ผักเฮือด-ผักฮี้ ผักพื้นบ้านต้านอนุมูลอิสระ

 

 

ผักฯเริอฯด ผักฯรี้

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ผัก-เฮือด ผัก-ฮี้”

ผักเฮือด ผักฮี้ เป็นผักสองอย่างที่เป็นชนิดเดียวกัน คือ Ficus virens Aiton ในวงศ์หม่อน ปอสา ขนุน Family MORACEAE สมาชิกในสกุล Ficus หรือสกุลมะเดื่อ โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง มีลักษณะพิเศษคือ ช่อดอกจะเหมือนกันทั้งสกุล มีลักษณะเป็นตุ่มกลม ออกตามกิ่งก้านสาขา ลำต้น หรือกิ่งหลัก

เมื่อดอกได้รับการผสม ตุ่มช่อดอกจะขยายขนาดเป็นผลกลุ่ม แบบผลมะเดื่อฝรั่ง ขนาด รสชาติต่างๆ กันไปขึ้นอยู่กับชนิดพืช ภาษากลางเรียก “เลียบ” หรือ “ไฮ” ภาษาอังกฤษเรียก “white fig”

ผักเฮือด ผักฮี้ มีลักษณะเป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ขึ้นอิสระหรือรัดพันไม้อื่น มีรากอากาศไม่มาก ใบเดี่ยวเรียงสลับ กว้าง 4-8 ซ.ม. ยาว 8-20 ซ.ม.

ใบอ่อนสีออกแดง มีขนละเอียดคล้ายไหม ใบแก่สีเขียวอมเหลือง เรียบเกลี้ยง เหนียวหนา มีหูใบขนาดใหญ่หุ้มยอดอ่อน ยาวถึง 4 ซ.ม. สีน้ำตาลออกชมพู แคบแหลม หลุดร่วงง่าย มีรอยแผลเป็นเป็นวงรอบข้อ กิ่งก้านอ้วนสั้น เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 0.5 ซ.ม.

ช่อดอกและผลแบบมะเดื่อ ขนาด 0.8-1.4 ซ.ม. สีเขียวอ่อนหรือออกขาว มีขนคล้ายไหม ไม่มีก้านผล เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีแดง ม่วง ถึงดำ กินได้ เป็นอาหารของนก และสัตว์ต่างๆ

ยอฯดผักฯเริอฯดอูามาแกงฯลำเจั้า ยอดผักเฮือดเอามาแก๋งลำเจ้า แปลว่า ยอดผักเฮือดเอามาแกงอร่อยนะคะ

ผักเฮือด ผักฮี้ เป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย แบบเดียวกับมะขามหวานกับมะขามเปรี้ยว สะเดาขม สะเดามัน ที่มีรสชาติต่างกัน แต่ก็ยังเป็นชนิดเดียวกัน

ส่วนของผักเฮือด ผักฮี้นั้น ต่างกันที่ผักเฮือดจะนิ่มกว่าเมื่อเทียบกับผักฮี้ จึงนิยมนำผักเฮือดไปแกงใส่กระดูกหมู แกงใส่ปลาแห้ง นึ่งกับน้ำพริก ส่วนผักฮี้ที่แข็งกว่าจะนิยมนำไปยำแบบล้านนา

โดยจะนำไปนึ่งให้สุกเสียก่อนแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำไปยำหรือโขลกรวมกับพริกแกงพื้นเมืองและหมูสับต้มน้ำปลาร้า จากนั้นนำไปผัดน้ำมันกับหอมแดงอีกครั้งเรียกว่า การจ่าว เพื่อให้เครื่องแกงเข้าเนื้อ และผักมีความเปื่อยนุ่มมากขึ้น ช่วยให้ยำผักฮี้มีความนุ่มลิ้น และรสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น

รสชาติของผักเฮือด ผักฮี้ ออกเปรี้ยวฝาดทั้งคู่ แต่ผักเฮือดจะออกเปรี้ยวมากกว่าฝาด ส่วนผักฮี้จะออกฝาดมากกว่าเปรี้ยว โดยส่วนที่มีรสเปรี้ยวของผักเฮือดจะอยู่ที่หูหรือใบหุ้มยอดสีแดง

หากอยากลดรสความเปรี้ยวเวลานำไปแกงจะต้องดึงเอาหูใบออกเยอะหน่อย รสชาติของแกงผักเฮือดก็จะกลมกล่อมขึ้น ส่วนสีสันของยอดอ่อนและหูใบนั้นผักเฮือดจะมีสีออกแดงมากกว่าเขียว และผักฮี้จะมีสีออกเขียวมากกว่าแดง

ผักเฮือด ผักฮี้เป็นผักที่ออกในช่วงฤดูหนาว เข้าฤดูร้อน ช่วงเดือนธันวาคม ถึงเมษายน

พบตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซียไปจนถึงทางเหนือของออสเตรเลีย ในไทยพบในป่าผลัดใบผสมป่าโปร่ง และนิยมนำมาปลูกในบ้านเพื่ออาศัยร่มเงา และกินยอดเป็นผัก

 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบสารสกัดจากเปลือกและใบแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสารกลุ่ม flavonoid ได้แก่ quecetin, quercetin-3-O-alpha-D-arabinopyranoside, quercetin-3-O-beta-K-glactopyranoside, kaempferol-3-O-alpha-D-arabinopyranoside, kaempferol-3-O-beta-D-galactopyranoside และ vogelin J และพบฤทธิ์ต้านเชื้อไว้รัสตับอักเสบ และโรคมือเท้าปากเล็กน้อย

นับว่าผักเฮือด ผักฮี้ เป็นผักพื้นบ้านตามฤดูกาลที่มีคุณค่า ช่วยเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เหมาะจะใช้เป็นตัวช่วยต้านอนุมุลอิสระจากฝุ่นควันในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนที่จะมีภาวะฝุ่นควันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนอกจากจะป้องกัน หลีกเลี่ยงการสูดเอาฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกายด้วยการใส่หน้ากากอนามัยแล้ว

การเสริมสารต้านอนุมูลอิสระด้วยการกินผักพื้นบ้านที่มีศักยภาพ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในราคาไม่แพง แถมยังอร่อยอิ่มท้องอีกด้วย •

 

 

ล้านนา คำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง