บอลโลกแห่ง “จุดโทษ” และช่องโหว่ของ “วีเออาร์”?

ศึก “ฟุตบอลโลก 2018” ยังไม่ทันจบการแข่งขันรอบแรก ก็มีสถิติเกิดใหม่ชนิดเป็นประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเรียบร้อย

โดยหลังจบการแข่งขันนัดสุดท้ายของกลุ่มดี กรรมการเป่าให้ลูกโทษที่จุดโทษมากถึง 22 ครั้ง จาก 38 เกม (ในจำนวนนี้ยิงเข้า 17 ครั้ง)

ถือเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาลของทัวร์นาเมนต์นี้ ลบสถิติเดิม 18 ครั้งที่เกิดขึ้นใน “ฟุตบอลโลก 2002” และเป็นคนละเรื่องกับจำนวน 13 ครั้งที่เกิดขึ้นในเวิลด์คัพครั้งที่แล้ว

ที่สำคัญคือ จำนวนลูกจุดโทษในเกมปกตินั้นมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แทบจะทุกวันทุกนัดที่ทำการแข่งขัน

ปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้จำนวนลูกโทษที่จุดโทษเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลคือการนำเทคโนโลยี “วีเออาร์ (VAR)” หรือระบบวิดีโอช่วยตัดสินมาใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกหนนี้เป็นครั้งแรก แทบทุกครั้งที่เกิดจังหวะก้ำกึ่งว่าจะเป็นการฟาวล์ในเขตโทษหรือไม่ จะมีการเรียกใช้ระบบวีเออาร์

และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่มีการทวนซ้ำภาพเหตุการณ์ ก็มักลงเอยด้วยการเป่าให้ฝ่ายโดนฟาวล์ได้จุดโทษ

หลักการทำงานของวีเออาร์นั้น จะมีผู้ตัดสินชุดหนึ่งประจำอยู่ในห้องควบคุมกล้องโทรทัศน์มุมต่างๆ เพื่อชมจังหวะปัญหา โดยตามกฎของ “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)” จะอนุญาตให้เรียกใช้วีเออาร์ได้ 4 จังหวะสำคัญ คือ

1. จังหวะดังกล่าวเป็นประตูหรือไม่ (มีการทำฟาวล์หรือล้ำหน้าก่อนหรือเปล่า)

2. จังหวะดังกล่าวเป็นลูกโทษที่จุดโทษหรือไม่

3. จังหวะดังกล่าวควรเป็นใบแดงโดยตรงหรือไม่

และ 4. มีการแจกใบเหลืองใบแดงให้นักเตะผิดคนหรือไม่

กรรมการในสนามกับกรรมการที่ห้องบังคับการจะสื่อสารกันตลอดเวลาผ่านทางวิทยุสื่อสารไร้สายที่สวมไว้ที่ศีรษะ

หากมีจังหวะปัญหาเกิดขึ้นก็จะปล่อยให้เกมดำเนินไปสักระยะ หากได้รับการติดต่อจากห้องบังคับการว่าผู้ตัดสินหลักควรชมจังหวะดังกล่าวเพื่อให้แน่ใจอีกครั้งว่าควรกลับคำตัดสินหรือไม่ ก็จะหยุดเกมเพื่อไปชมภาพรีเพลย์ที่จอภาพข้างสนาม

โดยให้สิทธิขาดเป็นของผู้ตัดสินหลักว่าจะตัดสินจังหวะนั้นอย่างไร

ก่อนหน้าเวิลด์คัพจะเปิดฉาก หลายเสียงวิจารณ์วีเออาร์ว่า ทำให้เกมหยุดชะงัก ไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร ที่สำคัญคือสุดท้ายแล้ววีเออาร์ก็ไม่สามารถทำให้คำตัดสินนั้นๆ ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ถ้าไม่นับจังหวะล้ำหน้า เพราะการตัดสินว่าจะเป็นการฟาวล์หรือไม่ เป็นลูกโทษหรือไม่ และเป็นใบแดงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ตัดสินหลักเพียงผู้เดียว ซึ่งย่อมไม่ถูกใจแฟนบอลครบทุกคนไปได้

สำหรับฟุตบอลโลกหนนี้จัดการกับปัญหาเรื่องเกมสะดุดได้ค่อนข้างดี เพราะปล่อยให้เกมไหลไปก่อนจนระบบพร้อมรีเพลย์ภาพ และคนในห้องบังคับการพิจารณาแล้วว่ามีเหตุให้ทบทวนคำตัดสิน ก็จะหยุดเกมเพื่อดูวีเออาร์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่ถึงนาที

ส่วนคำตัดสินนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่แฟนบอลส่วนใหญ่รับได้ อาจจะค้านสายตาหรือความรู้สึกไปบ้าง แต่ก็เป็นประเด็นที่คนมักจะพูดกันจนติดปากว่า “จังหวะนี้ ให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้”

กระทั่งถึงเกมบอลโลกนัดสุดท้าย รอบแรก ของกลุ่มบี ระหว่าง “โปรตุเกส” กับ “อิหร่าน” จึงกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ใหญ่โตขึ้นมา

เกมดังกล่าวมีการเปิดดูวีเออาร์ในจังหวะสำคัญ 2 ครั้งที่ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ครั้งหนึ่งคือลูกโทษที่จุดโทษในจังหวะที่ผู้เล่นอิหร่านโหม่งบอลไปชนแขนของ “เซดริก โซอาเรส” ในกรอบเขตโทษ หลังจากพิจารณาอยู่นาน ในที่สุดกรรมการก็เป่าให้ลูกดังกล่าวเป็นจุดโทษ เป็นประตูตีเสมอโปรตุเกส

นักวิจารณ์และแฟนบอลจำนวนมากออกมาวิจารณ์หลังเกมว่า ลูกนั้นไม่ควรเป็นประตู เพราะน่าจะเป็นลักษณะของ “บอล ทู แฮนด์” คือบอลพุ่งไปชนมือโซอาเรสแบบสุดวิสัย ไม่ได้มีเจตนาแฮนด์บอล และวิถีของลูกในจังหวะนั้นก็ไม่ได้พุ่งไปทางประตูอีกด้วย

อีกจังหวะคือการทำฟาวล์ของ “คริสเตียโน่ โรนัลโด้” ที่ไปตีศอกใส่ผู้เล่นอิหร่าน กรรมการหยุดเกมเพื่อพิจารณาจังหวะดังกล่าวก่อนแจกใบเหลืองให้ซูเปอร์สตาร์ทีมฝอยทอง

จังหวะนี้ก็เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน โดยแบ่งเป็น 2 กระแส

กระแสหนึ่งมองว่ากรรมการไม่กล้าแจกใบแดงให้โรนัลโด้ ทั้งที่จริงๆ แล้วดูว่าเจ้าตัวเจตนาตีศอกใส่คู่ต่อสู้ เพราะการติดโทษใบแดงหมายความว่าโรนัลโด้จะหมดสิทธิลงสนามในรอบต่อไป

ส่วนอีกกระแสบอกว่า จังหวะนั้นเป็นการฟาวล์เบาๆ แจกแค่ใบเหลืองนั้นถูกแล้ว และในเมื่อเป็นแค่ใบเหลือง ก็ไม่ควรต้องย้อนชมภาพรีเพลย์แต่อย่างใด

2 เหตุการณ์นี้ทำให้นักวิจารณ์มองว่า การมีวีเออาร์ทำให้กรรมการเซ็นซิทีฟเกินความจำเป็น และทำให้เกิดลูกจุดโทษมากมายมหาศาลทั้งที่บางจังหวะไม่ควรจะเป็นลูกโทษด้วย บ้างถึงขั้นเรียกร้องให้ยกเลิกการนำระบบนี้มาใช้ไปเลยด้วยซ้ำ

แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากอีกแง่มุมว่า อย่างไรเสียให้มีก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะถึงบางครั้งคำตัดสินอาจไม่ถูกใจผู้ชมไปบ้าง แต่จาก 10 ครั้ง ทำให้ถูกต้องและถูกใจได้ถึง 8 ครั้ง ก็ย่อมดีกว่าปล่อยให้เป็นที่ถกเถียงกันไม่หยุด

ส่วนเรื่องขั้นตอนหรือแนวทางปฏิบัตินั้น ค่อยๆ ปรับแก้แบบค่อยเป็นค่อยไป เชื่อว่าจะหาจุดลงตัวได้ในที่สุด