คำ ผกา : สิ่งที่ต้องการ

คำ ผกา

พักนี้ได้อ่านความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ความสุข” ในแง่ที่ว่า ระหว่างเงินกับความสุข เรามักหลงผิดไปให้ความสำคัญกับเงินจนลืมการหาความสุข

ความสุขที่ว่านั้น เช่น การมีเวลาสูดดมดอกไม้ข้างทางบ้าง

การสบตากับแมวจรจัดที่เดินผ่านเราบ้าง

การเห็นภาพคนไร้บ้านนอนหลับละไมริมคลองแล้วพึงย้อนถามตัวเองบ้างว่า วันๆ เอาแต่ทำมาหากิน หาเงินหาทอง แต่ได้มีโอกาสได้หลับอิ่มยิ้มละไมอย่างคนสิ้นไร้ไม้ตอกข้างถนนเขาบ้างหรือเปล่า ได้ให้เวลากับคนในครอบครัว มีความสุขกับครอบครัวบ้างหรือเปล่า

แหม…ฟังแล้วก็ชวนเคลิ้มดีจริงๆ ว่า นั่นสิ ทำไมเราไม่เห็นความสุขที่อยู่รอบตัวเรา

ทำไมเราต้องอยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากมีสิ่งนั้นสิ่งนี้

จากนั้นความรู้สึกที่ตามมาคือ ความรู้สึกผิด เช่น เอ๊ะ เราให้เวลากับลูกน้อยไปแน่ๆ เลย

เราให้เวลาผัวเราหรือเมียเราน้อยไปแน่ๆ เลย

โอ๊ย ตายแล้ว เดือนนี้ยังไม่ได้พาพ่อแม่ออกไปกินข้าวนอกบ้านบ้างเลย เรานี่มันลูกชั่ว ลูกอกตัญญูแท้ๆ มัวแต่ทำงานหาเงิน จนลืมให้เวลาพ่อแม่ ประเดี๋ยวเหอะ เขาจากเราไปแล้วจะมานั่งเสียใจทีหลังว่า ตอนเขายังอยู่ทำไมไม่ดูแล ฯลฯ

ว่าแล้ว ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ หันมาใส่ใจคุณค่าภายในมากขึ้น หัดมองท้องฟ้า ดอกไม้บ้าง ทำงานน้อยลงนิดนึง อ่านนิทานให้ลูกฟังบ้าง นั่งคุยกับลูก ใช้เวลากับเขา ทำกับข้าวให้สามีหรือภรรยากินบ้างก็ดี แล้วต้องไปเยี่ยมพ่อแม่ให้บ่อยกว่านี้ อยู่กับท่านนานๆ ใช้เวลากับท่านเยอะๆ – ความสุขน่ะเงินซื้อไม่ได้ เข้าใจไหม?

 

ทีนี้พอจะลงมือทำเข้าจริงๆ เกิดอะไรขึ้น

เอ๊ะ บ้านต้องผ่อน รถต้องผ่อน ค่าเทอมลูก ค่าเรียนกวดวิชาลูก ค่าเรียนศิลปะลูก

อ้าว แม่ไม่สบายเข้าโรงพยาบาล ไหนจะไปทำงาน ไหนจะวิ่งพาแม่ไปหาหมอ รถก็ติด โรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงเรียนลูก ล้วนแต่อยู่คนละทิศละทางทาง กรี๊ด ไหนจะค่ายา ค่าโรงพยาบาล อ้าว ค่าประกันรถ ค่าประกันชีวิตตามมาเก็บอีกแล้ว

เอ่อ… อย่าถามนะว่ามีเวลาดูดอกไม้เหี้ยอะไรบานอยู่ข้างถนนบ้างหรือเปล่า แค่จะเอาชีวิตให้รอดไปวันๆ โดยที่ตัวเองไปทำงานทัน ส่งลูกไปโรงเรียนได้ และแม่ไม่ถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลก็บุญแล้ว ไม่นับว่าจะหมุนเงินให้ใช้เดือนชนเดือนได้ยังไง

แล้วที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำงานให้น้อยลง จะให้ความสำคัญกับเงินให้น้อยลง จะนั่งมุ้งมิ้ง ฟรุ้งฟริ้งกับครอบครัวให้มากขึ้น เสาร์ อาทิตย์พากันไปปั่นจักรยาน ปูเสื่อ ปิกนิก ฟังเสียงนกร้อง นอนดูเมฆ ฟังเสียงบทเสียงฝน

ทั้งหมดนี้ อยู่ที่ไหน ทำได้อย่างไร?

 

ที่กล่าวมาข้างต้นยังเป็นชีวิตชนชั้นกลาง ลองสมมุติตนเองเป็นแรงงานรับค่าแรงวันละสามร้อยบาท วันไหนหยุดงาน วันนั้นไม่ได้เงิน ค่าแรงสามร้อยบาทต้องกินข้าวสามมื้อ จ่ายค่าเช่าห้อง จ่ายค่ารถ เก็บเงินส่งให้พ่อแม่ ถ้ามีลูกฝากไว้ที่บ้านนอกก็ต้องเก็บเงินส่งให้ลูกด้วย

อย่าเพิ่งถามพวกเขาเรื่องความสุขเลย เอาแค่คุณภาพชีวิตในระดับพื้นฐาน อาหารครบห้าหมู่ กินครบมื้อ ห้องน้ำห้องส้วมสะอาด เจ็บป่วยได้นอนพัก ฯลฯ แต่ว่าสิ่งเหล่านี้มีหรือยัง?

เมื่อสมมุติตัวเองเป็นแรงงานที่รับค่าแรงวันละสามร้อยบาท ลองถามตัวเองดูว่า อะไรที่จะให้มีความสุขได้บ้าง?

มีเงินส่งให้พ่อแม่

มีเงินเลี้ยงลูก

มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน (หากเราจะเรียกห้องเช่าราคาถูกว่าบ้าน)

มีเงินกินหมูกระทะตอนสิ้นเดือนบ้าง

เขียนมาสี่ข้อ ก็เจอกับคำว่า “เงิน” อยู่ตั้งสี่คำ แล้วใครที่ไหนช่างมาบอกว่า “สังคมของเราให้ค่ากับความสุขน้อยไปและให้ค่ากับเงินมากเกินไป”

จะว่าไปแล้ว แนวคิดนี้ไม่ใหม่เลย เราถูกสอนมาว่า เงินซื้อความสุขไม่ได้ เงินซื้อความรักไม่ได้ เงินซื้อชีวิตไม่ได้ จากนั้นเราก็อยู่ในสังคมที่มีกระบวนการทำให้การ “มีเงิน” และการ “หาเงิน” ดูเป็นบาป ดูเป็นความชั่วร้าย ยิ่งการหาเงินที่ “มิชอบ” เช่น การหาเงินของกลุ่มทุนสามานย์ ยิ่งชั่วร้ายกว่าสิ่งใดในโลกหล้า ยิ่งการหาเงินที่ได้มาจากการคอร์รัปชั่น สิ่งชั่วจนต้องเอาไปประหารชีวิต

ในขณะที่เราถูกสอนว่า เงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่เราเคยระลึกหรือไม่ว่า แม้แต่ความสุขราคา 79 บาท จากการกินหมูกระทะ ของชนชั้นกรรมาชีพมันก็ยังต้องใช้เงิน แถมยังเป็นเงินถึงร้อยละห้าสิบของรายได้ต่อวันของเขา

เราถูกสอนว่าเงินซื้อความรักไม่ได้ แต่เราเคยเห็นมหาเศรษฐีแต่งงานกับกรรมกรหรือไม่?

เราถูกสอนว่าเงินซื้อชีวิตไม่ได้ แต่เราสามารถไปโรงพยาบาลโดยไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียวได้หรือไม่?

และเราปฏิเสธได้หรือไม่ว่า บรรดาเศรษฐี มหาเศรษฐีที่ไม่แก่ ไม่เหี่ยว และแข็งแรงฟิตเปรี๊ยะตลอดเวลาในสมัยนี้ก็ได้มาด้วยการมีโภชนาการอันได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญ เสริมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ซื้อได้ด้วยเงินเท่านั้นอันช่วยชะลอวัยของผู้มีเงินมากมายเหล่านั้นเอาไว้อย่างสง่างาม เงินอาจซื้อชีวิตไม่ได้ แต่เงินซื้อทางเลือกในการรักษาสุขภาพได้แน่นอน

หลายคนเถียงว่า โอ๊ย คนมีสตางค์ตั้งเยอะตั้งแยะที่ไม่มีความสุข เครียด ซึมเศร้า สุขภาพก็ไม่ดี ล้มเหลวในการเลี้ยงดูลูกเต้า

แต่เราก็สามารถโต้แย้งได้เช่นกันว่า หากคนที่มี “เงิน” เลือกที่จะไม่ใช้เงินไปในทางที่จะจรรโลงชีวิตของเขาในทางที่ “เรา” เห็นว่า “ดี” หรือน่าจะทำให้ชีวิตมี “ความสุข” มากกว่า มันก็เป็นสิทธิของเขา ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะเที่ยวไปตัดสินใครต่อใครว่าบ้าเงินจนลืมหาความสุข

และถึงที่สุดแล้วคำว่า “ความสุข” นั้นด้วยตัวของมันเองเป็นคำที่ว่างเปล่า กลวงโบ๋ เป็นอันมาก เพราะเราแทบจะนิยามไม่ได้เลยว่า ความสุขหมายถึงอะไร

เช่น สำหรับฉันความสุขคือการได้นอนอ่านนิยายทั้งวันและมีอาหารอร่อยๆ กิน ได้อยู่บ้านที่สะอาดมากๆ เป็นระเบียบมากๆ

สำหรับบางคนความสุขอาจจะหมายถึงการได้แต่งตัวสวยๆ

สำหรับบางคนอาจหมายถึงการได้เข้าวัดนั่งสมาธิ

สำหรับบางคนอาจหมายถึงการได้ปล่อยนกปล่อยปลา

สำหรับบางคนอาจหมายถึงการได้มีความรักที่สมหวัง

สำหรับบางคนหมายถึงการทำได้ประโยชน์ให้คนอื่น

สำหรับอีกหลายคนอาจหมายถึงการทำงานประสบความสำเร็จ

สำหรับคนอีกไม่น้อยความสุขหมายถึงการมีหลักประกันในสิทธิเสรีภาพจริงๆ ตามรัฐธรรมนูญ

ฯลฯ


พิจารณาแล้วจะเห็นว่า มันแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะรักษาความสุขเหล่านี้ไว้กับตัวเราได้ตลอดไป

มีนิทานปรัมปราเล่า บุรุษผู้ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จในทุกสิ่งและเชื่อว่าตนคือคนที่มีความสุขที่สุดในโลกคนหนึ่งถามนักปราชญ์ผู้แสนเปรื่องปราดคนหนึ่งว่า เขาคิดว่าใครคือคนที่มีความสุขที่สุดในโลก

ปรากฏว่า บุคคลที่นักปราชญ์เอ่ยนามมาล้วนแต่เป็นคนที่ตายไปแล้ว

บุรุษผู้นั้นงงงวยเป็นอันมาก ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ส่วนนักปราชญ์ก็ชี้แจงว่า ตราบใดที่เรายังไม่ตาย เราไม่มีวันรู้ได้เลยว่า อันตัวเรานั้นคือผู้ที่มีความสุขจริงๆ หรือเปล่า

เพราะใครจะคาดเดาได้ว่า ความทุกข์ ความหายนะ อาจมาเยือนเราในอีกหนึ่งวินาทีนับจากที่เรานั่งคุยกันอยู่ตอนนี้ก็ได้

คนที่คิดว่าตัวเองมีความสุขมาก ณ นาทีนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อีกหนึ่งนาทีข้างหน้าคนรักของเราอาจถูกรถชนตายอันทำให้เขาต้องประสบกับความทุกข์โดยเฉียบพลันก็เป็นไปได้

การใฝ่ฝันในเรื่องของ “ความสุข” จึงเป็นเรื่องที่เหลวไหลที่สุดแล้วของมนุษย์

เมื่อเช่นนั้น แทนการให้ค่าของความสุข และการเอาความสุขไปวางไว้ในฐานะคู่ตรงข้ามของเงิน หรือวัตถุ จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวอย่างมาก เพราะถ้าหากเราอยากเตือนคนให้ใช้ชีวิตอย่างสมดุลระหว่างการงาน เงิน ครอบครัว สัมพันธภาพ มิตรภาพ

เราน่าจะใช้คำว่า “คุณภาพชีวิต” มากกว่าคำว่า “ความสุข”

 

เมื่อเราโฟกัสไปที่คุณภาพชีวิต เราจะไม่รังเกียจ “เงิน” หรือเห็น “เงิน” เป็นสิ่งโสโครก เพราะในโลกทุนนิยมนี้เราต้องจำนนต่อข้อเท็จจริงว่า “เงิน” คือเครื่องมือในการเข้าถึงคุณภาพชีวิต อย่างน้อย ปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตนั้นต้องใช้เงินแลกมาทั้งสิ้น

ดังนั้น ในการวัดระดับการพัฒนาของประเทศ เราจึงต้องดูกันที่รายได้ต่อหัวของประชากร ดูดัชนีค่าครองชีพ ดูขีดความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข

พูดอย่างหยาบคือดู “ความมั่งคั่ง” ของประชากร บวกกับระดับความมั่นคงปลอดภัยทางสังคม ซึ่งวัดจากระดับของเสรีภาพในการพูด คิด เขียน แสดงความคิดเห็น และระดับของการได้รับการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยโดยรัฐ

พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า หากรัฐสามารถจัดการให้พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในระดับที่ “ต่ำ” ที่สุด เช่น ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมแล้ว มีสวัสดิการจากรัฐอย่างเหมาะสมแล้ว มีเครื่องอำนวย “ความสุข” เช่น สิ่งแวดล้อมดี มลพิษน้อย อาหารปลอดภัย เมืองปลอดภัย มีมิวเซียม มีศิลปะให้เสพแล้ว คนจน คนพิการ คนชายขอบ ได้รับการดูแลประมาณหนึ่งแล้ว

ที่เหลือจากนั้นหากใครปรารถนาความสุขที่สูงส่งกว่านั้น เช่น การบรรลุธรรม ความสุขทางจิตวิญญาณ ความสุขจากการเป็นมังสวิรัติ ความสุขจากการไม่ทำงาน ความสุขแบบปฏิเสธทุนนิยม อยากแก้ผ้า ขุดเผือก ขุดมันกิน ไม่สะสมโภคทรัพย์ อยากนอนหายใจทิ้ง อยากขี่ควาย อยากเอาลูกเข้าโรงเรียน อยากเอาลูกเข้าโฮมสกูลสอนเอง อยากวิปัสสนา จงกรม อยากเลิกใช้เงิน เกลียดเงิน อยากทำบ้านดิน อยากปลูกผักกินเอง อยากหนีจากชีวิตทายาทมหาเศรษฐีหมื่นล้านไปทำนา อยากทำอะไรก็ตาม เชิญทำ ไม่มีใครว่า ไม่มีใครตำหนิ เป็นสิทธิส่วนบุคคลโดยแท้

แต่การพร่ำพูดเพ้อเจ้อเรื่องสังคมเสื่อมทรามเพราะให้ค่ากับเงินมากกว่าความสุขในขณะที่สังคมไทยมีวิกฤติในการกระจายความมั่งคั่งอย่างวิบัติมาหกทศวรรษติดต่อกัน รุนแรงกว่าสังคมไทยยังเผชิญกับภาวะวิกฤติในทาง social security ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มิพักพูดถึงเรื่อง สิทธิ เสรีภาพที่พึงมีในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์มีศรี – จึงเป็นการพูดจาที่เหลวไหลน่าละอาย

เพราะสิ่งที่สังคมไทยต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือการกระจาย “เงิน” หรือ “ความมั่งคั่ง” หรือที่เรียกกันว่า “การลดความเหลื่อมล้ำ”

และสิ่งที่สังคมไทยต้องการมากที่สุดตอนนี้ไม่ใช่ “ความสุข” แต่คือ “ความปลอดภัย” ในชีวิต ทรัพย์สิน และอนาคต!