อรรถวิชช์ ประเมิน 4ปีคสช. 6งานใหญ่ทำสำเร็จ แต่เรื่องหลักคือปฎิรูปประเทศ สำเร็จยาก

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความ ประเมิน 4 ปี คสช. ตรงไปตรงมา โดยระบุว่า วันที่ 22 พฤษภาคม ครบรอบ 4 ปีเต็มพอดีที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าจะเปรียบเทียบ กับรัฐบาลปกติก็ครบ1 สมัยเต็มพอดี

มีบทวิจารณ์กันเยอะเกี่ยวกับการประเมินผลงาน ว่า 4 ปีที่ผ่านมานี้ คสช. สอบผ่าน หรือ สอบตก แต่บทความนี้ผมเลือกที่จะไม่ตัดสินว่า คสช. เป็นอย่างไร แต่อยากจะเสนอแง่มุมอย่างตรงไปตรงมาให้เห็นทั้งสองด้านระหว่าง “งานที่สำเร็จ” กับ “งานที่ยังไม่จบ” ว่ามีอะไรบ้าง

งานที่สำเร็จ

1) การรักษาความมั่งคง ความสงบเรียบร้อย : ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองช่วง 4 ปีมานี้ มีความสงบเรียบร้อย แม้มีการชุมนุมทางการเมืองอยู่บ้างแต่ก็เป็นการชุมนุมที่ไม่ยืดเยื้อ ส่วนการชุมนุมจากความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งก็ยังสามารถเคลื่อนไหวได้ และสภาพสังคมความขัดแย้งทางการเมืองภายในอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ยังไม่มีเหตุให้เกิดการชุมนุมที่กระทบต่อความมั่นคงอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากที่คณะผู้บริหารคือ คสช. ที่มีอำนาจเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมาย

2) ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของคนไทยทั้งชาติกับการสวรรคตของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” พระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์และมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้มากว่า 70 ปี การรักษาความเรียบร้อยโดย คสช. ในช่วงเปลี่ยนผ่านและระหว่างการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นไปอย่างมั่นคง ราบรื่น สมพระเกียรติ เป็นที่จดจำของคนไทยไปตราบนานเท่านาน

3) รัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติ : เป็นที่รู้กันว่าเมื่อมีการยึดอำนาจรัฐประหารทุกครั้ง จะต้องมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับนี้ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ผ่านการออกเสียงประชามติเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียง 15.5 ล้านเสียง ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้มี “หมวดการปฏิรูปประเทศ” ตามข้อเรียกร้องของประชาชน เพื่อการปฏิรูปประเทศที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และตำรวจจนไปถึงการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายอำนาจ

4) ปลดธงแดง ICAO : หากไทยยังติดธงแดงของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ICAOภายใต้สหประชาชาติ จะส่งผลให้ กรมการบินพลเรือนในประเทศต่างๆ ทยอยมีคำสั่งห้ามเพิ่มเที่ยวบินของเครื่องบินสัญชาติไทย และอาจไปถึงห้ามเครื่องบินไทยเข้าประเทศด้วยซ้ำไป ดังนั้นการปลดธงแดงลงได้ถือเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา หลังจากที่ต้องติดสถานะนี้มากว่า 2 ปี

เป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในฐานะหัวหน้า คสช. อย่างเป็นประโยชน์ ด้วยการใช้อำนาจมาตรา 44 จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน มีคณะกรรมการจากส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคนิค เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ตั้งแต่การปรับโครงสร้างด้านการบินพลเรือนใหม่จัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) การจัดหาบุคลากรและจัดทำกฎหมาย เกี่ยวกับการตรวจสอบและออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศหรือใบรับรองสายการบิน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของICAO

5) การจัดการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย : ถือเป็นการ “เริ่มต้น” การจัดการอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับ “ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย” เป็นความตั้งใจที่ดี และน่าชื่นชมที่ริเริ่มใช้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย โดยนำร่องยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งในคลองให้ขึ้นมาอยู่บนบก ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แก้ปัญหาบุกรุกคูคลองสาธารณะ ทำให้การระบายน้ำในเขตเมืองดีขึ้นด้วย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาว่า โครงการนี้มีเป้าหมาย 50 ชุมชน 7,000 กว่าครัวเรือน คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 30

6) แก้ไขสภาพติดธงเหลืองประมงไทยจากสหภาพยุโรป EU อย่างจริงจัง ประเด็นนี้หากไม่แก้ไข ถูกธงแดงเต็มๆ จะทำให้สินค้าด้านการประมงของไทยถูกห้ามนำเข้าจากสหภาพยุโรป โดยออกกฎหมายยกระดับมาตรฐานการประมงไทย และการจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ แม้งานยังไม่ลุล่วงแต่ก็พยายามทำได้ดี เพราะส่วนนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่ามาตรการกีดกันทางการค้าจาก EU ก็ยังมีมาเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี มีงานที่ไม่มีวันเสร็จ เป็นงานที่หลายคนคาดหวังจากรัฐบาลทหาร และยอมให้ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยสากลในขณะนี้คือ“การปฏิรูปประเทศไทย” ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี ดูเหมือนว่าการปฏิรูปประเทศ ยังวนอยู่ที่เดิม ไม่ว่าจะเป็น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ คสช.ตั้งไว้ช่วงยึดอำนาจใหม่ๆ หรือล่าสุดอย่าง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จนไปถึงการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุดต่างๆ มาถึงตอนนี้ทุกอย่างเป็นแค่แผน ไม่มีอะไรสำเร็จเป็นรูปธรรม อย่างที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย บ่นไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงมีโอกาสน้อยเต็มที ที่จะเป็นตามที่ประชาชนคาดหวังไว้ ว่าการปฏิรูปประเทศจะต้องสำเร็จก่อนเลือกตั้ง

ส่วนกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกือบ 300 ฉบับ ส่วนใหญ่แก้กฎหมายเพื่อเอื้อความสะดวกแก่ราชการ แต่ไม่ได้เอื้อความสะดวกแก่ประชาชน

เหตุที่เป็นเช่นนี้ มันเกิดจากธรรมชาติของ “คณะรัฐประหาร” บนฐานคิดที่ต้องการรวบอำนาจเข้ามาไว้ที่ศูนย์กลาง เพิ่มอำนาจราชการส่วนกลางให้การบริหารงานและจัดการความมั่นคงได้โดยง่าย

ยกตัวอย่างการปฏิรูปเรื่องใหญ่ๆ ที่คาดว่าจะไม่มีทางสำเร็จเพราะโดยสภาพของรัฐประหารคือ การรวมศูนย์อำนาจ เช่น

– “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” งานดูแลประชาชนด้านสาธารณูปโภค โรคระบาดที่หนักขึ้นอย่างมาก เช่น โรคพิษสุนัขบ้า หรือไข้เลือดออกที่แย่ อันสะท้อนถึงการเข้าใจในท้องถิ่นที่ถดถอย ตราบใดที่ราชการส่วนกลาง หรือ ส่วนภูมิภาคยังหวงอำนาจและงบประมาณ โดยไม่มีกฎหมายส่งต่อไปยังราชการส่วนท้องถิ่นอย่าง อบจ. เทศบาล อบต.ที่อยู่กับประชาชนตลอดและเข้าถึงได้ง่ายกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่อยู่ไม่นานแล้วก็ย้ายไป อาการนี้คือประมาณว่า “ทำเรื่องที่ไม่อยากได้ เรื่องอยากได้ไม่ทำ เพราะไม่มีหน้าที่ ไม่มีงบ” ดังนั้นภายใต้รัฐบาลนี้ผมเชื่อว่าการจัดให้มีการควบรวมส่วนภูมิภาคกับท้องถิ่น เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อการกระจายอำนาจ จะไม่เกิดขึ้น

– “การปฏิรูปตำรวจ” แม้จะเขียนล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ก็ต้องเสียเวลาเปล่า เพราะคณะกรรมการชุดแรกก็ยังไม่กล้ารื้อโครงสร้างอะไรใหม่ๆ งานที่ออกมาก็ยังรวมศูนย์อำนาจเช่นเดิม ก็ได้แต่หวังว่าคณะกรรมการชุดใหม่ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน จะมีอะไรใหม่ๆ ออกมา ให้เราได้ตื่นเต้นมากกว่านี้

– เศรษฐกิจฐานราก : ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น มีการผลักดันจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดึงดูดผู้ประกอบให้เข้ามาลงทุนในประเทศให้สิทธิพิเศษต่างๆ นานา แต่ดูเหมือนว่าความรู้สึกของประชาชนไม่ได้รู้สึกกินดีอยู่ดีหรือมีเงินจับจ่ายใช้สอยพอมือ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้รับการแก้ไข รายได้ประชาชาติกว่าร้อยละ 50 เกิดจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอยู่เพียงร้อยละ 0.3 ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศ เศรษฐกิจโตขึ้น แต่ได้ประโยชน์เฉพาะคนรวย โดยรัฐยังขาดการจัดการปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ดีพอ

– การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดียังเกิดยาก วิธีเดิมๆ ยังถูกนำมาใช้ คือ “ดูด” นักการเมืองเดิมๆ เข้าพรรคการเมืองใหม่ที่คาดว่าจะมีการจัดตั้งขึ้นเพื่อต่อสายอำนาจรัฐบาลปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ หากไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย อีกประมาณ 9 เดือน ก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า แต่จนถึงตอนนี้หลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐบาลทำได้สำเร็จก็เป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ภารกิจหลักคือ “การปฏิรูปประเทศ” ที่ประชาชนคาดหวังให้เกิดขึ้นก่อนเลือกตั้ง ดูแล้วคงจะเป็นเรื่องยาก ขนาดมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44 ก็ไม่อาจเปลี่ยนอะไรได้มากอย่างที่คิดกันไว้