เปิดสรรพคุณ “ฝอยทอง” “ฝอยไหม” “เครือคำ” ทำไมจีนถึงนิยมใช้บำรุงร่างกาย

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

 

ฝอยทอง ฝอยไหม เครือคำ

 

ชื่อข้างต้น ฝอยทอง หรือฝอยไหม หรือเครือคำ คือชื่อสมุนไพรที่มีความน่าสนใจชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนมีการนำมาใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย

คนไทยโดยเฉพาะหมอพื้นบ้านก็มีการนำมาใช้ประโยชน์กันมากพอสมควร

ชาวบ้านในถิ่นอีสานยังนำเอาฝอยทอง (ส่วนลำต้น) มากินเป็นผักจิ้มแจ่วหรือน้ำพริกกินกันเอร็ดอร่อย แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก

ที่นำมาแนะนำก็เพราะสรรพคุณที่หมอพื้นบ้านอีสานหลายท่านใช้ฝอยทองตำรวมกับวุ้นของว่านหางจระเข้ นำมาใช้ทารักษาสะเก็ดเงินกันอย่างกว้างขวาง

และจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่มีอาการเป็นแผลที่มีลักษณะเป็นหย่อมสีแดงๆ ลามมาตั้งแต่แนวชายผมบริเวณหน้าผาก ไล่มาตามใบหน้าและลงมาที่คอ

ซึ่งไม่หยุดเท่านั้น ได้ลามลงไปส่วนของลำตัวด้วย เมื่อได้ใช้ยาตำรับนี้คือ ส่วนของลำต้นฝอยทองตำรวมกับวุ้นว่านหางจระเข้ทาแผลแล้วแห้งไปภายใน 3 วัน จากนั้นอาการก็หายเป็นปกติ

ซึ่งหมอพื้นบ้านอีสานมักใช้ตำรับยานี้รักษาได้ผลมาแล้วมากกว่า 20 ราย

 

ฝอยทอง จัดเป็นพืชกาฝาก คือมักเจริญเติบโตโดยการพาดพันไปกับต้นไม้อื่นและดูดน้ำกินจากต้นไม้อื่น มีอายุประมาณ 1 ปี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cuscuta chinensis Lam. จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง มีชื่อสามัญเรียกว่า Dodder และมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อเนื่องจากสามารถกระจายอยู่ได้ในหลายพื้นที่ เช่น ฝอยไหม (นครราชสีมา) ผักไหม (อุดรธานี) ซิกคิบ่อ ทูโพเคาะกี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) เครือคำ (ไทใหญ่ ขมุ) บ่ะเครือคำ (ลั้วะ) กิมซีเช่า โท้วซี (จีนแต้จิ๋ว) ทู่ซือ ทู่ซือจื่อ (จีนกลาง) ลำต้นฝอยทองมีลักษณะเป็นเส้นกลม อ่อน แตกกิ่งก้านสาขามากเป็นเส้นยาว มีสีเหลืองทอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร ใบเป็นเกล็ดขนาดเล็กๆ รูปสามเหลี่ยม มีจำนวนไม่มาก ดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ผลเป็นรูปกลมแบน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด

ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลมรี เมล็ดเป็นสีเหลืองอมเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพืชที่ต้องการความชื้นมาก พบขึ้นตามพุ่มไม้ที่ชุ่มชื้นทั่วไป ตามสวน เรือนเพาะชำ ริมถนน พื้นที่รกร้างทั่วไปก็พบได้

ความรู้ท้องถิ่นนอกจากกินเป็นผักลวกกับแจ่วแล้ว ยังนำมาใช้เป็นยาสระผม

สำหรับสรรพคุณสมุนไพรทั่วไป ฝอยทองเป็นยารสหวาน ทั้งต้นนำมาต้มกินและอาบแก้อาการตัวบวม

เมล็ดช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม แก้น้ำกามเคลื่อน

และใช้เป็นยารักษาผิวหนังเป็นปื้นขาวหรือเป็นด่างขาว

 

สูตรยานั้นใช้ทั้งต้นหรือเถานำมามัดเป็นก้อนแล้วต้มดื่มน้ำ เป็นยารักษาโรคและอาการต่างๆ เช่น เป็นยาถ่ายพยาธิ ถ้าเป็นยาบำรุงร่างกายมักใช้ลำต้นฝอยทองหรือเถาแห้ง 10-12 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรืออาจผสมเหล้า หรือผสมน้ำตาลทรายแดง กินแก้ร่างกายอ่อนเพลีย กินแก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย และใช้เถาต้มน้ำอาบรักษาตัวเหลืองจากโรคดีซ่าน

นอกจากนี้ ในภูมิปัญญาพื้นบ้าน ยังใช้รักษาสัตว์ เช่น แม่วัวที่มีน้ำนมน้อยจะนำลำต้นสดประมาณ 500 กรัม ตำให้ละเอียด ชงหรือละลายกับเหล้าที่ทำด้วยข้าวเหนียว อุ่นให้แม่วัวกิน และวัวที่มีอาการตาแดงหรือเจ็บตา ใช้ลำต้นสดตำคั้นเอาน้ำยาทารอบๆ ขอบตา

ในตำรายาจีนมีการรับรองอย่างเข็มแข็งว่ามีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย เพิ่มสมรรถนะทางเพศในผู้ชาย บำรุงตับ ทำให้ชะลอวัย มีอนุมูลอิสระจำนวนมาก ป้องกันโรคกระดูกพรุน

เข้าใจว่าขณะนี้ทางประเทศจีนพัฒนาเป็นยาใช้แก้ผมร่วงเป็นหย่อมที่ไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย

 

ฝอยทองชนิด Cuscuta chinensis Lam. ที่มีสรรพคุณกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เมืองไทยยังร่ำรวยความหลากหลายชีวภาพ พบพืชที่เรียกว่าฝอยทองและอยู่ในสกุล Cuscuta เหมือนกันเพิ่มเติมอีก 3 ชนิด คือ

  1. Cuscuta campestris Yunck. มีชื่อสามัญว่า Golden dodder หรือ field dodder ชื่อสามัญนี้แสดงให้เห็นว่าฝอยทองชนิดนี้มีสีเหลืองเข้มประดุจสีทอง แม้ว่าท้องถิ่นทั่วไปจะเรียกว่าฝอยทอง แต่ทางราชการไทยกลับเรียกว่า “เขาคำ”

เขาคำเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของอเมริกาเหนือ (แคนาดา สหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก) และบางส่วนของแคริบเบียน และน่าจะเป็นไม้พื้นเมืองของอเมริกาใต้ด้วย

ทางอเมริกาเหนือมีการกล่าวถึงการใช้ประโยชน์น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นรายงานว่าเป็นวัชพืช เป็นตัวส่งผ่านเชื้อโรคไปยังพืชชนิดอื่นๆ

  1. Cuscuta japonica Choisy มีชื่อสามัญว่า Japanese dodder จากชื่อทำให้ทราบว่าเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศญี่ปุ่น ส่วนทางราชการไทยเรียกพืชชนิดนี้ว่า “ฝอยทอง” เช่นกัน คนญี่ปุ่นใช้ส่วนที่เป็นเถาอ่อนต้มกินโดยมีน้ำราดหรือเครื่องปรุงรส ในทางยามีรายงานว่าใช้เป็นยากระตุ้นการทำงานของไตและตับ

ในส่วนของเมล็ดใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ตกขาว ปัสสาวะไหลออกมาแบบไม่รู้ตัว ปวดหลังและเสื่อมสมรรถนะทางเพศ เถาอ่อนใช้เป็นยาแก้เจ็บตา

  1. Cuscuta reflexa Roxb. มีชื่อสามัญว่า giant dodder แสดงให้เห็นว่าเป็นพืชที่มีลำต้นใหญ่ ทางราชการไทยเรียกพืชชนิดนี้ว่า “เครือเขาคำ” มีถิ่นกำเนิดในแถบอนุทวีปอินเดีย ในตำรับยาของอายุรเวทใช้ส่วนของลำต้นเป็นยาแก้ตับและดีพิการ ทั้งต้นใช้เป็นยาถ่าย ใช้เป็นยาลดไข้เรื้อรัง ลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ อาการคันตามผิวหนัง และน้ำคั้นจากเถานำมาผสมกับน้ำอ้อยใช้เป็นยาแก้ดีซ่านได้

มีรายงานว่าพืชชนิดนี้มีความแปรปรวนไปตามชนิดของต้นไม้ที่ไปเกาะอาศัยอยู่ แต่ยังไม่มีรายงานว่าการใช้ประโยชน์ทางยาจะให้ผลแตกต่างกันหรือไม่

ทั่วโลกมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับฝอยทองไม่น้อยกว่า 100 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยชนิดที่คนไทยและคนจีนใช้กันมากคือชนิด Cuscuta chinensis Lam.

ดังนั้น ฝอยทองจึงไม่ใช่วัชพืชที่ถอนทิ้ง แต่น่าจะทุ่มเทศึกษาวิจัยพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ดีกว่า