เผยแพร่ |
---|
โทงเทง เป็นสมุนไพรที่คนไทยรุ่นก่อนรู้จักกันดีเพราะพื้นที่สีเขียวยังมีมาก ที่ใดพืชขึ้นรกก็พบโทงเทงได้เสมอ
แต่ทุกวันนี้เห็นได้น้อยลงเพราะมีแต่อาคารคอนกรีต โทงเทงที่หลายคนจัดเกรดให้เป็นวัชพืชพลอยหายไปหมด แต่โทงเทงกลับมาโดดเด่นได้สัก 5-6 ปีมานี้ เมื่อโครงการหลวงและชาวบ้านปลูก เคพ กูสเบอร์รี่ (cape gooseberry) หรือโทงเทงฝรั่ง บนดอยสูง แล้วนำมาปั่นน้ำกินได้ใจวัยรุ่นและคนรักสุขภาพ
แม้ว่าเราเห็นโทงเทงกันทั่วไป แต่ตามหลักวิชาแล้ว โทงเทงมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาแล้วมีการกระจายไปทั่วโลก
โทงเทงจึงเป็นไม้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย
และขอบอกว่าระบาดหรือเจริญเติบโตได้ดีไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทยเลย
ในเวลานี้พบโทงเทงที่มาจากต่างประเทศอยู่ในประเทศไทยแยกได้ 2 ชนิด คือ โทงเทงไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalis angulata var. angulata และ โทงเทงฝรั่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyalis peruviana L.
ทั้งสองชนิดจัดอยู่ในวงศ์ มะเขือ (SOLANACEAE)
โทงเทงไทย เป็นสมุนไพรนอกที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานมากแล้ว นานขนาดคนไทยมีชื่อเรียกท้องถิ่นอื่นๆ ว่า โทงเทง โทงเทงน้ำ ทุงทิง ทุ้งทิ้ง ปุงปิง พุ้งพิ้ง โคมจีน โคมญี่ปุ่น ต็งอั้งเช้า เผาะแผะ มะก่องเช้า หญ้าถงเถง หญ้าต้อมต้อก กิมเต็งลั้ง อั้งโกวเนี้ย อ้วงบ๊อจู (จีน) สุ่ยเติงหลง (จีนกลาง) ฯลฯ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ เช่น balloon cherry, ground cherry, gooseberry, hogweed, ฯลฯ
โทงเทง จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุราว 1 ปี ต้นมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร หรือสูงได้เกือบ 1 เมตร ทั้งต้นปกคลุมไปด้วยขน แตกกิ่งก้านบริเวณยอด ก้านมีขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับออกตามข้อ ข้อละใบ ลักษณะใบคล้ายใบพริก รูปหอกป้าน มีเส้นแขนงใบ 5-7 คู่
ดอกออกระหว่างก้านใบกับลำต้น ดอกเล็กคล้ายดอกพริก แต่กลีบดอกสั้นและแข็งกว่า เวลาบานเป็นรูปแตร ออกดอกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เรื่อยไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน
ผลของโทงเทงมีลักษณะที่ให้เราจำง่าย เพราะมีกลีบดอกชั้นนอกหุ้มเหมือนโคมจีนสีเขียวอ่อนมีลายสีม่วง ผลภายในมีขนาดเล็ก ผลกลมใสมีสีเขียวอ่อน แต่เมื่อสุกกลายเป็นสีเหลือง
เมล็ดในผลมีเมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก รูปกลมแบน มีเมือกหุ้มคล้ายมะเขือเทศจำนวนมาก
จึงไม่แปลกที่ฝรั่งบางคนเรียกโทงเทงว่า wild tomato
ส่วน โทงเทงฝรั่ง มีลักษณะคล้ายโทงเทงไทย แต่มีลำต้นขนาดใหญ่กว่า มีการนำเข้ามาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ผลมีขนาดใหญ่พอกับลูกพุทราไทย ขณะนี้มีจำหน่ายในตลาดทั่วไป
แม่ค้าเรียกเท่ๆ ว่า “กูสเบอร์รี่” gooseberry หรือร้านขายน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพจะเรียก เคพ กูสเบอร์รี่ (cape gooseberry) นำมาคั้นหรือปั่นเป็นน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โทงเทงฝรั่งนั้นผลให้รสชาติอร่อยกลิ่นหอม แต่ผลโทงเทงไทยกลับมีความต่างกันสิ้นเชิง ขนาดเล็กกว่าและรสชาติไม่อร่อยเลย ออกรสขื่นและขมด้วย
ผลสุกของโทงเทงฝรั่งอุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ มีคุณค่าทางโภชนาการ จัดเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ ใน 1 ถ้วย 140 กรัม ให้พลังงานประมาณ 74 กิโลแคลลอรี มีคาร์โบไฮเดรตจากความหวานของน้ำตาลและไฟเบอร์ มีโปรตีน อุดมไปด้วยวิตามินเอ และวิตามินซี
นอกจากนี้ ยังพบสารกลุ่ม ฟลาโวนอยด์ส (flflavonoids) และ โพลีฟีนอลส์ (polyphenols) และมีข้อมูลระบุว่าน้ำมันที่สกัดจากเมล็ด เนื้อและผิวเปลือกของโทงเทงฝรั่งประกอบไปด้วยสารกลุ่ม ไฟโตสเตอ รอล (phytosterols) ซึ่งสารสำคัญต่างๆ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งมีกากใยช่วยในการขับถ่าย
นอกจากนี้ โทงเทงฝรั่งยังมีกลิ่นเฉพาะตัว จึงมีการศึกษาเพื่อพัฒนานำกลิ่นและน้ำมันจากผลโทงเทงฝรั่งมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร
สำหรับข้อควรระวัง มีงานวิจัยพบว่า หนูเพศผู้ในกลุ่มที่ได้รับผงแห้งจากน้ำคั้นขนาด 5,000 ม.ก./ก.ก. จะมีระดับ troponin T และโพแทสเซียมสูงขึ้น และหนูเพศผู้ที่ได้รับผงแห้งจากน้ำคั้นทุกขนาดมีระดับ troponin I สูงขึ้น
ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีการตายของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ แสดงว่า โทงเทงฝรั่ง ในขนาดสูงอาจมีผลทำให้เกิดความเป็นพิษต่อหัวใจในหนูแรทได้ ดังนั้น อาจจะต้องระมัดระวังการรับประทานโทงเทงฝรั่งในปริมาณสูงในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติมต่อไป
ยังมีข้อมูลจากศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม ว่า “เคพ กูสเบอร์รี่” การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ป้องกันความเป็นพิษ และต้านเซลล์มะเร็ง เป็นต้น
สารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ สารในกลุ่ม withanolides “เคพ กูสเบอร์รี่” เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งด้านคุณค่าทางอาหาร เพราะอุดมไปด้วยวิตามินเอและวิตามินซี และยังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ