ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
มะละกอ เป็นพืชที่อยู่ในสกุล Carica และทั่วทั้งโลกนี้มีเพียง 3 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ Carica aprica V.M.Badillo มีถิ่นกำเนิดในเปรู Carica augusti Harms มีถิ่นกำเนิดในเปรู และ Carica papaya L. (มะละกอ) มีถิ่นกำเนิดในกลุ่มประเทศแถบอเมริกากลาง
จากฐานข้อมูลของพรรณไม้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Plant Resources of South East Asia : PROSEA) กล่าวว่า คนสเปนได้นำมะละกอมาปลูกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงศตวรรษที่ 16 ในยุคล่าอาณานิคม
ข้อมูลจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภาบันทึกไว้ว่า
“มะละกอเป็นผลไม้เขตร้อนชนิดหนึ่งของทวีปอเมริกา เข้าใจว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในเม็กซิโกตอนใต้และคอสตาริกา ต่อมามีผู้นำเมล็ดมะละกอจากชายฝั่งทะเลเหนือปานามาไปยังดาเรียน และถูกนำต่อไปยังหมู่เกาะต่างๆ ในหมู่เกาะอินเดียตะวันตก จากนั้นมีชาวสเปนนำเอาเมล็ดมะละกอเข้าไปปลูกในเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และแพร่ต่อไปยังประเทศอินเดีย แต่ไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่ามะละกอเข้ามาในประเทศไทยเมื่อใด”
แต่มีบันทึกว่าในปี พ.ศ.2314 ช่วงกรุงธนบุรีเป็นราชธานี “นายลินโซเตน” นักท่องเที่ยวชาวดัตช์ เขียนรายงานไว้ว่า “คนโปรตุเกสได้นำมะละกอมาปลูกที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย จากนั้นนำไปปลูกที่อินเดีย ส่วนอีกทางหนึ่งได้ขยายไปปลูกที่อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย”
มีผู้รู้ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวไว้ว่า มะละกอเป็นพืชที่ฝรั่งเอาเข้ามาจากมะละกา แล้วนำเข้ามาปลูกทางภาคใต้ของไทย ไทยจึงเรียกพืชนี้ว่า มะละกอ เพราะเอามาจากเมืองมะละกา โดยสันนิษฐานว่าเข้ามาในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
แต่จากภาพปูนปั้นนูนต่ำที่วิหารวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งสร้างมาในสมัยกรุงธนบุรี (ตามประวัติกล่าวว่าวัดนี้สร้างในปี พ.ศ.2312) พบว่ามีภาพต้นมะละกอแล้ว
แสดงว่ามะละกอน่าจะเข้ามาในช่วงสมัยกรุงธนบุรี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามะละกอจะไม่ใช่พืชของไทย แต่คนไทยมีภูมิปัญญานำมาใช้เป็นอาหารและยาสมุนไพรได้อย่างอย่างครบถ้วน
โดยเฉพาะอาหารการกินนำมาบริโภคในรูปแบบอาหารหลากหลาย เช่น ผลสุกกินเป็นผลไม้ ผลดิบนำมาผัดไข่ แกงส้ม
และเมนูยอดฮิตมีชื่อเสียงมากที่สุด คือ ส้มตำ อาหารยอดนิยมของคนไทยทั้งประเทศและไปไกลถึงต่างแดนด้วย
มะละกอ เป็นพืชยืนต้นเนื้ออ่อน ลำต้นตั้งตรง สูง 3-4 เมตร ใบเดี่ยว มีขนาดใหญ่ขอบใบหยักเว้าลึก ก้านใบกลมยาว กลวง ยาวประมาณ 1 เมตร
ใบ ดอก และผล รวมอยู่เฉพาะส่วนบนยอดสุดของลำต้น
ดอกมีสีขาวครีมแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ ดอกตัวผู้ ดอกตัวเมีย และดอกกะเทย
ผลมีหลายขนาดและรูปทรงตั้งแต่กลม รี และยาว ขนาดของผลมีตั้งแต่ไม่ถึง 100 กรัมไปจนถึงหลายกิโลกรัม
เปลือกผลดิบมีสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงแสดเมื่อสุก
เนื้อในผลเมื่อดิบมีสีขาว เมื่อสุกมีสีเหลืองถึงแสดแดง เมล็ดเมื่อยังอ่อนมีสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่เต็มที่
ทุกส่วนของลำต้นมีน้ำยางสีขาว (Latex) โดยเฉพาะผลดิบมียางมากเป็นพิเศษ
ในยางมีเอนไซม์ปาเปอีน ถ้ากรีดผลมะละกอดิบมียางออกมา ปล่อยให้แห้ง นำยางมะละกอแห้งมาสกัดเอนไซม์ปาเปอีน และเอนไซม์อื่นๆ อีกบางชนิด ยางมะละกอนี้คนไทยรู้จักนำมาใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน โดยนำมาใช้หมักเนื้อให้อ่อนนุ่ม ใส่ในต้มแกงให้เนื้อเปื่อยยุ่ย เป็นต้น
มะละกอทนความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร แต่ไม่ทนน้ำท่วมและความชื้นแฉะ
ประโยชน์มะละกอด้านยา นำมาใช้ได้หลายรูปแบบ จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน เมื่อ 40-50 ปีมาแล้ว คุณแม่แนะนำถ่ายทอดความรู้ว่า ถ้าเป็นหวัดให้เอาใบมะละกอแก่ทั้งก้านทั้งใบมามัดต้ม แล้วใช้ไอรมแก้อาการหวัด ลดน้ำมูกไหลก็จะหายไปสิ้น ซึ่งก็ได้ใช้กับตัวเองและลูกๆ มาตลอด
นอกจากนี้ ในเอกสารหลายแหล่งบันทึกการใช้ประโยชน์ทางยาของมะละกอว่า
ยาง ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ถ่ายพยาธิไส้เดือน กัดหูด ใช้ลบรอยฝ้าบนใบหน้า
ราก ใช้ต้มกินขับปัสสาวะ
เมล็ดแก่ ใช้ถ่ายพยาธิ แก้กระหายน้ำ
ใบ ใช้บำรุงหัวใจ
ผลดิบ ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับปัสสาวะ
ผลสุก ใช้บำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ แก้กระเพาะอาหารอักเสบ ช่วยย่อยอาหาร เป็นยาระบายอ่อนๆ
มะละกอที่พบในประเทศไทยมี 2 รูปแบบ เรียกกันว่า มะละกอตัวเมียและมะละกอตัวผู้
มะละกอตัวเมีย คือมะละกอที่ให้ลูกตามปกติทั่วไป
ส่วน มะละกอตัวผู้ คือมะละกอที่ช่อดอกมีก้านยาว ให้ผลขนาดเล็ก คนทางภาคเหนือ ภาคกลางหรือภาคใต้ ถ้าเห็นมะละกอตัวผู้มักจะฟันทิ้ง
แต่ในภาคอีสานกลับมีความเชื่อว่าต้องปลูกมะละกอตัวผู้ (ทางอีสานเรียกว่า “หมากหุ่งติ่ง” หรือ “หมากหุ่งสาย”) เอาไว้หน้าบ้านทุกบ้าน เพราะเป็นพืชมงคล
ดอกมะละกอตัวผู้จะหอมอ่อนๆ เมื่อได้กลิ่นจะทำให้อยากอาหาร โดยเฉพาะผู้สูงวัย กลิ่นนี้จะเป็นตัวกระตุ้นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังมีความรู้ที่ตอบโจทย์คนอีสานที่มักจะพบกับปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “โรคไหลตาย” โรคนี้จะแสดงอาการตอนนอนหลับ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจติดขัด วิธีปฐมพยาบาลตามภูมิปัญญาอีสาน คือ ให้เอาช้อนงัดปาก แล้วเอาก้านของมะละกอตัวผู้ สอดเข้าไปเพื่อช่วยการหายใจ
ยางมะละกอจะไปช่วยกัดเสมหะ และท่อของก้านของมะละกอตัวผู้ที่มีขนาดเล็กจะช่วยทำให้หายใจได้ดีขึ้น
มะละกอเป็นพืชต่างถิ่น แต่น่าทึ่งที่คนไทยสามารถเรียนรู้และสร้างภูมิปัญญานำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ปีนี้เขาว่าแล้ง ปลูกมะละกอสู้ภัยได้ทั้งอาหารและยาแน่นอน •
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022