‘สรศักดิ์’ ลั่นไม่เอาแล้วของแพง ขอกลับยุคอนาล็อก พ้ออยากสร้างสภาดี แต่ต้องฝันสลาย

“สรศักดิ์” ลั่น ไม่เอาอีกแล้ว “นาฬิกา-ไมโครโฟน-ทีวี” แพง ตัดพ้ออยากสร้างสภาไร้สาย กันสมาชิกถูกไฟชอร์ตตาย แต่ฝันต้องสลาย ระบุงบไอทีล่าช้าเรื่องใหญ่

วันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่รัฐสภา นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร พร้อมคณะ ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมเกี่ยวกับการปรับลดงบประมาณระบบไอทีของอาคารรัฐสภาใหม่ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทบทวนปรับลดงบประมาณเพิ่มเติม โดยนายสรศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่ดื้อกับ ครม. พร้อมที่จะทบทวนให้อยู่ในความเหมาะสม และจะรับมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อไป ซึ่งบริษัทชิโน-ไทยยืนยันว่าการย้ายรัฐสภาอู่ทองใน จะสามารถทำได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยห้องประชุม ส.ว.จะเสร็จภายในปี 2561 นี้ และจะเร่งดำเนินการในส่วนของห้องประชุม ส.ส.ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2562 พร้อมกับห้องทำงานของข้าราชการ ห้องทำงานสมาชิก และห้องประชุมกรรมาธิการ ก็จะเสร็จเพื่อรองรับ ส.ส.ที่จะมาจากการเลือกตั้งตามโรดแมปเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้ทัน

“เมื่อ ครม.ทักท้วงมา วันนี้ผมไม่เอาแล้ว ทั้งไมโครโฟน ทีวี นาฬิกาที่มีราคาแพง แต่จะปรับลดทบทวนทุกเรื่องเพื่อลดงบประมาณ คิดแล้วว่าเราคงไปไม่ถึงระบบ 4 K คงอยู่ได้แค่ดิจิทัล หรือยุคอนาล็อก เมื่อก่อนเราคิดว่าห้องประชุมในอนาคตจะเป็นห้องประชุมไร้สาย เพราะเผื่อเวลาฝนตกแล้วไฟชอร์ตสมาชิกตายจะทำอย่างไร ดังนั้น เราถึงได้ออกแบบคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อให้รัฐสภาแห่งใหม่ดี เรื่องไอซีที ถ้าลดได้ก็ต้องลด แต่ระบบสื่อสารในอาคารรัฐสภาจะต้องไม่กระทบหรือล้มเหลว” นายสรศักดิ์กล่าว

นายสรศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า บริษัทชิโน-ไทยทำหนังสือขอสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายในการทำงานปิดฝ้าเพดานและผนังควบคู่ไปกับระบบไอที ซึ่งถ้างบไอทียังไม่มาและบริษัทจะต้องปิดฝ้าแล้ว เขาจะต้องเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งตนหนักใจ แต่คิดว่าตอนนี้จะต้องคุยกับบริษัทดังกล่าว ขอให้เขาเห็นแก่ประโยชน์ราชการ โดยขอให้ผู้รับเหมาอย่าเพิ่งปิดฝ้าเพดาน ทั้งนี้ ตนคิดว่าทุกปัญหามีทางออก

เมื่อถามถึงแผนการจัดการหากงบไอทีไม่มา แต่จะต้องมีการปิดฝ้าเพดานและผนังจะทำอย่างไร นายสรศักดิ์ชี้แจงว่า ตนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ก็เพราะบริษัทชิโน-ไทยทำหนังสือมาถึงจะเรียกร้องค่าเสียหาย หากงบไอทีมาทีหลังก็จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะต้องทุบตึกที่บริษัทชิโน-ไทยสร้างไว้

“นั่นหมายความว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น และผมก็ไม่รู้ว่าจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน สร้างตึกใหม่เสร็จก็เหมือนมาปรับปรุงตึกใหม่อีก หัวหน้าส่วนตายอย่างเดียวเลย ทุกกระทรวง ทบวง กรม สังคม ยำเละ ตอนนี้ก็เชื่อว่าน่าจะมีทางออก แต่ก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร” เลขาธิการฯ กล่าว

ขณะที่นายโชติจุฑา สอนอาจ ที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวว่า หากการอนุมัติงบในส่วนของไอทีล่าช้า จะทำให้เสียเวลาไป 3-4 เดือน จากเดิมที่เริ่มติดตั้งระบบไอทีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเป็นเช่นนี้ กว่าจะเริ่มติดตั้งได้อาจจะประมาณเดือนสิงหาคม หรือเดือนกันยายน ไม่มั่นใจว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จตามกำหนดหรือไม่

ด้านนายสุชาติ โรจน์ทองคำ รองเลขาธิการสภา ผู้ควบคุมดูแลและรับผิดชอบการปฏิบัติการในสำนักรักษาความปลอดภัยและโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการปรับลดงบประมาณนั้น ตนได้มอบหมายให้บริษัทเมอร์ลิน โซลูชั่น ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและศึกษาระบบไอทีให้กลับไปทบทวนและศึกษาใหม่อีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งจะใช้เอกสารที่เสนอต่อ ครม. ซึ่งมีการเปรียบเทียบราคากลางไว้เกือบร้อยละ 90 เป็นมาตรฐานในการปรับลดด้วย โดยจะยึดหลักระบบจะต้องตอบสนองการทำงานของสมาชิกรัฐสภา

นายสุชาติกล่าวว่า การทำงานของสภาแต่ละอย่างมีเรื่องของคุณภาพงานประกอบด้วย เราซื้อของในราคาที่ถูก แต่คุณภาพไม่ได้ ก็มีปัญหาตามมา ของที่ใช้ทั้งหมดนอกเหนือจากการใช้ปกติ การประชุมมีทั้งวันทั้งคืนแต่เราใช้ของคุณภาพที่ต่ำก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ทั้งนี้ ถ้าทบทวนนอกเหนือจากที่มีข้อท้วงติงมาก็จะนำเสนอเลขาธิการฯ และเข้าคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะสรุปได้ภายในสัปดาห์หน้า

เมื่อถามว่า นาฬิการาคา 7 หมื่นกว่าบาท เหมือนกับนาฬิกาสมัยนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย อดีตเลขาธิการสภาจัดซื้อหรือไม่ นายสุชาติกล่าวยอมรับว่ามีลักษณะคล้ายกัน แต่ในตัวเรือนเราไม่รู้ว่าเทคโนโลยีมีมากน้อยแค่ไหน ที่ทราบคือตัวเรือนไม่แพง แต่ไปแพงในเรื่องของระบบ ยิ่งมากชั้น สายที่ต่อไปแต่ละชั้นก็จะแพงขึ้น แต่ในยุคนายสุวิจักขณ์ที่ได้ตั้งกรรมการสอบไม่ใช่เพราะนาฬิกามีราคาแพง แต่ที่ยกเลิกเพราะบริษัทที่นำมาเสนอขายคุณสมบัติผิด ซึ่งเรื่องนาฬิกา ตนบอกกับเลขาธิการสภาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องมีนาฬิกาทั้งสภา จำนวนเงินล้านกว่าบาท แม้จะเป็นเงินไม่มากเท่าไรก็ต้องพิจารณา

“มีการพูดถึงเรื่องระยะเวลาในการช่วยเหลือเวลาเกิดอุบัติเหตุกะทันหันกับสมาชิกในการเรียกรถพยาบาลว่าต้องใช้เวลาเท่าไร ซึ่งเวลาต้องตรงกัน และหากไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีความจำเป็นก็จะคงไว้ แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ต้องตัดไป แต่ระบบนี้ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าที่ศาลฎีกาที่ก่อสร้างใหม่ และอีกหลายส่วนราชการก็มีการใช้นาฬิการะบบนี้อยู่” นายสุชาติกล่าว

ด้านนายพรเทพ ฤทัยเจริญลาภ ผู้จัดการโครงการออกแบบระบบไอซีที บริษัท เมอร์ลิน โซลูชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า เราในฐานะผู้ที่จัดหาอุปกรณ์ ทั้งชุดไมค์ นาฬิกา ทีวี ได้ดำเนินการตามที่สภาร้องขอ เพื่อตอบสนองภารกิจของสภาในอนาคต ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ เราเลือกใช้แบรนด์ยุโรป ซึ่งมีคุณภาพ ทนทาน สามารถรองรับเทคโนโลยีที่จะพัฒนาในอนาคตได้ หากจะมีการปรับลดงบประมาณ ก็ต้องมีการปรับลดสเปกลง ซึ่งเราได้ทำเป็นตุ๊กตาไว้แล้ว เพื่อเตรียมที่จะเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณา แน่นอนว่าหากมีการปรับลดมีมากกว่าร้อยละ 10 แต่การจะปรับลดงบประมาณจริงๆ คงไม่ได้ทำเป็นเปอร์เซ็นต์สักเท่าไร แต่เราเป็นโมดูล ซึ่งหากจะลด ก็ต้องตัดโมดูลนั้นๆ ออกไป ก็จะทำให้ราคาลดลงได้ แน่นอนว่าเราไม่ได้เตรียมตุ๊กตาเพียงตัวเดียว แต่เราเตรียมไว้หลายๆ แบบ เพื่อให้สำนักเลขาฯ เป็นผู้พิจารณาว่าต้องการปรับลดลงมาแค่ไหน