“โบว์-ณัฏฐา” ยื่นโต้แย้ง หลังผู้ตรวจการณ์ฯไม่ส่งศาลรธน.ตีความคำสั่ง คสช. 3/58 พร้อมเสนอ ม.279 ชี้เป็นภัยต่อปชต.

วันที่ 6 มิถุนายน 2561 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการณ์แผ่นดิน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้เดินทางเพื่อยื่นหนังสือโต้แย้งคำวินิจฉัย กรณีที่ยื่นหนังสือขอให้ผู้ตรวจการฯพิจารณาคำร้องเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ขัดต่อรธน.หรือไม่ ก่อนที่ผู้ตรวจการณ์จะแจ้งผลวินิจฉัยเองโดยไม่ส่งให้ศาลรธน.วินิจฉัย รวมถึงเสนอให้ยื่นคำร้องต่อศาลรธน.วินิจฉัยตีความ ม.279 ในบทเฉพาะกาลของรธน.2560ว่าชอบรธน.หรือไม่ โดยมีนายสงัด ปัถวี รองเลขาธิดารสนง.ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้รับหนังสือ

น.ส.ณัฏฐากล่าวว่า การที่มาในวันนี้สืบเนื่องจาก คำร้องที่ยื่นไว้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ให้ผู้ตรวจการส่งคำร้องไปยังศาลรธน.เพื่อวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ว่าด้วยการรับรองสิทธิเสรีภาพ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินตัดตอนความยุติธรรมด้วยการวินิจฉัยหยาบเสียเอง แสดงให้เห็นว่าคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58 นั้นมีปัญหาในสายตาของสาธารณชน นักกฎหมาย นักวิชาการและสื่อมวลชน สมควรที่จะได้รับการวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขจัดความเคลือบแคลงในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงได้เตรียมกสารยื่นคำร้องเป็นจำนวน 10 หน้า โดยการปรึกษาจากนักกฎหมายชั้นบรมครู 2 เดือนผ่านไป คำตอบที่ได้รับคือคำสั่งที่ 3 /58 โดยหลักการไม่ถือว่าขัดต่อธรรมนูญเพราะมีมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญรับรองไว้ เราจึงมาที่นี่เพื่อร้องเรียนต่อสื่อมวลชนใน 3 ประเด็น

“ประเด็นแรก เรามีปัญหากับการทำงานของสนง.ผู้ตรวจการณ์แผ่นดิน หากว่ากันตามกฎหมาย ผู้ตรวจการณ์ฯมีหน้าที่ตรวจคำร้องเบื้องต้นเพื่อส่งให้ศาลรธน.ตีความ แต่การตัดตกไปก็เข้าใจว่าถ้าเกิดเป็นคำร้องชุ่ยๆ หรือคำร้องที่เขียนแกล้งกัน ท่านมีสิทธิ์ปัดตกได้ แต่รับรองได้ว่าคำร้องดังกล่าวทำมาอย่างดี การปัดตกนี้ทำให้รู้สึกว่าความยุติธรรมถูกตัดตอน ไม่มีโอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย สรุปจึงขอยืนยันให้ผู้ตรวจการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้สังคมตั้งคำถามว่า ไม่อยากให้ศาลรธน.แตะต้องเรื่องนี้หรือไม่เพราะเป็นคำสั่งของ คสช. ที่ค้ำยันอำนาจรัฐบาล คสช.” น.ส.ณัฏฐากล่าว

น.ส.ณัฏฐากล่าวอีกว่่า ประเด็นที่สอง เมื่อเหตุผลเป็นเพราะ มาตรา 279 โดยมาตรา 279 มันขัดต่อรธน.ในตัวของมันเอง จึงอยากชวนทั้งสังคม ตั้งคำถามด้วยสามัญสำนึกตัวเอง อยู่ๆรับรองได้หรือไม่ว่าการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น ชอบด้วยกฎหมาย มันไม่สามารถรับรองได้ในการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น การมี ม.279 จึงเป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับให้อำนาจ คสช. ออกคำสั่งอะไรก็ได้ ที่จะเปลี่ยนการปกครองเป็นเผด็จการต่อไปตลอดไป จึงขอยื่นด้วยว่า ม.279 น่าจะมีปัญหา และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ

“สิ่งที่อยากบอกว่าทำไมถึงต้องลงแรงทั้งที่ อาจถูกตัดตอนอีก ม. 44 ออกคำสั่งมาแล้วกว่า 180 ฉบับ ไอลอว์ได้ตรวจสอบพบว่า อย่างน้อย 35 ฉบับละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพ จึงเป็นเป็นที่มา ว่าทำไมม.279 ต้องเอาลงให้ได้” น.ส.ณัฏฐากล่าว

ด้านนายสงัดกล่าวว่า การมายื่นโต้แย้งคำวินิจฉัยของ น.ส.ณัฏฐา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ และการยื่นครั้งนี้ก็จะนำเสนอในที่ประชุมวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ส่วน ม.279 ถือว่าเป็นใหม่ที่จะต้องดู ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าบทเฉพาะกาล คือมีเฉพาะในช่วงเวลาดังกล่าวแต่ในอนาคตอาจจะถูกยกเลิกออกไป แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องรับรองเพื่อธำรงประเทศไว้ ซึ่งจะนำเรียนศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

“อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินกับศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ รธน.2540 หลักสำคัญของ 2 องค์กรกล่าวคือ องค์กรเป็นของเรา แต่คำวินิจฉัยจะถูกใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง ผู้ตรวจการณ์คือปกป้องประชาชนไม่ให้เดือดร้อน ความล่าช้าไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นตลอด แต่ศาลรัฐธรรมนูญปกป้องรัฐธรรมนูญ ดังนั้น 2 องค์กรที่ถูกออกแบบมา เรื่องใดที่ประชาชนเห็นว่าความไม่ชอบของรัฐธรรมนูญทำให้เดือดร้อนก็ต้องให้ผู้ตรวจการณ์ตรวจสอบเสียก่อน บางคนก็ค้านว่าผู้ตรวจการณ์ส่งไปทำไม นั้นเป็นประเด็นเรื่องของเสรีภาพ ที่นี้ มันมีเหตุผลของผู้ตรวจการณ์แผ่นดิน เราก็ทำงานภายใต้ขอบเขตองค์กรอิสระ ซึ่งองค์กรอิสระมักถูกกล่าวหาว่ารับใช้ใคร โดยส่วนตัว คำตอบที่จะยุบองค์กรอิสระไม่สำคัญ แต่สำคัญว่าเราตอบคนบนโลกใบนี้ได้ไหมว่าเราโปร่งใส ด้วยความเคารพ เราทำงานไม่เป็นทนายให้ผู้ร้อง ไม่ใช่หน่วยงานแก้ตัวหน่วยงานของรัฐว่าถูกต้อง องค์กรอิสระดำรงอยู่บนความเป็นกลาง บอกกล่าวไปอย่างหนึ่งแต่พฤติกรรมจะแสดงว่าเราอยู่กับใคร” นายสงัด กล่าว

นายสงัดยังกล่าวด้วยว่า กรอบความคิดไม่ชอบด้วยกฎหมายมันมีแนวคิดอยู่ เวลาพูดถึงกรอบความคิดว่าชอบหรือไม่ชอบ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ มี 3 กรอบคือ 1. รากฐานกฎหมายให้อำนาจหรือไม่ คำสั่ง คสช.เป็นรัฐฏาธิปัตย์แล้วเทียบเท่ากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เวลาตีความ 2. ขอบเขต มอบให้ใครทำ อย่างเช่น ตอนทำหนังสือถึงผบ.ตร.ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ตรวจการณ์แผ่นดิน เราทำตามกรอบขอบเขต และ 3. กระบวนการจะถูกต้องหรือไม่ ถ้าผิดหลักข้อใด เราส่งศาลรัฐธรรมนูญหมด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นางเลิ้งและปทุมวันในตอนนั้น ยังไม่ขัด 3 หลักที่ว่านี้ แต่ก็เป็นสิทธิที่ผู้ร้องโต้แย้งได้

ทั้งนี้ มาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า “บรรดาประกาศ คําสั่ง และการกระทําของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะ ออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําที่มีผลใช้บังคับ ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คําสั่ง การกระทํา ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คําสั่ง หรือการกระทํานั้น เป็นประกาศ คําสั่ง การกระทํา หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งดังกล่าว ให้กระทําเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคําสั่ง ที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทําโดยคําสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)  พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้ง การกระทําที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทํานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย