มุกดา สุวรรณชาติ : 2560…สถานการณ์การ 3 ก๊ก ยังคงอยู่ การต่อสู้ทางชนชั้น ไม่มีกรอบเวลา

มุกดา สุวรรณชาติ

ผลประโยชน์ทางชนชั้น…

ในช่วงหลายปีหลังนี้มีโครงการจำนวนมากที่อำนวยประโยชน์ให้ประชาชนและมีการถกเถียงกันว่าเหมาะสมหรือไม่ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค การเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาททั่วประเทศ หวยบนดิน หวยใต้ดินใครได้ประโยชน์ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนเพื่อส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศ โครงการรับจำนำข้าว โครงการประกันราคาข้าว โครงการบัตรคนจน

แต่ละโครงการยิ่งเกี่ยวพันกับคนจำนวนมากก็ต้องยิ่งใช้เงินมาก มีงบประมาณที่จำกัด จะแบ่งไปใช้กันอย่างไร

เช่น ทำโครงการรถไฟฟ้าสาย 1 ต้องใช้เงินถึง 4 หมื่นล้าน แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาจราจรและลำเลียงคนได้จำนวนมาก แต่เงิน 4 หมื่นล้าน ถ้าไปทำถนนในชนบท สามารถทำได้หลายพันหมู่บ้าน

การเสนอนโยบาย ทางการเมือง จึงมีคนได้ประโยชน์ และคนเสียประโยชน์

การแย่งชิงเพื่อเข้ากุมอำนาจรัฐ จึงไม่ใช่ความขัดแย้งส่วนตัว แต่เป็นความขัดแย้งของกลุ่มคน

แต่การแข่งขันทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตามกฎ มีการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยถึง 3 ครั้ง ในช่วงปี 2549-2557 ล้วนแล้วแต่ใช้อำนาจนอกระบบ มิได้ใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตย

ให้ดูตัวอย่างของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร คนนิยมมากเท่าไร ก็ยังถูกเอาปืนรัฐประหารจนหลุดออกจากตำแหน่ง

อดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่เคยให้โอกาสทำงาน ปิดล้อมสภา ปิดล้อมสนามบิน และหลุดจากอำนาจไปเพราะตุลาการภิวัฒน์

…การแบ่งแยกและปกครองดำเนินต่อไป ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวจนเกิดความรุนแรงในปี 2553 ที่รัฐบาลใช้กองกำลังติดอาวุธสลายการชุมนุมของประชาชนกลางเมือง ตายไปเกือบ 100 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ผู้เกี่ยวข้องมีทั้งทหารและพลเรือน

เรื่องนี้ทำให้สถานการณ์ปรองดองไม่เกิดง่ายๆ การปรองดองอย่างแท้จริงจะทำไม่สำเร็จ จะต้องมีฝ่ายแพ้ไปข้างหนึ่ง ไม่มีใครยอมลงจากอำนาจ ไม่มีใครยอมให้ถูกลงโทษ

และในที่สุดก็มีการใช้ตุลาการภิวัฒน์ ปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐประหารซ้ำในปี 2557 นี่เป็นสถานการณ์ย้อนกลับ มีการปรับแผนปี 2551 และ 2549 มาใช้ร่วมกัน

สรุปว่าการต่อสู้แบบนี้ไม่มีกรอบเวลาและกติกา ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล คู่ขัดแย้งเปลี่ยนตัวชนไปได้เรื่อยๆ ถ้ากำหนดกติกาที่เหมาะสม ยุติธรรม ทำได้จริง ความรุนแรงจะลดลง ความสงบก็จะอยู่ได้นาน

 

สถานการณ์หลังรัฐประหาร 2557

2558-2559 มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งให้อำนาจกับคณะรัฐประหาร มากกว่าฉบับ 2550

ปลายปี 2559 มีการเปลี่ยนองค์พระประมุข เนื่องจากการสวรรคตของรัชกาลที่ 9

หลังรัฐประหาร 2557-2560 ปรากฏ 3 ขั้วอำนาจ ที่จะต่อสู้ทางการเมือง คือ

ก๊กที่ 1 คือ ปชป. และกลุ่มอำนาจเก่า ที่อ่อนกำลังลง

ก๊กที่ 2 ยังเป็นกลุ่มทักษิณ-เพื่อไทย ที่อำนาจการปกครองหายไป

ก๊กที่ 3 คือ กลุ่ม คสช. เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ ที่ปรากฏโฉมแบบเล็กๆ เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี กลับกลายเป็นใหญ่ที่สุด

นับตั้งแต่ 2557 ในทางการเมืองมีก๊กที่ 3 เป็นขั้วการเมืองซึ่งเกิดใหม่หลังรัฐประหาร เดิมไม่มีฐานการเมืองสนับสนุนเพราะไม่ใช่พรรคการเมือง แต่สามารถเร่งขยายฐาน โดยการวางกำลังทั้งกว้างทั้งลึก มีการวางกำลังใน คสช. แบบให้มีส่วนร่วม ในการจัดวางตำแหน่ง ครม. มีการโยกย้ายข้าราชการจำนวนมาก

จึงมีคนกล่าวว่าก๊กที่ 3 เป็นพรรคข้าราชการ ซึ่งเป็นธรรมชาติเมื่อได้อำนาจมาโดยการรัฐประหาร ก็จำเป็นต้องเอาข้าราชการทั้งระบบมาร่วม เพราะโดยโครงสร้างแล้วข้าราชการจะต้องสนับสนุนการทำงานของ คสช. เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ

สรุปได้ว่า สถานการณ์สามก๊ก ยังคงอยู่ และชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วงเวลาไม่นาน ก๊กที่ 3 ของ คสช. เติบโตแซงหน้าอีกสองก๊ก ถือว่าได้เปรียบทั้ง 8 ด้าน

 

วิเคราะห์ความได้เปรียบ-เสียเปรียบ

1.อํานาจบริหารขณะนี้ ก๊กที่ 3 ได้เข้ามาปกครองและบริหารแทนที่ก๊กที่ 2 แม้ไม่มีนโยบายใหม่และผลงานที่โดดเด่น แบบยิ่งลักษณ์ หรือทักษิณ แต่ก็สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ทั้งหมด สภาพการบริหารตั้งแต่ชั้นบนถึงชั้นล่างมีการโยกย้ายเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ระดับสูงและระดับกลางตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา

ดังนั้น สามารถพูดได้ว่าขณะนี้อำนาจบริหารอยู่ในมือของก๊กที่ 3 ทั้งหมดแล้ว ปชป. และกลุ่มอำนาจเก่า ก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ

2. อํานาจนิติบัญญัติ ก๊กที่ 3 สามารถตั้งคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์ พวกที่นิยมการรวมศูนย์อำนาจที่อยากไต่เต้าโดยทางลัด เข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ สภาปฏิรูปฯ และองค์กรอื่นๆ ในจำนวนนั้นอาจมีคนที่มีความคิดดีๆ อยู่บ้างแต่ก็ต้องดำเนินการไปตามเสียงส่วนใหญ่ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเป้าหมายทางการเมือง

ดังนั้น อํานาจนิติบัญญัติจึงดำเนินการไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ

ซึ่งบางเรื่องก็อาจเป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องบรรลุเป้าหมายทางการเมือง และถ้าหากเรื่องใดทำไม่ได้ ก็ยังสามารถใช้กฎหมายพิเศษมาตรา 44 ดำเนินการแก้ไขหรือเสนอมาตรการพิเศษเพื่อแก้ปัญหาหรือทำให้เป้าหมายบรรลุตามต้องการ

ซึ่งอำนาจแบบนี้หรือสภาที่มีความเอกภาพแบบที่ไม่มีฝ่ายค้านไม่สามารถทำได้ในระบอบประชาธิปไตยตามปกติ ตอนนี้อยู่กับก๊กที่ 3 เท่านั้น

3. อำนาจตุลาการในที่นี้หมายถึงอำนาจที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่อำนาจจับกุมคุมขังจากเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ผ่านอัยการและผ่านการตัดสินของศาลต่างๆ รวมทั้งอำนาจขององค์กรอิสระขณะนี้ต้องถือว่าก๊กที่ 1 และก๊กที่ 3 มีข้อได้เปรียบมากกว่า

ถ้าดูจากคดีต่างๆ จะพบว่าปัญหาทางคดีของกลุ่มอำนาจเก่า ที่เคยเคลื่อนไหว ยังยืดเยื้อ การดำเนินการตามระบบช้ามากแม้คดีจะเกิดตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันก็ร่วม 10 ปีแล้วยังดำเนินการไปไม่ถึงไหน แต่คดีของก๊กที่ 2 แม้เกิดขึ้นภายหลังว่าจะถูกจัดการอย่างรวดเร็วและได้รับโทษที่คนทั่วไปมองว่ามิได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

การเรียกร้องความยุติธรรมจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่และมีคนบอกว่ากระบวนการยุติธรรมคืออาวุธชนิดใหม่ ที่ใช้ในการแย่งชิงอำนาจอย่างได้ผล สามารถจำกัดบทบาทของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเด็ดขาดเริ่มตั้งแต่คนเล็กคนน้อยจนไปถึงผู้บริหารของพรรคการเมืองข้าราชการชั้นสูงแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรี

แต่ข้อเสีย คือคนทั่วไปเริ่มไม่ยอมรับระบบยุติธรรมแล้ว

4. อำนาจจากกำลังอาวุธ ส่วนใหญ่หลังการรัฐประหารอาจมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการกุมอำนาจทหารบ้าง อาจมีความไม่ลงตัวกันก็เป็นในกลุ่มอำนาจเก่าด้วยกันเองเพราะตำแหน่งมีน้อย คนมีมาก การสนับสนุนของกำลังทหารมีผลโดยตรงต่ออำนาจที่มาจากการรัฐประหาร

ซึ่งอำนาจจากการรัฐประหารขณะนี้เป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มีการรวมศูนย์เด็ดขาดดังนั้นจึงมีอิทธิพลต่ออำนาจอื่นๆ ทุกชนิด

สถานการณ์ในขณะนี้มิใช่ว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด ขณะนี้อำนาจของก๊กที่ 3 เป็นอำนาจที่ใหญ่กว่า

5. อำนาจนอกระบบ ขณะนี้อำนาจนอกระบบมีการเปลี่ยนแปลง ผู้มีบารมีดั้งเดิม อ่อนกำลังลงไป อำนาจของก๊กที่ 1 ก็อ่อนไปด้วย ที่กล้าแข็งขึ้นมาเป็นของก๊กที่ 3 แต่ยังมีอำนาจบารมีที่อยู่เหนือระบบ ที่แผ่ขยายกำลังเข้ามาในทุกวงการ และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

6. การสนับสนุนของมวลชน ก๊กที่ 2 เคยมีมวลชนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก และก็ยังคงเป็นเช่นนั้น แต่เริ่มมีความคิดต่อแนวทางการต่อสู้ที่ไม่เหมือนกันและมีการแตกกันบ้าง

แต่กำลังสนับสนุนมิได้มีการจัดตั้งในรูปแบบของพรรคการเมือง หรือในรูปแบบขององค์กรจัดตั้งทางทหาร ไม่มีการบริหารที่เป็นรูปแบบ ทำให้ไม่เกิดพลังอะไรเป็นพิเศษ

ถ้าไม่มีการนำหรือมีองค์กรจัดตั้งที่เข้ามาเคลื่อนไหวสภาพเช่นนี้ก็จะดำรงอยู่ไปเรื่อยๆ และไม่มีแรงกดดันอะไรต่อฝ่ายตรงข้าม นอกจากหวังคะแนนในการเลือกตั้ง

คนที่สนับสนุนก๊กที่ 1 ขณะนี้ก็แยกย่อยออกเช่นกัน บางกลุ่มอาจจะสนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์ดั้งเดิม บางกลุ่มสนับสนุนก๊กที่ 3 เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันจะบริหารประเทศต่อไปได้ แต่ทุกกลุ่มเคลื่อนไหวแบบไม่มีเสียงดังมากนัก

7. การสนับสนุนจากนานาชาติ ก๊กที่ 2 ชูแนวทางประชาธิปไตยแบบสากลได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติมากกว่า แต่ก๊กที่ 3 ก็ปรับตัว วิ่งเข้าหากลุ่มต่างประเทศมากขึ้น เมื่อมีการประกาศเลือกตั้งแรงกดดันจากต่างประเทศก็จะลดลง ดังนั้น การเลือกตั้งจึงยังเป็นหัวใจสำคัญของการได้รับการยอมรับจากสากลซึ่งจำเป็นจะต้องจัดขึ้นมา

8. การสนับสนุนผ่านสื่อสารมวลชน ที่อยู่ในรูปแบบหนังสือพิมพ์โทรทัศน์วิทยุซึ่ง ส่วนใหญ่เลือกข้างแล้ว ใครชอบฝ่ายไหนก็เชียร์ฝ่าย นั้นไม่ชอบก็ด่า ดังนั้น ประชาชนมีความเข้าใจและเลือกที่จะอ่านและเลือกที่จะฟัง แต่สิ่งที่มีเหตุผลจะได้รับการยอมรับ และแชร์ออกไปมากกว่า

อำนาจและการสนับสนุนทั้ง 8 ข้อ มีผลต่อการปกครองในปัจจุบัน และจะมีต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

ถ้ามีการเลือกตั้งใน 6 เดือนนี้ ก๊กที่ 3 จะชนะแน่นอน นายกฯ ก็คนเดิม เราจะอยู่ในสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจแบบนี้ไปอีกนาน อย่างน้อยก็ต้องนานเท่ากับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560

แต่ถ้าเกิน 1 ปี อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้จากคนกันเอง เพราะในอำนาจทุกด้านมีความขัดแย้งแฝงอยู่