ลึกแต่ไม่ลับ : ‘ไฮเพาเวอร์’ ตัวจริงที่แฝงตัวอยู่

จรัญ พงษ์จีน
AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

อันเนื่องมาจาก “กฎเหล็ก 10 ประการ” ลงเอยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แห่งมาตรา 35 ด้วยไฟต์บังคับจาก (10) ที่ระบุว่า “กลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์”

ซึ่งเจตนารมณ์ดังกล่าว กรรมาธิการยกร่าง “ชุดเรือแป๊ะ” ที่มี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธาน ถอดรหัสออกมาเป็น “คปป.” หรือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ”

ยกเงื่อนไขของการสืบทอดอำนาจมาประกอบว่า “เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่อง จนบรรลุผล รวมทั้งเพื่อป้องกันระงับความขัดแย้งระหว่างคนในชาติ และสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น”

“คปป.” มีอำนาจสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับใช้ในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นที่สุด”

ตรงกันข้ามกับการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ที่ผ่านการออกเสียงประชามติมาด้วยเสียงข้างมากมาหมาดๆ ไม่มีหมวดหมู่ใด ทั้ง 279 มาตรา กำหนดกฎเกณฑ์ให้มี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติฯ” และให้อำนาจมหึมา

แต่ดังที่บอกว่า ต่อให้เซียนเหยียบเมฆ ซือแป๋เรียกป๋าขนาดไหนมาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องยกยอดบริบทแห่ง “บัญญัติ 10 ประการ จากมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาเป็นตัวตั้ง ในการยกร่าง

คณะกรรมการชุด “21 มหาปราชญ์” จึงละเลย “กฎเหล็ก” ดังกล่าวไม่ได้ จำใจต้องนำไปฝังชิปไว้ ใน “หมวดวุฒิสมาชิก” หรือ “ส.ว.”

เดิมทีเดียวได้กำหนดหมวดวุฒิสมาชิกเอาไว้ว่า “ให้ ส.ว. มีจำนวน 250 เลือกไขว้จากสาขาอาชีพ 20 สาขาอาชีพ หลักการเลือกโดยวิธีสมัคร ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ”

แต่ “กาลต่อมา” ต้องแก้ไขปรับปรุงใหม่ ลงใน “บทเฉพาะกาล” ตามคำเสนอแนะของ “แม่น้ำ 4 สาย” ที่ลงนามโดย “พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” เลขาฯ คสช. ที่แทงเป็นหนังสือด่วน มายังกรรมการยกร่างฯ ความว่า

“วาระแรกของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงควรให้มี ส.ว. ชุดแรกมาจากการคัดสรร หรือสรรหา หรือแต่งตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่เป็นธรรม เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ ปลอดจากพรรคการเมือง สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน”

ผลจากคำเสนอแนะของ “แม่น้ำ 4 สาย” หมวดหมู่ “ส.ว.” จึงต้องสนองตอบ “บิวต์อิน” ใหม่ดังนี้

1. ให้ ส.ว. มีจำนวน 250 คน ซึ่งเป็นกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.

2. ที่มาของ ส.ว. มาจากการคัดสรร หรือแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ วิธีการดำเนินการโดยคณะกรรมการอิสระ

3. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เนื่องจากให้สอดคล้องกับช่วงเวลาตามยุทธศาสตร์

“แต่เพื่อประโยชน์ในการพิทักษ์รักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ในกรณีที่มีคุณสมบัติว่า ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือมีเงินเดือนประจำ ควรเปิดให้สามารถแต่งตั้งข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ โดยให้มีจำนวนไม่เกิน 6 คน หรือไม่เกินร้อยละตามสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เข้ามาเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง

ล็อกสเป๊กไว้ 6 ที่นั่ง รองรับหัวแถว “คนมีสี” 6 เครือข่าย ประกอบด้วย 1.”ปลัดกระทรวงกลาโหม” 2.”ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” 3.”ผู้บัญชาการทหารบก” 4.”ผู้บัญชาการทหารอากาศ” 5.”ผู้บัญชาการทหารเรือ” และ 6.”ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”

ว่ากันไปแล้ว เครื่องทุ่นแรงของ “คสช.” กับ “250 ส.ว.” ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่ เป็นแค่ “ไม้ประดับ” ทำให้ดูเนียนตา เพื่ออวดสายตาชาวโลกมากกว่า

“ศูนย์อำนาจ” ตัวจริงเสียงจริงที่ทรงพลัง มีไฮเพาเวอร์สุดๆ แฝงตัวอยู่ที่ “คณะกรรมการ คสช.”

เดิมหลัง “ปฏิวัติ” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 “คณะกรรมการ คสช.” มีเพียง 6 คนเท่านั้น ประกอบด้วย 1.”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้า 2.”พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” ผบ.สส. 3.”พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” ผบ.ทอ. 4.”พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” ผบ.ทร. 5.”พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ผบ.ตร. เป็นกรรมการ 6.”พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” (2-6 ตำแหน่งในขณะนั้น) รอง ผบ.ทบ. เป็นกรรมการ และเลขาฯ

ซึ่งต่อมามีการปรับจูน “คณะกรรมการชุดใหม่ ” ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ คสช. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

ประกาศยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 6/2557 แต่งตั้งบุคคลจากวงการต่างๆ เป็น “คณะกรรมการ คสช.” จำนวน 15 คน

ประกอบด้วย 1.”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้า 2.”พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ” เป็นรองหัวหน้า คสช. 3.”พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” 4.”พล.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” 5.”พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” 6.”พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” เป็นรองหัวหน้า คสช. 7.”พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล” เป็นสมาชิก 8.”พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร” เป็นสมาชิก 9.พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” เป็นสมาชิก 10.”นายมีชัย ฤชุพันธุ์ “เป็นสมาชิก 11 “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นสมาชิก

ที่เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย 12.”พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์วานิชย์” ผบ.ทร. เป็นสมาชิก 13.”พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง” ผบ.ทอ. เป็นสมาชิก 14.”พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ผบ.ตร. เป็นสมาชิก 15.”พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” ผบ.ทบ. เป็นสมาชิกและเลขาฯ คสช.

กรรมการ คสช. โดยตำแหน่ง เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ก็ต้องสลับสับเปลี่ยนให้ผู้ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง เป็นกรรมการ คสช. สืบแทน เช่นเมื่อ “พล.อ.อุดมเดช” พ้นวาระจาก ผบ.ทบ. “พล.อ.เฉลิมชัย” มารับช่วงเป็นทั้งกรรมการและเลขาฯ คสช. แทน

จึงเท่ากับว่า หลังวันที่ 1 ตุลาคม “พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท” ผบ.ทบ. คนใหม่ จะเข้ามาเป็นกรรมการและเลขาฯ คสช. คนใหม่ แทน “พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” ที่เกษียณ และ “พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง” ผบ.ทอ. จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ คสช. แทน “พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง” โดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับ “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” ที่เข้ามาแทนที่ “พล.ต.อ.สมยศ พุ่งพันธุ์ม่วง” อันเป็นโควต้าทัพสีกากี

“คณะกรรมการ คสช.” คือผู้บริหารตัวจริง กุมทุกยุทธศาสตร์ กำหนดทิศทางทุกทิศทาง จะว่าเป็น “โปลิตบูโรแห่งประเทศไทย” ก็ว่าได้

เพราะเป็นคณะที่มีอำนาจสูงสุด