ยาป๊อด-ยาก้อม ที่พญาเม็งราย การดูแลรักษาด้วยสมุนไพรพื้นบ้านแบบชาวล้านนา

ที่เทศบาลตำบลพญาเม็งราย อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย มีชมรมผู้สูงอายุและมีโรงเรียนผู้สูงอายุเหมือนกับตำบลอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่เห็นว่าผู้สูงอายุยังเป็นผู้ที่เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และสามารถพัฒนาตนให้มีศักยภาพ หรือที่เรียกว่า Active Aging

ผู้สูงวัยสดใสกระฉับกระเฉงก็ย่อมดูแลตนเอง มีความสุขทั้งกาย ใจ และยังเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้อย่างสนุกสนาน

โรงเรียนผู้สูงอายุทั่วไปมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ในห้องเรียน โครงการ หรือกิจกรรมนอกสถานที่ เพื่อสร้างการเรียนรู้ในการดำเนินชีวิตเหมาะสมตามช่วงวัย และการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย

แต่ที่โรงเรียนผู้สูงอายุ ณ เทศบาลตำบลพญาเม็งรายแห่งนี้ มีมุมคิดพลิกจาก สว. (ผู้สูงวัย) ที่มานั่งเป็นนักเรียนเปลี่ยนมาเป็นครูหรือผู้รู้ของชุมชน ด้วยการบอกเล่าความรู้ในตัวที่ผ่านประสบการณ์มายาวนานหลายสิบปี สว.ที่มาโรงเรียน มีประมาณ 80 ท่าน อายุมากสุด 85 ปี ที่เพิ่งรับเป็นสมาชิกก็ 61 ปี

กระบวนการรวบรวมความรู้เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2565 โดยผู้บริหารเทศบาลตำบลพญาเม็งรายให้ความสำคัญในความรู้ดั้งเดิม จึงแต่ตั้งคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเทศบาลตำบลพญาเม็งราย ขับเคลื่อนงานหลากหลาย

หนึ่งในนี้คือต้องการให้ สว.มีสุขภาพดีด้วยความรู้สมุนไพรและความรู้แบบหมอเมืองหรือหมอพื้นบ้านของล้านนา

 

ยาป๊อด ยาก้อม เป็นความรู้ที่บรรดา สว.ตกลงกันว่าจะทำงานด้วนกันให้สมกับเป็น Active Aging ยาป๊อด ยาก้อม คืออะไร ว่าตามคำศัพท์ล้านนา ป๊อด คือ สั้น, ก้อม คือ สั้น, ยา คือ สมุนไพร ดังนั้น ยาป๊อด ยาก้อม ในความหมายนี้ก็หมายถึง สมุนไพรเดี่ยว หรือสมุนไพรชนิดเดียว ที่มีอยู่ในห้องครัว สวนหลังบ้านหรือตามชายป่าในหมู่บ้าน ที่นำมาใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น หรือแก้ไขอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแบบเร่งด่วนก่อนที่จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาล

ยาป๊อด ยาก้อม คือความรู้การดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน ที่ได้รับการสืบทอดจากคนเฒ่าคนแก่และใช้กันสืบต่อกันมา

การเก็บรวมรวมความรู้ของตำบลพญาเม็งรายได้ความรู้จาก สว. มากมายหลายสิบสูตร บางตัวยาก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่ที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของถิ่นล้านนาคือการใช้ประโยชน์จาก ปูเลย หรือ ไพล (Zingiber montanum (Koenig ) Link ex Dietr.) แทบทุกครัวเรือนจะรู้ดีว่านำมาใช้แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยขับลมในกระเพาะลำไส้

ที่น่าสนใจคือ มีการแปรรูปยาออกเป็น 3 ประเภท ใช้กันในครัวเรือน ได้แก่ ยาทา ยาต้ม และยาลูกกลอน

วิธีปรุงยาทา ใช้หัวปูเลยสด 1 เหง้า ตำให้พอแหลก คั้นเอาน้ำยาไพลมาทาบริเวณท้องและรอบสะดือ หรือจะเอาพอกไว้ที่ท้อง ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที วันละ 4-5 ครั้ง ใช้ติดต่อกัน 3-7 วัน สูตรยาทานี้ใช้ได้ดีกับเด็กเล็ก หรือเด็กทารก อาการจะดีขึ้น เช่น เลอ ผายลม หรือเด็กหยุดร้องไห้จากอาการมีลมในท้อง

ข้อควรระวัง เด็กหรือบางคนอาจแพ้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังได้ และไม่แนะนำให้ทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน และผิวหนังที่มีบาดแผลเปิด

วิธีปรุงยาต้ม นำหัวปูเลยสด 1 เหง้า ไปฝานเป็นแว่นๆ นำไปตากแดดให้แห้ง เอาปูเลยแห้งไปต้มกับน้ำประมาณ 1 ขวด (750 มิลลิลิตร) ต้มให้น้ำเดือดจนสีเหลืองไพลออกมา ส่งกลิ่นหอมๆ ให้กินครั้งละ 1 แก้ว หรือจิบกินเหมือนน้ำชา จิบติดต่อกันได้ทั้งวันหรือดื่มเวลามีอาการ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่แน่นท้อง หรือได้เรอหรือผายลมออกมา กินต่อเนื่องไม่เกิน 1 สัปดาห์ ให้เปลี่ยนยาใหม่ทุกวัน และควรกินอุ่นหรือร้อน ไม่แนะนำให้กินแบบเย็น

หากเกิน 1 สัปดาห์อาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

 

วิธีปรุงยาลูกกลอน นำหัวปูเลยสดมาฝานเป็นแว่นๆ นำเอาไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปตำหรือบดให้เป็นผงละเอียด เตรียมน้ำผึ้งป่าหรือน้ำผึ้งแท้โดยนำไปตั้งไฟอุ่นให้ร้อน เอาผงไพลที่บดละเอียดแล้วนำมาผสมกับน้ำผึ้ง ให้ค่อยๆ ใส่น้ำผึ้ง พร้อมนวดผงสมุนไพรให้เป็นก้อน ที่มีความเหนียวนุ่ม คล้ายๆ การปั้นแป้ง ที่ไม่แข็ง ไม่แตก จนสามารถปั้นเป็นก้อนได้

ให้ปั้นเป็นเส้นยาวๆ คล้ายแท่งขนาดเท่าดินสอ จากนั้นค่อยๆ ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่าเม็ดนุ่นหรือเท่าเม็ดพุทรา คำแนะนำป้องกันยาขึ้นรา ให้เอาลูกกลอนไปตากแดด หรือเอาไปอบให้แห้ง ให้กินครั้งละ 3-5 เม็ดลูกกลอน ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หรือกินช่วงมีอาการท้องอืดเฟ้อ

ควรระมัดระวังการเก็บยาไม่ควรเก็บในที่ชื้นเพราะยาจะขึ้นราได้ และไม่ควรกินติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ต่อไป

 

อีกสัก 1 สูตร ให้เข้ากับวัย สว. สมุนไพรแก้อาการกล้ามเนื้อปวดเมื่อย ชาวพญาเม็งรายแนะนำให้ใช้หญ้าเอ็ดยืด หรือผักกาดน้ำ ( Plantago major L.) 1-2 กำมือ นำมาตำกับข้าวสารเจ้า 1-2 หยิบมือ จะได้น้ำยา หรือเนื้อยา ที่นำมาใช้ทาหรือใช้พอกก็ได้ ที่บริเวณปวดเมื่อย ทำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ถ้าพอกก็ควรทิ้งไว้สักครึ่งชั่วโมง

ความรู้นี้ยังสื่อถึงความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นไปตามฤดูกาล เพราะหญ้าเอ็นยืดหรือผักกาดน้ำ เป็นไม้ล้มลุก เก็บได้เฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งฝนกำลังมา ยาของชุมชนก็กำลังเจริญงอกงามให้พึ่งพาตนเองได้ทุกฤดูกาล

ชาวพญาเม็งรายและความร่วมแรงของบรรดา สว.ไฟแรง กำลังจะรวบรวมความรู้ ยาป๊อด ยาก้อม เพื่อเผยแพร่ฟรีสู่สาธารณะ และที่น่าช่วยกันในทุกตำบล คือการส่งเสริมการปลูกป่าชุมชน ป่าครอบครัว ให้เป็นพื้นที่ป่าสมุนไพรให้มากๆ เพราะคือโรงงานผลิตความมั่นคงทางอาหารและยาสมุนไพรใกล้ตัวนี่เอง •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org