สัมภาษณ์พิเศษ : ‘ดร.อำพน กิตติอำพน’ 12 ปีบนเก้าอี้ ‘ซี 11’ ผู้ร่วมงานกับ ‘7 นายกรัฐมนตรี’!

สัมภาษณ์โดย : อิศรินทร์ หนูเมือง

 

บทสนทนากับ ดร.อำพน กิตติอำพน หรือ “ดร.กบ” เกิดขึ้น ณ ห้องรับแขกบนตึกเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หลังเก่า ซึ่งถูกปรับปรุงและตั้งชื่อห้องใหม่ว่า “ห้องจงรักภักดี”

ก่อนเริ่มลงนั่งสนทนา “ดร.กบ” พาชมกรุสมบัติ-พระเครื่อง และของที่ระลึกจากพระบรมวงศานุวงศ์ และภาพถ่ายในวาระเข้าเฝ้าฯ ถวายงาน ในชีวิตข้าราชการ ระดับ 11 ตลอด 12 ปี ก่อนจะอำลาเก้าอี้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2 สมัย ในวันเกษียณ 30 กันยายน 2559

อาจนับได้ว่า “ดร.กบ” เป็นข้าราชการคนเดียวที่ทุบสถิติ ครองตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ 2 สมัย ตามด้วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีก 2 สมัย เข้านอก-ออกในตึกไทยคู่ฟ้ามาถึง 7 ยุคสมัย 7 นายกรัฐมนตรี

“ดร.กบ” เปิดใจจังหวะชีวิตที่ก้าวผ่านลูกระนาดอำนาจของความขัดแย้งแห่งทศวรรษที่ผ่านมา ท่ามกลางการรัฐประหาร 2 ครั้ง

201608291523403-20061002145931

“ผมอยู่ในห้วงของความขัดแย้งสูงสุดในบ้านเมือง คนถามว่าอยู่ได้อย่างไร ส่วนใหญ่บอกว่า มันรับใช้นักการเมือง อย่างที่ตราหน้าผมตลอดเวลา แต่ผมอยู่ด้วยความเป็นมืออาชีพ วันนี้ผมภูมิใจมาก จะเกษียณอายุวันที่ 30 กันยายนนี้ ไปถามนายกฯ ทุกคนที่ผ่านมาได้ว่า เลขาฯ กบ เป็นอย่างไร ถ้าไปถามทุกนายกฯ วันนี้มีใครมาต่อว่าผมหรือไม่ ไม่มี”

ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล “ดร.กบ” ถามใจนายกรัฐมนตรีคนใหม่เสมอว่า “เลขาธิการสภาพัฒน์ หรือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งนี้ต้องเป็นคนที่นายกรัฐมนตรีไว้วางใจ ผมไม่ต่อรองและผมยินดีที่จะย้ายตัวเองทุกครั้ง พร้อมที่จะไป เปลี่ยนรัฐบาลเมื่อไรผมก็เก็บของทุกครั้ง”

เขายอมรับว่า เคยอยากกลับไปเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ตำแหน่งนี้มีบารมี “พระยาแรกนา” ควบอยู่ด้วย “ดร.กบ” บอกว่าเขาคงบารมีไม่ถึง

“ผมก็มีตำแหน่งโปรดเกล้าฯ ตลอดเวลา 12 ปีที่ดำรงตำแหน่ง นอกจากเป็นเลขาฯ ครม. เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กรรมการสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานธนาคารแห่งประเทศไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 ครั้ง ล้วนเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ”

“ถามว่าอยู่ได้อย่างไร ก็อยู่เป็น…อยู่อย่างจงรัก ตายอย่างภักดี ผมยึดมั่นอยู่อย่างเดียว พระองค์ท่านตรัสว่า ต้องตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์ คือหัวใจหลักของคุณธรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและความตั้งใจทำงานต้องอดทนอย่างพระมหาชนกและใช้ความรู้โดยตลอด”

17-4-e1465293593134

“ผมจะภูมิใจมาก ถ้าจะจดจำผมว่า เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญคนหนึ่งที่เป็นมืออาชีพ ทำงานเพื่อบ้านเมือง ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุ่มเทด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความอดทน ซื่อสัตย์สุจริต ถึงแม้จะโดนอะไรต่างๆ นานา ก็ไม่เคยท้อถอย เรียนรู้จากชาวบ้าน เรียนรู้จากพระบรมราโชวาท คนเราไม่มีใครมีดีทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ผมก็มีข้อเสีย”

อีกคำถาม ที่เขาต้องตอบ คือ เกษียณแล้วเคยอยากเป็นรัฐมนตรีบ้างหรือไม่ เขาตอบ “กี่ครั้งแล้วที่ผมถูก Approved โดยตลอด รัฐบาลนี้ผมก็โดน Approved แต่ผมได้ตั้งปณิธานกับตัวเองว่า ผมจะขอรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะข้าราชการ ถึงแม้ว่าผมเกษียณ ผมก็ไม่เป็น ผมไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นรัฐมนตรี มันเป็นตำแหน่งที่สูงส่งที่ทุกคนอยากเป็น แต่มันสูงเกินความสามารถของผมที่จะเป็นรัฐมนตรีได้”

เขามีเพื่อนเป็นรัฐมนตรีหลายคน แนบแน่นกับคนการเมืองระดับ “เนวิน ชิดชอบ” มีเจ้านายทางการเมืองคนแรกๆ คือ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และ “นิพนธ์ พร้อมพันธุ์”

“ดร.กบ” บอกว่าเขาถูกถล่มจากอำนาจการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย “ไม่ว่าใครจะมาใครจะไป จะเป็นเหลืองจะแดงผมโดนหมดทั้งซ้ายทั้งขวา”

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เขาถูก คสช. เรียกรายงานตัว ถูกกักบริเวณร่วมกับแกนนำ กปปส. และเครือข่าย นปช. แต่เพียงชั่วข้ามคืน นายทหารระดับสูงก็มาชี้ตัวให้เขาออกจากค่ายทหาร

ยุครัฐบาลทหาร “ดร.กบ” บอกสไตล์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ผมอยู่กับท่านช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และในอีก 1 ปี 6 เดือน รวม 3 ปี 6 เดือน เป็นรูปธรรมในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ, ประเทศไทย 4.0 ท่านทำงานอย่างหนัก ไม่ได้น้อยไปกว่านายกฯ ทุกคน และสไตล์และความคิดต่างๆ ในการปฏิรูปประเทศ ก็มีการระดมสติปัญญาคนที่มีความรู้ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศเพื่อฟันฝ่าภาวะเศรษฐกิจได้ ไม่ได้แพ้ยุคคุณทักษิณ”

“ในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศเดินหน้าต่อไปหลังจากการปฏิวัติก็ไม่ได้แพ้ท่านสุรยุทธ์ ในเรื่องความยอมรับในต่างประเทศ เรื่องเศรษฐกิจก็ไม่ได้น้อยไปกว่ายุคคุณอภิสิทธิ์ ที่เน้นเรื่องประชาธิปไตย”

“การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายก็ไม่ได้น้อยกว่าคุณสมัคร ความอดทน ความเป็นนักสู้ เรื่องความจงรักภักดี ไม่ต้องพูดถึง คนเป็นทหารปฏิญาณตนว่าจะเสียสละแม้ชีวิตตั้งแต่เข้าเรียน”

“นายกฯ ประยุทธ์ มีเพียบพร้อมทุกด้าน มีความเป็นผู้นำสูง”

ดร.กบ ประมวลความเห็นยุคนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่า “ท่านสามารถขับเคลื่อนประเทศให้ผ่านความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง เรียกความสามัคคีขึ้นมา ไม่ให้คนกลับมาทะเลาะกัน การสร้างการยอมรับจากต่างประเทศ ผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2550 ออกมาได้”

ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี “นายทักษิณ ชินวัตร” เป็นคนปฏิรูปเศรษฐกิจ-เปลี่ยนแปลงประเทศ ในช่วงวาระ 6 ปี เป็นการเปลี่ยนภาระเป็นพลัง

“ต้องยอมรับว่า การพัฒนาเรื่องสุขภาพ หรือนโยบาย 30 บาท ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีนโยบายเรียนฟรี เป็นเรื่องหลักที่ถูกชูธงขึ้นมา”

ยุค สมัคร สุนทรเวช จุดแข็งสูงสุดคือการขับเคลื่อนโครงการด้านคมนาคม “ท่านเริ่มโครงการต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง โครงการถนนวงแหวนรอบนอก และทางด่วนต่างๆ โครงการรถไฟฟ้า ดำเนินการได้เร็วที่สุดยุคนี้”

ยุคนายกฯ นอกทำเนียบ “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” ดร.กบ บอกว่า “ได้ทำงานกับท่านในช่วงสั้นๆ เพราะท่านไม่ได้เข้าทำเนียบรัฐบาลเลย ตลอด 70 กว่าวัน เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2552 โดนม็อบพันธมิตรฯ ปิดสภา ผมก็ปีนสภาข้ามมากับคุณสมชาย”

มาในสมัย “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีคนนี้ พลิกชะตาชีวิต “ดร.กบ”

“ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ ชวนผมมาเป็นเลขาฯ ครม. ช่วงนั้นผมคิดว่าตัวเองจะเหมาะกับตำแหน่งเลขาฯ ครม. หรือไม่ แต่ท่านเป็นคนให้ความเห็นว่าเลขาธิการ ครม. ไม่ใช่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของการบูรณาการงานเศรษฐกิจหลายมุม”

“นายกฯ อภิสิทธ์ เป็นเทคโนแครต ยึดในหลักการประชาธิปไตย ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน คิดเป็นระบบ ทำงานหนัก ขับเคลื่อนทุกอย่างอย่างมีระบบ มีความเป็นนักวิชาการ มีแนวความคิดรุ่นใหม่”

“เป็นคนรับฟังความคิดเห็น ผมทำงานแบบเป็น Partnership กับท่าน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น ท่านอาศัยมุมของผมที่เคยอยู่ภาคเกษตร เคยเป็นเลขาฯ สภาพัฒน์ เพื่อหาทางออกในเชิงการเมืองและแก้ปัญหาบางเรื่องในขณะนั้น”

“เป็นเทคโนแครตที่มาจากสายการเมือง ทำการบ้านหนัก เข้าใจประเด็นด้านการเมือง ใช้หลักบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ให้เกิดความเสียหายทางด้านการเมือง ก่อนจะยุบสภา และเป็นที่มาของการประชุม 125 วาระ จนถึงตี 2 ช่วงพฤษภาคม 2554”

นายกรัฐมนตรีที่เริ่มงานการเมืองจาก “ศูนย์” ต้องเป็นคนที่ “ยอมทุกอย่าง” เพื่อก้าวผ่านวิกฤตการเมือง ด้วยความอดทน ถ่อมตน และเรียนรู้เร็ว คือคำจำกัดความของ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

“สมัยคุณยิ่งลักษณ์ ท่านต้องต่อสู้ในเชิงการทำงานหนัก ในเรื่องความรู้ ความเข้าใจในการบริหารราชการแผ่นดิน คุณยิ่งลักษณ์เริ่มที่ Zero จริงๆ”

“เป็นรัฐบาลได้ถึง 2 ปี ทั้งที่เข้ามาเจอหมัดแรกก็เกือบจะโดนน็อก แล้วมาเจอเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 แต่เป็นคนอดทนต่อแรงเสียดสีทั้งหมดจึงอยู่มาได้ และตัดสินใจที่จะยุบสภาเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง”

“ผมยืนยันได้ว่านายกรัฐมนตรีทุกคนที่ผ่านมา มีความจงรักภักดีไม่ได้น้อยกว่าหรือแตกต่างกันเลย”