‘อ๋อย’ อัด คสช.ล้มเหลวทุกด้าน 4 ปี ไม่สนต้นเหตุขัดแย้ง ไร้ความพยายามสร้างปรองดอง

‘อ๋อย’ อัด 4 ปี รปห.ล้มเหลวทุกด้าน

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง 4 ปีรัฐประหารว่า คสช.อ้างความจำเป็นในการระงับความขัดแย้งวุ่นวายเข้าทำรัฐประหาร ผ่านไป 4 ปี คสช.ก็ยังใช้เรื่องการระงับความขัดแย้งวุ่นวายนี้เป็นข้ออ้างในการอยู่ในอำนาจต่อไปอยู่อีก ทั้งยังพยายามบอกกับสังคมว่า หากไม่มี คสช.เมื่อใดแล้ว ความขัดแย้งวุ่นวายก็จะกลับมาอีก นี่คือความล้มเหลวในการสร้างระบบการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพและเป็นการสร้างเงื่อนไขให้สังคมไทยอยู่ในสภาพขาด คสช.ไม่ได้ ซึ่งก็คือต้องอยู่ในสภาพที่ต้องอยู่ใต้ระบบอำนาจนิยมเรื่อยไป การที่ไม่เกิดความวุ่นวายต้องแลกมากับการจำกัดสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงในการร่วมกำหนดกฎกติกาในการบริหารประเทศ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหรือแม้แต่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน การแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐหรือแม้แต่การเรียกร้องความเป็นธรรม ถูกทำให้กลายเป็นอาชญากรรมไปเสียหมด สิ่งที่อ้างว่า เป็นภารกิจสำคัญของ คสช.นั้นล้มเหลวหมดในทุกด้าน ไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะสร้างความปรองดองในสังคมไทย ไม่มีการศึกษาต้นเหตุความขัดแย้ง ไม่มีการพิจารณาข้อเสนอในอดีต ไม่มีการพูดจาหารืออย่างเท่าเทียมของผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง หรือผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาพื้นฐานของความขัดแย้งในสังคมไทยจึงยังคงอยู่ ซ้ำร้าย คสช.ยังได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ที่เห็นแตกต่าง เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ รวมทั้งสร้างระบบที่พวกเขาจะอยู่ในอำนาจต่อไป โดยประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ สังคมไทยจึงถลำลึกสู่ความขัดแย้งใหม่ที่หนักหนากว่าที่ผ่านมา คือ ความขัดแย้งระหว่าง คสช.และพวกฝ่ายหนึ่งกับผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและประชาชนทั่วไปอีกฝ่ายหนึ่ง

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่าการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งเป็นเพียงข้ออ้างสวยหรูเพื่อนำไปสู่การรัฐประหารและการอยู่ในอำนาจต่อไปไม่สิ้นสุดของ คสช.กับพวก ไม่มีการปฏิรูปใดเกิดขึ้นแม้สักเรื่องเดียว ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปต่างๆ ก็เกิดขึ้นโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใดมาตั้งแต่ต้น แผนเหล่านี้กำลังจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศเสียมากกว่าจะทำให้เกิดการปฏิรูป โดยเฉพาะจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทันโลกทันเหตุการณ์ ที่เลวร้ายกว่านั้น คือ การวางบุคลากรที่เป็นพวกพ้องใกล้ชิดกับผู้นำ คสช.ให้เป็นผู้มีอำนาจควบคุมกลไกสำคัญในการปราบคอร์รัปชั่น ทั้งๆ ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ระบบต่อต้านการคอร์รัปชั่นกลายเป็นระบบที่ปกป้องพวกพ้องและเอื้ออำนวยให้เกิดการคอร์รัปชั่นที่ไม่มีใครทัดทานได้ การรัฐประหารทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงและสิ่งที่รัฐบาล คสช.ทำในช่วง 4 ปีมานี้ ไม่ได้ทำให้ปัญหาลดน้อยลง เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าที่สุดในภูมิภาค ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลื่อนการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า และความไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้แม้มีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม ทำให้นักลงทุนต่างประเทศไม่กล้ามาลงทุนในประเทศไทย

“ปีที่ 4 หลังการรัฐประหาร ผู้นำ คสช.กลับเปิดเผยจุดมุ่งหมายและแผนการของตนเองกับพวกออกมาอย่างล่อนจ้อน เมื่อเชื่อมโยงกับการวางกฎกติกาสูงสุดของบ้านเมืองไว้ก่อนหน้านี้แล้ว การประกาศตัวเป็นนักการเมืองที่มีอดีตเป็นทหาร การดำเนินการต่างๆ ทั้งการออกกฎหมายและคำสั่งที่มุ่งทำให้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมและระบบพรรคการเมืองทั้งระบบอ่อนแอ การสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองเพื่อช่วยเหลือพรรคการเมืองที่สนับสนุนผู้นำ คสช. การใช้งบประมาณหว่านโปรยไปในพื้นที่ที่ต้องการดึงดูดพรรคการเมืองหรือนักการเมืองให้มาสนับสนุนตนเอง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมเลือกปฏิบัติต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง สิ่งเหล่านี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีการปิดบังอำพรางอีกต่อไปแล้วว่าผู้นำ คสช.กำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปอีกยาวนาน 4 ปีมานี้ บ้านเมืองต้องเสียหายไปมาก หากจะต้องเสียหายเพื่อแลกกับอนาคตที่ดีและยั่งยืนก็ยังพอทำเนา แต่เมื่อครบ 4 ปี กลับเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าประเทศไทยเราต้องตกอยู่ภายใต้ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบที่ถูกออกแบบไว้โดยมุ่งหวังให้ผู้ที่มาจากการรัฐประหารยังคงสามารถควบคุมและครอบงำการบริหารประเทศต่อไปอีกยาวนาน ภายใต้แนวทางและทิศทางในรูปของยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปต่างๆ ที่พวกเขากำหนดกันขึ้นเองตามใจชอบ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมหรือแม้แต่การมีสิทธิมีเสียงของประชาชนคนส่วนใหญ่ ผู้ที่มาจากการรัฐประหารจะสามารถสืบทอดอำนาจต่อไปอีกยาวนานได้หรือไม่ ย่อมขึ้นกับการตัดสินของประชาชน ส่วนระบบโครงสร้างที่ถูกกำหนดวางไว้นี้ หากไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างมากพอ ประเทศไทยจะล้าหลังและไม่อาจปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่ประชาชนไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน” นายจาตุรนต์ระบุ