นักวิชาการ มธ.ชี้ สึนามิมลายู-ดายัก ช่วย ‘มหาเธร์’ ชนะเลือกตั้งมาเลเซีย  

การเมืองมาเลเซียเป็นที่น่าจับตามองอีกครั้งหนึ่งหลังการได้รับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน ‘ปากาตัน ฮาราปัน’ (Pakatan Harapan – PH) หรือ ‘แนวร่วมแห่งความหวัง’ ที่นำโดย นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 92 ปี เป็นชัยชนะที่ยุติการปกครองประเทศของแนวร่วมรัฐบาล ‘บีเอ็น’ ที่มีมากว่า 6 ทศวรรษ

วันที่ 10 พฤษภาคม 2561 อาจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้คำตอบว่า  การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ของประเทศมาเลเซียนับเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเนื่องจากอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศที่มีการปกครองภายใต้รัฐบาลเดียวมากว่า 63 ปี เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่คะแนนเสียงของรัฐบาลตกลงถึงจุดต่ำสุดด้วยปัญหาการทุจริตและปัญหาค่าครองชีพ นอกจากนี้คู่แข่งของพรรคร่วมรัฐบาลหรือ BARISAN NASIONAL (BN) คือ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค นายแพทย์ มาฮาธีร์ บินมูฮำหมัด ผู้ซึ่งเคยปกครองมาเลเซียมากว่า 22 ปี จนได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งความทันสมัยและเปรียบเสมือนครูของนายนายิบ ราซัก เอง การเลือกตั้งครั้งนี้นอกเหนือจากเป็นการแข่นขันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลแล้วยังเป็นการขับเขี้ยวกันระหว่างครูกับศิษยจนถูกเรียกว่ามารดาแห่งการเลือกตั้ง (Mother of Election)

“จุดแตกหักของนายแพทย์ มาฮาธีร์ บินมูฮำหมัด กับนายนายิบ ราซัก คือการปลดบุตรชายหัวแก้ว    หัวแหวนของแพทย์ มาฮาธีร์ชื่อมุคลิสออกจากตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐเคดาห์หลังจากที่เข้าร่วมกับอดีต      รองนายกรัฐมนตรี นายมุห์ยิดดีน ยัสซีน ออกมาโจมตีปัญหาการทุจริตและการบริหารงานของนายนายิบ ซึ่งปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวทำให้มีสมาชิกพรรคอัมโนระดับสูงจำนวนหนึ่งที่ออกมาโจมตีถูกขับออกจากพรรค กลุ่มคนเหล่านี้จึงย้ายไปอยู่กับมาฮาธีร์และตั้งกลุ่มทางการเมืองขึ้นด้วยการรวมตัวกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อต่อสู้กับนายนายิบ ในนาม PAKATAN HARAPAN” อ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

อ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 นายนายิบ ราชักประกาศยุบสภาแล้วกำหนดวันเลือกตั้งใหม่คือวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ซึ่งการประกาศยุบสภาดังกล่าวเป็นการชิงยุบสภาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากนั้นรัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของนายนายิบ ประกาศใช้มาตรการต่างๆ ทั้งการแบ่งเขต การเลือกตั้งใหม่เพื่อหวังจะลดฐานคะแนนของฝ่ายค้นในเขตนั้นๆลง อีกทั้งมีการกำหนดเวลาการหาเสียงที่ผู้จะปราศรัยนอกพื้นที่ต้องแจ้งก่อน 10 วัน นอกจากนี้การเลือกตั้งที่จัดขึ้นวันพุธก็เป็นการสร้างความยากลำบากในการไปลงคะแนนเสียงของคนในวัยทำงานซึ่งพวกเขาเหล่านั้นเป็นกลุ่มของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงสูงที่สุด และส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล การสกัดกั้นด้านต่างๆจากฝ่ายรัฐมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องจากวันแรกจนถึงวันสุดท้ายจนทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่มีโน้มเอียงไปทางฝ่ายรัฐบาลว่าจะสามารถรักษาอำนาจต่อไปได้ด้วย   กลยุทธ์และอำนาจต่างๆที่รัฐมี

อย่างไรก็ตาม อ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า เมื่อการนับคะแนนเสร็จสิ้นกลับพบว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถเอาชนะพรรคร่วมรัฐบาลไปได้อย่างเหนือความขาดหมายด้วยจำนวนเก้าอี้สมาชิกสภาผูแทนราษฎร 104 ต่อ79 ที่นั่งทำให้พรรคฝ่ายค้านมีสิทธ์จัดตั้งรัฐบาล และนับเป็นการโค้นอำนาจสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่   หลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลครองประเทศมากว่า 63 ปี ซึ่งสาเหตุของการพ่ายแพ้ในครั้งนี้มาจากสถานการณ์ที่เรียกว่า สึนามิทางการเมืองที่เกิดขึ้นสองลูกด้วยกันคือ สึนามิมลายู และสึนามิดายัก ชาวมลายูที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศและชาวดายักที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ในรัฐซาราวักซึ่งแต่เดิมเคยให้การสนับสนุนรัฐบาลเสมอมาได้เปลี่ยนใจมาเลือกพรรคฝ่ายค้าน

“สึนามิการเมืองครั้งนี้ไม่อยู่ในการคาดการณ์ของทางฝ่ายรัฐบาลเพราะรัฐบาลเองมั่นใจว่าสามารถรักษาฐานเสียงของตนเองไว้ได้ เนื่องจากการรวมตัวครั้งนี้เป็นการรวมตัวบนพื้นฐานของการต้องการโค่นล้มนายนายิบ ราซัก นโยบายต่างๆที่นำเสนอในขณะนี้จึงเป็นนโยบายเฉพาะกิจที่เน้นการยกเลิกสิ่งที่นายนายิบได้ทำไว้ จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าหลังจากที่นายแพทย์ มาฮาธีร์ บินมูฮำหมัดได้เข้าสาบานตนและตั้งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว” อ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว