคำร้องแจ้งว่าถูกละเมิดเสรีภาพทางศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ และในประเภทที่ 2 ที่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคือ ผู้ยื่นคำร้องแจ้งว่าถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ

ขณะที่ทางการไทยโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ที่เดินทางไปนั้น ไม่สามารถเข้าพบหรือสอบปากคำอดีตพระพรหมเมธีได้ ต้องรอให้ทางการเยอรมนีพิจารณาว่าจะให้สถานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ ซึ่งไทยได้ขอให้เยอรมนีเร่งพิจารณาให้เสร็จใน 3 วัน พร้อมยินดีส่งเอกสารชี้แจงยืนยันว่าเป็นคดีทุจริตไม่ใช่การเมือง