เปิดสมรภูมิ ‘สายเขียว’ (2) จากต้นกัญชา สู่แคนนาบินอยด์ในถังหมัก / ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

เปิดสมรภูมิ ‘สายเขียว’ (2)

จากต้นกัญชา

สู่แคนนาบินอยด์ในถังหมัก

 

กระแสกัญชากัญชงฟีเวอร์ กระทุ้งให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งทั้งจากธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มต่างก็ตื่นตัวและเตรียมพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เสริมส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงออกมาตีตลาดเดิม เพิ่มเติมคือ คนกินอาจจะ “ฟิน” มากขึ้น

ดีมานด์พุ่งกระฉูด แต่ซัพพลายขยายไม่ทัน ปัญหาจึงเป็นเรื่องวัตถุดิบที่จะมาป้อนตลาด

เวลานี้ ราคาของใบกัญชาแห้ง (ในประเทศ) 1 กิโลกรัมจึงพุ่งสูงขึ้นไปถึง 15,000 บาท

เรียกว่าแพงกว่าหมามุ่ยที่ท่านนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งเคยแนะนำให้เกษตรกรปลูกขายกันหลายเท่าตัวนัก

ภาคธุรกิจทั้งรายใหญ่รายย่อยต่างหากลยุทธ์ในการเข้าร่วมนโยบายเพื่อวัตถุดิบอันเลอค่านี้

หลายเจ้าเริ่มสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐที่มีใบอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย

ส่วนองค์กรเหล่านี้ก็สร้างเครือข่ายกันกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เริ่มๆ ปลูกกัญชากันแล้วเช่นกัน

วงการกัญชากัญชงในประเทศเริ่มก้าวเดินไปอย่างรวดเร็ว และน่าจับตามอง คือราคาของชิ้นส่วนพืชที่พุ่งสูงขึ้นจนล่อตาล่อใจ

อาจจะทำให้เกษตรกรจำนวนมากอยากจะเปลี่ยนไปปลูกกัญชาออกมาขายแข่งเอากำไรกันบ้าง

และถ้ามีลัทธิปลูกตามแห่ ในไม่ช้าปัญหาก็จะตามมาอย่างแน่นอน ราคามีขึ้นมีลง แล้วยังอาจกระทบกับพืชเกษตรตัวอื่นๆ ที่จะต้องลดหายไปจากเดิม

ในปัจจุบันสารแคนนาบินอยด์หายากหลายชนิดอาจจะผลิตจากยีสต์ที่เลี้ยงถังหมักแบบนี้

ถ้ามองตลาดการค้าในระดับโลก ธุรกิจสารสกัดกัญชากัญชงกำลังขยายอย่างรวดเร็ว ตลาดในแคนาดาและสหรัฐอเมริกานั้นใหญ่โตมโหฬาร ล่าสุดมีมูลค่าทางการตลาดพุ่งทะยานเหยียบเก้าแสนล้านบาทไปแล้ว

แม้ว่าตลาดจะขยาย แต่ราคาขายของสารสกัดและชิ้นส่วนของพืชนั้นกลับมีแนวโน้มจะลดต่ำลงเรื่อยๆ ในเวทีโลก

หนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาดกัญชงโลก ก็คือประเทศจีนที่ปลูกกัญชงกันอย่างแพร่หลายในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ที่เร่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยกัญชง ผง CBD และน้ำมัน CBD ป้อนตลาดออนไลน์แข่งขันกันกระจุยกระจาย

เมื่อผลผลิตเต็มตลาด เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ราคาผลผลิตก็ร่วงกันแบบระเนระนาด

ลองตั้งคำถามแบบทะลุกรอบกันสักนิดดีไหมว่า “ทำไมแคนนาบินอยด์ต้องผลิตมาจากพืชเท่านั้น?”

เพราะในเวลานี้ บริษัทสตาร์ตอัพเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) หลายแห่งก็เริ่มหันมาจับตามองตลาดการค้านี้เช่นกัน

โครนอส (Cronos) หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านกัญชาจากแคนาดาที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็น “บริษัทแคนนาบินอยด์โลก (Global Cannabinoid Company) ทุ่มทุนมหาศาลเพื่องานวิจัยต้นน้ำ เพื่อผลิตสารสกัดแคนนาบินอยด์หายาก

อย่างเช่น แคนนาบิเจอรัล (Cannabigerol, CBG) หรือที่หลายๆ คนในวงการเรียกว่าแคนนาบินอยด์ตัวแม่ (mother of all cannabinoids) ที่พบได้น้อยมากในพืช (โดยมากจะน้อยกว่า 1%)

เพราะ CBG คือสารตั้งต้นในกระบวนการสังเคราะห์แคนนาบินอยด์ที่เรารู้จักกันอย่าง THC และ CBD ในพืช ซึ่งถ้าพืชมีปริมาณ THC หรือ CBD เยอะ ปริมาณ CBG นั้นก็จะยิ่งมีน้อย เพราะพวก CBG จะถูกเปลี่ยนไปเป็น THC หรือ CBD จนแทบไม่เหลือ

การผลิตสาร CBG บริสุทธิ์ในระดับอุตสาหกรรมโดยการสกัดจากกัญชาและกัญชงโดยตรงนั้นจึงทำได้ยากยิ่งจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ และก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่นักปรับปรุงพันธุ์พืชพยายามที่จะหาหนทางแก้ ทั้งคัดเลือกสายพันธุ์กัญชากัญชงที่ให้ผลผลิต CBG ที่สูงแล้วผสมข้ามพันธุ์ ซึ่งพวกเขาก็ทำได้ค่อนข้างดี

ในเวลานี้ สายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ บีไดอัล (Bediol) นั้นถูกผสมขึ้นมาแล้วโดยบริษัท เบโดรแคน บีวี เมดดิซินัล แคนนาบิส (Bedrocan BV Medicinal Cannabis)

กัญชาสายพันธุ์นี้สามารถให้ CBG ได้ค่อนข้างมากในระยะเริ่มให้ดอกตั้งแต่ 6 สัปดาห์ ไปจนถึง 8 สัปดาห์

 

“กุญแจสำคัญที่จะอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการนำผลิตภัณฑ์แคนนาบินอยด์ออกสู่ตลาดนั้น ก็คือ ต้องสร้างระบบการผลิตสารแคนนาบินอยด์ที่เชื่อถือและวางใจได้ ให้สามารถผลิตแคนนาบินอยด์ครอบคลุมได้ครบทุกชนิด ไม่ใช่แค่ THC หรือ CBD” ไมก์ โกเรนสไตน์ (Mike Gorenstein) ประธานบริหารของโครนอส บริษัทชั้นนำในธุรกิจกัญชา กล่าว

ไมก์มองข้ามพืชไปเลย จุดมุ่งหมายของเขาคือ ราคาต้องถูก และได้ผลผลิตมากที่สุด ไม่ใช่แค่จากดอกกัญชา กัญชง แต่ต้องเยอะกว่านั้น

เพราะสิ่งที่โครนอสให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือสารแคนนาบินอยด์หายาก ด้วยความเชื่อที่ว่าแคนนาบินอยด์ที่พบได้น้อยเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีความแตกต่างและหลากหลายให้กับผู้บริโภค

ในปี 2018 ไมก์ผลักดันโครนอสอย่างเต็มที่ในด้านชีววิทยาสังเคราะห์ ถึงขนาดยอมเซ็นสัญญาสุดเสี่ยงทุ่มเงินก้อนมหึมา ราวๆ ยี่สิบสองล้านเหรียญสหรัฐ หรือหกพันหกร้อยล้านบาทเพื่อจับมือกับบริษัทชีววิทยาสังเคราะห์ชื่อดังอย่างกิงโกไบโอเวิร์กส์ (Ginkgo Bioworks) อดีตสตาร์ตอัพที่สร้างยีสต์กลิ่นดอกไม้ที่สปินออกมาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology, MIT) ให้วิจัยและออกแบบจุลินทรีย์ที่จะผลิตสารออกฤทธิ์แคนนาบินอยด์หายากให้กับโครนอส

กิงโกจะได้ส่วนแบ่งหุ้นอีกมูลค่าร้อยล้านเหรียญ ถ้าพวกเขาสามารถส่งยีสต์ที่ผลิตแคนนาบินอยด์ได้ 8 แบบ ที่ราคาต่ำกว่าพันเหรียญ หรือ 30,000 บาทต่อกิโลกรัม หรือถูกกว่านั้น (ซึ่งเป็นต้นทุนเพียงแค่เศษเสี้ยวเมื่อเทียบกับค่าใช่จ่ายในการสกัดสารจากพืช)

ซึ่งทางโครนอสเองเปรยๆ ว่าพวกเขาคาดหวังว่านวัตกรรมที่พวกเขาจะร่วมพัฒนากับกิงโก จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในไตรมาสที่สามของปี 2021

 

ทว่าทีมกิงโกและโครนอส ไม่ใช่แค่เจ้าเดียวที่เพ่งเล็ง CBG เอาไว้

เดเมทริกซ์ (Demetrix) สตาร์ตอัพที่เกิดมาจาก “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” จากห้องปฏิบัติการของ ศ.ดร.เจย์ คิสลิ่ง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California Berkeley) และห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอร์เรนซ์ เบิร์กลีย์ กระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา (Lawrence Berkeley National Laboratory, US Department of Energy) เจ้าของผลงานสุดออริจินอล “ยีสต์ผลิตแคนนาบินอยด์” ที่ตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์ไปเมื่อต้นปี 2019

หลังจากการเปิดตัวเปเปอร์ของเจย์อย่างสุดอลังการในเนเจอร์ เดเมทริกซ์ก็กลายเป็นสตาร์ตอัพดาวรุ่งที่แจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็วมาก และสามารถเรี่ยไรเงินทุนได้กว่าหกสิบเอ็ดล้านเหรียญสหรัฐ

“พันธกิจตั้งแต่ตอนที่เดเมทริกซ์ถูกก่อตั้งขึ้นมาก็คือจะใช้วิทยาศาสตร์เพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น” เจฟฟ์ อูเบอร์แซกซ์ (Jeff Ubersax) ซีอีโอของเดเมทริกซ์กล่าว

แคนนาบินอยด์จากกัญชงและกัญชานับร้อยชนิด ทั้งพบได้เยอะ อย่าง THC หรือ CBD และที่พบได้น้อยเสียจนดูเหมือนแทบจะหาไม่เจอถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่จากกระบวนการทางชีววิทยาสังเคราะห์เป็นที่เรียบร้อยแล้วที่ห้องปฏิบัติการของเดเมทริกซ์

ทีมของพวกเขากำลังทดสอบว่าแต่ละตัวมีจุดเด่นอย่างไร มีฤทธิ์รักษา บำบัด หรือบรรเทาอาการอะไรได้บ้าง และปลอดภัยแค่ไหนในการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ

ในปัจจุบันสารแคนนาบินอยด์หายากหลายชนิดอาจจะผลิตจากยีสต์ที่เลี้ยงถังหมักแบบนี้

สตาร์ตอัพเดเมทริกซ์ เติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถอัพสเกลเทคโนโลยีการผลิต CBG จากห้องแลบยีสต์ในมหาวิทยาลัย สู่โรงงานระดับหนึ่งหมื่นห้าพันลิตร ได้ในเวลาเพียงแค่สามปี และประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลิต CBG จากยีสต์

ในเวลานี้ เดเมทริกซ์เริ่มเจาะตลาดผู้ผลิตสินค้าเครื่องสำอางค์และเครื่องประทินผิว โดยการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ CBG เวอร์ชั่นทดลองใช้ที่ได้ออกมาจากถังหมัก 15,000 ลิตรของพวกเขาส่งไปให้กับกลุ่มบริษัทชั้นนำที่มีความสนใจในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมแคนนาบินอยด์

“งานวิจัยของพวกเราแสดงให้เห็นชัดว่า CBG เป็นทั้งแอนติออกซิแดนซ์ และยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบจึงมีศักยภาพที่ดีในการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการบำรุงผิวพรรณ” ซินดี ไบรแอนต์ (Cindy Bryant) ซีบีโอ (Chief business officer) ของเดเมทริกซ์กล่าว แม้จะพุ่งเป้าสู่ตลาดเครื่องสำอาง แต่พวกเขาก็ยังเปิดกว้างสำหรับไอเดียอื่นๆ ในการนำแคนนาบินอยด์ไปประยุกต์ใช้

โรงงานต้นแบบผลิตแคนนาบินอยด์หายากจากยีสต์ของเดเมทริกซ์นั้นใหญ่โตมโหฬารมีขนาดกำลังผลิตถึงสิบห้าตัน แต่พวกเขามีแผนไกลกว่านั้น เพราะจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของเดเมทริกซ์ คือ โรงงานผลิตแคนนาบินอยด์ระดับแสนลิตร (หรือร้อยตัน)

 

ที่จริงแล้ว อีกบริษัทที่น่าจับตามองคือบริษัทพี่ของเดเมทริกซ์ที่ชื่อว่า “อไมริส (Amyris)”

หนึ่งในสตาร์ตอัพชีววิทยาสังเคราะห์ที่ดังมาจากเทคโนโลยีจุลินทรีย์ผลิตเชื้อเพลิงเคโรซีนสำหรับเครื่องบินเจ็ท ที่สปินออกมาจากห้องปฏิบัติการของเจย์เหมือนกัน

เพราะตอนนี้ อไมริสก็เริ่มหันมามองผลิตภัณฑ์แคนนาบินอยด์แล้วเช่นกัน

พวกเขาเริ่มการวิจัยแคนนาบินอยด์ตอนต้นปี 2020

และในเวลาไม่ถึงเก้าเดือน ผลิตภัณฑ์ CBG ล็อตแรกของอไมริสก็ออกสู่ตลาดเป็นที่เรียบร้อยจากถังหมักขนาด 225,000 ลิตรในสเปน

พวกเขาคาดหวังว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจะตอบโจทย์กระแสกัญชากัญชงฟีเวอร์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาได้เป็นอย่างดี

 

ชัดเจนว่ากระแสตื่น “กัญชา” ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ก็คึกคักไม่แพ้กันกับไทย

เพียงแค่พวกเขาไม่ได้เน้นจะปลูกทั้งในกลางแจ้ง หรือแม้แต่ในร่มแบบสมาร์ตฟาร์ม

แต่กลับมองทะลุกรอบจับเอาวิถีชีวเคมีของการผลิตสารออกฤทธิ์ทั้งหลายลงจุลินทรีย์ เพื่อผลิตสารแคนนาบินอยด์ปั๊มออกมาจากถังหมักทีละตัวรอบละเป็นตันๆ

ซึ่งถ้ามองถึงตลาดการแพทย์ การผลิตแบบนี้น่าจะตอบโจทย์ได้ดีกว่ามาปลูกเป็นแปลงๆ เพราะควบคุมคุณภาพและความบริสุทธิ์ของสารออกฤทธิ์ได้ง่าย และเป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้ราคาของผลผลิตจากกัญชาหลายๆ ตัวมีราคาที่จับต้องได้มากขึ้น

เรียกว่าทำแบบนักนวัตกรรม ทำน้อย ได้มาก แค่ลงถังหมักก็ได้สารบริสุทธิ์ออกมาเป็นกิโลๆ โดยใช้เวลาเพียงแค่แป๊บเดียว แถมคุณภาพยังคงที่อีกด้วย

แต่อย่างที่บอกไปในสัปดาห์ก่อนว่า อย่าเพิ่งกังวลไป สถานการณ์ของตลาดสินค้ากัญชากัญชงในประเทศไทย เทคโนโลยีเหล่านี้น่าจะยังไม่ค่อยมีผลอะไรมากนัก

เพราะการนำเข้าส่งออกสารแคนนาบินอยด์ข้ามประเทศนั้นอาจจะไม่ได้ง่ายนักในเชิงกฎหมาย

แต่ถ้าการแข่งขันเกิดขึ้นได้อย่างอิสระเมื่อไร แวดวงกัญชากัญชงของไทยคงจะต้องเตรียมรับมือไว้ให้ดี ผลกระทบต้องมาแน่ ไม่มากก็น้อย

เพราะในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว การถูกดิสรัปต์ (disruption) คือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับการทำธุรกิจ ใครที่ตามไม่ทันก็อาจจะถูกทิ้งให้แห้งเหี่ยวตายอยู่ข้างหลัง

บางทีเราคงต้องมองโลกด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง ศึกษาและไตร่ตรองให้ดีว่าจะเดินหน้าไปอย่างไรให้ทันกับความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีของเทคโนโลยีในนานาอารยประเทศที่กำลังก้าวกระโดดกันไปแบบวาร์ปสปีด

นี่อาจจะเป็นเวลาที่เราน่าจะต้องเริ่มมองทะลุกรอบกันบ้างแล้ว