แฟ้มคดี : บทสรุป “บ้านบนดอย” “บิ๊กตู่” สั่งห้ามใครใช้ พร้อมเร่งปลูกป่าฟื้นฟู ตั้ง กก.พิจารณาปมรื้อ

มาถึงบทสรุปจนได้ สำหรับปัญหาบ้านพักข้าราชการตุลาการ เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคม ทวงถามถึงความเหมาะสม ทั้งเรื่องสถานที่ก่อสร้าง และรูปแบบที่ใหญ่โตหรูหรา เกินมาตรฐานบ้านพักข้าราชการทั่วไป

จนกลายมาเป็นการจัดตั้งเครือข่ายทวงคืนดอยสุเทพ ปลุกพลังผูกริบบิ้นเขียวเป็นสัญลักษณ์

แม้จะมีความพยายามที่จะโยงเป็นเรื่องทางการเมือง

แต่ก่อนที่เรื่องราวจะลุกลามบานปลาย รัฐบาลก็เร่งแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที

ด้วยการส่งรัฐมนตรีลงพื้นที่รับฟังปัญหา และหาแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจ

ซึ่งจบลงด้วยคำมั่นสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.

ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อใจ เมื่อไม่ให้ใครอยู่ ก็ไม่มีใครอยู่ได้ พร้อมให้ปลูกป่าทดแทน

ส่วนจะทุบทิ้งหรือไม่นั้น มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดที่จะตั้งขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบ

ถือเป็นอีก 1 ตัวอย่าง สำหรับการดำเนินโครงการของหน่วยงานราชการที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคนในพื้นที่

เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ

“บิ๊กตู่” สั่งเลิกบ้านบนดอย

หลังจากเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ที่ใช้พื้นที่ราชพัสดุ เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ และใช้งบประมาณร่วมพันล้านบาท

โดยภาคประชาชนเห็นว่าไม่มีความเหมาะสมเป็นเพราะการรุกล้ำพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เชิงดอยสุเทพ ขณะที่ทางสำนักงานศาลยุติธรรมยืนยันว่าดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมาย

มีขั้นตอนอนุมัติเป็นขั้นตอนชัดเจนตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พร้อมยืนยันว่าศาลสามารถอยู่รวมกับสิ่งแวดล้อมได้

แต่เมื่อเกิดความไม่เห็นด้วย ฝ่ายศาลก็ขอให้ส่งเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นผู้ตัดสิน

และความชัดเจนก็เกิดขึ้น หลังการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ที่ประชุม ครม. ได้ข้อสรุปให้ปลูกป่าโดยมีแผนงานชัดเจน โดยให้กระทรวงทรัพย์ฯ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ทหาร กอ.รมน. รับผิดชอบให้ทันฤดูฝน โดยให้หาต้นไม้โตเร็วและกลมกลืนกับภูมิประเทศ

“มีคำสั่งไปว่าไม่ให้อยู่แน่นอน ให้กรรมการไปหาพื้นที่ใหม่ เป็นสิทธิของข้าราชการที่ต้องมีบ้านพักอาศัยตามกฎหมาย รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลสวัสดิการ อย่าไปมองว่าชาวบ้านไม่มี แล้วข้าราชการต้องมี ก็เขาเป็นข้าราชการ”

ส่วนพื้นที่ใหม่ต้องไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อสร้างตามกรอบกติกาที่กำหนด ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกวิธี ตามหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์

“ให้ไว้ใจผม ผมไม่ให้ใครอยู่ ก็ไม่มีใครอยู่ ส่วนรื้อหรือไม่รื้อ ให้กรรมการไปว่ากันมา ถ้ารื้อต้องหาผู้รับผิดชอบมาให้ได้ เพราะเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน มันอาจจะบานปลายไปสู่การตรวจสอบย้อนหลังอีกเยอะ”

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ หารือร่วมกับเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ก่อนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า จะไม่มีผู้เข้าไปในอาศัยในพื้นที่ โดยให้ธนารักษ์ เชียงใหม่ ไปรังวัดพื้นที่ยึดเขตแนวป่าดั้งเดิมที่ครอบคลุมบ้านพัก 45 หลัง อาคารที่พัก 9 หลัง เพื่อฟื้นฟูต่อไป

แต่ให้รอการก่อสร้างแล้วเสร็จ รับมอบจากผู้รับเหมา ศาลจะส่งพื้นที่คืนให้ธนารักษ์ แล้วธนารักษ์จะส่งมอบพื้นที่ต่อให้อุทยานแห่งชาติ หรือป่าไม้ดูแลฟื้นฟูให้กลับมีสภาพพื้นที่ป่าดังเดิม และรัฐบาลจะรับภาระหาพื้นที่ใหม่ และงบประมาณในการสร้างบ้านพักใหม่ให้กับศาลอุทธรณ์ภาค 5

จบปัญหา “บ้านบนดอย” เสียที

ฮือค้าน-ขออยู่ก่อน 10 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลต้องเผชิญกับกระแสคัดค้านที่ดูจะเข้มข้นขึ้น เมื่อนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม รวมทั้งยังเป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ ด้านหน้าและด้านข้างของอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 เนื่องในวันสถาปนาศาลยุติธรรมครบรอบ 136 ปี

โดยระบุตอนหนึ่งว่า “ความยากลำบากหากรื้อทุบแล้วต้องหาสถานที่กันใหม่ จะทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคอย่างแน่นอน จึงอยากเสนอว่าอย่าเพิ่งไปรื้อ ให้ศาลอยู่ก่อน ให้ศาลปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทั้งปวง แล้วอีก 10 ปีมาดูกันว่าศาลสามารถปรับปรุงให้มีสภาพป่าได้หรือไม่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการไปรื้อถอน”

พื้นที่ที่ก่อสร้างมีเพียง 89 ไร่เท่านั้น เล็กน้อยมาก บริเวณบ้านพักก็เหลือเพียง 40 กว่าไร่ น้อยมาก เราเอาเวลาไปแก้ไขปัญหาอื่นไม่ดีกว่าหรือ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ต้องรื้ออย่างเดียว เราทำสิ่งที่มีอยู่แล้วปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ไหม ขอเวลาสัก 10 ปีแล้วค่อยว่ากัน หาก 10 ปีแล้วบริเวณแถบนี้ยังเป็นทะเลทรายก็ค่อยมาดูกันอีกที

ผมรักเชียงใหม่ไม่น้อยกว่าชาวเชียงใหม่ รักดอยสุเทพไม่น้อยไปกว่าเลย เรารักษาป่าเหมือนกัน รักป่าดอยสุเทพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

นอกจากนี้ยังระบุว่า ในส่วนของกฎหมายที่ถูกอ้างถึงต้องดูให้รอบคอบว่าใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะทรัพย์สินของแผ่นดิน การจะไปรื้อถอนทำลายนั้นมีความผิด ไม่สามารถทำได้ ต้องออกเป็น พ.ร.บ. และเสี่ยงภัยต่อการรับผิดชอบ จึงไม่ง่ายเลย

ที่ผ่านมาไม่มีภาคประชาชนคนใดมาพูดคุยก่อนการก่อสร้าง แต่ทางเครือข่ายบอกว่าได้ต่อต้านตั้งแต่ช่วงแรก หลังจากนี้ยินดีที่จะมาทำความเข้าใจ แต่ขออนุญาตให้มาที่ศาลดีกว่า

สิ่งที่อยากจะเรียนคือ อีกไม่นานจะต้องมีคดีเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีการฟ้องกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้วใครจะพิจารณาหากผู้พิพากษาไม่มีที่อยู่ ท่านอาจจะต้องเดินทางไปฟ้องกันที่กรุงเทพฯ ทั้งภาคเลย เป็นเรื่องใหญ่

ท่านไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิพากษา ในขณะที่คดีเลือกตั้งต้องใช้ความรวดเร็ว เพราะท่านต้องเดินทางมาไกลในการจะพิจารณาคดีอย่างไร น่าเป็นห่วง ที่อยากให้รื้อถอนไปแล้วให้ไปหาที่ใหม่ พื้นที่ไกลจากเมืองตั้ง 10 กิโลเมตร จะให้ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่เดินทางอย่างไร ท่านต้องพิจารณาตรงนี้

ขณะที่นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงว่า การขออยู่ต่อ 10 ปีแล้วปลูกป่าทดแทนสภาพเดิมนั้นเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคล

พร้อมชี้แจงกระแสข่าวว่าผู้พิพากษาเตรียมฟ้องร้องกลับคนที่โพสต์ข้อความโจมตีว่าไม่เป็นความจริง

ศาลไม่เข้าไปเป็นผู้พิพาทกับประชาชน

ลดกระแสต่อต้านได้อย่างดี

โยง “ทักษิณ” อยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความพยายามอธิบายกระแสการต่อต้านคัดค้านบ้านบนดอยว่ามาจากปมการเมือง โดยนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า มิถุนายน-กรกฎาคมปีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้องเป็นจำเลยซึ่งคดีค้างพิจารณาค้างอยู่ 4 คดี

ประกอบด้วยคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ การปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กรณีแปลงสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และคดีหวยบนดิน

กรณีที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มออกมาตำหนิ โจมตี ด่าผู้พิพากษาศาลยุติธรรมด้วยถ้อยคำที่หยาบคายอย่างรุนแรงในขณะนี้ โดยยกเอาเรื่องที่สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักตุลาการที่เชียงใหม่ มาเป็นเหตุอ้าง ทั้งๆ ที่ผู้พิพากษาไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการก่อสร้างของสำนักงานศาลยุติธรรมเลย

การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกเอาคดีดังที่กล่าวข้างต้นขึ้นมาพิจารณา นายทักษิณและบริวารทั้งหลายพอจะคาดหมายได้ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะบางคดีที่ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยบางคนไปแล้ว

จึงเชื่อได้ว่านี่คือสาเหตุอันแท้จริงที่เป็นเหตุให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมโดยรวมถูกด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคายอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้เพื่อต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของศาลยุติธรรมของไทยที่นายทักษิณและบริวารได้กระทำมาตั้งแต่นายทักษิณถูกพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีที่ดินที่ถนนรัชดาภิเษก และพิพากษาให้ยึดเงินของนายทักษิณจำนวน 46,000 ล้านบาทเศษเป็นของแผ่นดิน และได้กระทำกันตลอดมา แม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

แต่ครั้งนี้ได้ลากเอาบุคคลที่ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชนที่เป็นบริวารของนายทักษิณและสื่อมวลชนที่ซื่อบริสุทธิ์ต้องการขายข่าวเพื่อจะได้มีผู้ติดตามมากขึ้นเท่านั้น เข้ามาร่วมขบวนการได้ด้วย จึงถือได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด

จึงเป็นการแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นี่คือขบวนการเมืองที่ต้องการทำลายล้างศาลยุติธรรมและรัฐบาลชุดนี้ไปพร้อมกัน ทั้งจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ตลอดไป

ขณะที่กลุ่มคัดค้านก็ยืนยันไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

เป็นเรื่องของสังคม ที่จะใช้วิจารณญาณ