จรัญ พงษ์จีน : คสช. กับโปรเจ็กต์ยักษ์ ดัน “ไทยแลนด์ 4.0”

จรัญ พงษ์จีน

ไล่ลำดับภาพ “อภิมหาโปรเจ็กต์” ด้านการขนส่งคมนาคมของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นโมเดลกว่า 20 โครงการลอยเคว้งอยู่กลางอากาศ ถึงวันนี้ยังไม่มีโปรเจ็กต์ไหนเป็นรูปเป็นร่างจนสามารถประกาศโชว์เป็นผลงานระดับ 5 ดาวให้ชาวบ้านยิ้มเปื้อนหน้า

โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา เป็นกรณีตัวอย่าง รัฐบาลชุดนี้ใช้เวลาปลุกปล้ำเจรจากับรัฐบาลจีนกว่า 2 ปีก็ไม่สามารถหาข้อสรุปลงตัวจนกระทั่ง คสช. ต้องงัดคำสั่งพิเศษ ที่ 30/2560 หวังเพิ่มประสิทธิภาพโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ให้เดินหน้าเร็วที่สุด

ถึงกระนั้นเมกะโปรเจ็กต์ “ไฮสปีดเทรน” ที่ตั้งเป้าใช้งบประมาณเฉียดๆ 180,000 ล้านบาทต้องแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 เฟส

เฟสแรก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร สถานีกลางดง-ปางอโศก ค่าก่อสร้างประมาณ 200 ล้านบาท

ตามแผนเดิมจะตอกเข็มก่อสร้างเฟสนี้ในเดือนตุลาคม ต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนหน้า

เฟส 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 ก.ม. เฟส 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 119 ก.ม. และเฟส 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 119 ก.ม. กว่าจะลงมือสร้างเสร็จสมบูรณ์ต้องรอยาวไปถึงปี 2564

ด้านโครงการรถไฟรางคู่ 5 สาย การรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งใจจะนำร่องหวังพัฒนาระบบการจัดการขนส่งสินค้าและบริการ ชาวบ้านไม่ต้องนั่งรอรถไฟสับหลีกนานๆ ลดเวลาเดินทาง ประหยัดพลังงานนั้น ปรากฏว่า มีข่าวครึกโครมเรื่องล็อกสเป๊กจนต้องรื้อทีโออาร์กันใหม่ และเพิ่งประกวดราคาทั้ง 9 สัญญา มูลค่า 69,531 ล้านบาทไปเมื่อไม่นานมานี้

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสารพัดสี ทั้งสีส้ม เหลือง ชมพู ม่วง แดงเข้มอ่อน ในเขต กทม.-ปริมณฑล มูลค่ารวมเบ็ดเสร็จ 332,900 ล้านบาท ก็เพิ่งลงมือก่อสร้างแค่บางส่วนโครงการ

จากภาพตัวอย่างนี้พอสรุปว่าโครงการวางพื้นฐานด้านการขนส่งคมนาคมที่รัฐบาล “คสช.” วาดฝันเอาไว้ ถ้าไม่มีอะไรสะดุดกลางคัน เสร็จสิ้นสมบูรณ์ใช้งานได้จริงในปี 2563-2564

ถึงเวลานั้น ไม่รู้ว่า “คสช.” แปลงกายกลายสภาพเป็นแบบไหน?

 

หันไปดูโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมบ้าง มองภาพรวมๆ ตลอดช่วง 3 ปีของ “คสช.” เดินหน้าลุยเรื่องนี้ได้น้ำได้เนื้อกว่าการขนส่งคมนาคมเยอะทีเดียว

ยิ่งถ้าย้อนเปรียบเทียบกับอดีต รัฐบาล “บิ๊กตู่” สามารถวางโครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคมได้เต็มประสิทธิภาพและเร็วกว่ารัฐบาลยุคประชาธิปไตยจ๋าเสียอีก

ปี 2558 คสช. ไฟเขียวให้ กสทช. เปิดประมูลคลื่น 4 จี มีเงินเข้ารัฐ 2 แสนล้านบาท แถมบริษัทผู้ชนะประมูลยังเทเงินสร้างโครงข่ายขยายธุรกิจอีกนับแสนล้านบาทและธุรกิจการค้าขายผ่านออนไลน์พุ่งโลด

หลังประเทศไทยใช้คลื่น 4 จี มาตรฐานการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทยดีขึ้นมาก ล่าสุด ดัชนีการเชื่อมต่อกับโลก (global connectivity index) นั้น ไทยได้รับการยกระดับมาอยู่ที่อันดับ 33 ดีกว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนามและอินเดียเสียอีก

นอกจากนี้แล้ว ในรายงานของเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม ยังยกให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 32 จากจำนวน 134 ประเทศ เพราะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม จนทำให้มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือต่อจำนวนประชากรสูงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 86 ของโลก

เบื้องหลังการเกิดคลื่น 4 จี มาจากแรงผลักดันของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. ได้รับมอบหมายให้ดูแล “กสทช.” ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ

“คสช.” เดินเครื่องดันเรื่องนี้ด้วยการเปิดทางให้ กสทช. ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900, 1800 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ คาดว่ากวาดรายได้อีก 2 แสนล้านบาท ยกระดับมาตรฐานเป็นเทคโนโลยี 5 จี

จะผลักอันดับของประเทศไทย ไต่ระดับรดต้นคอเพื่อนบ้านมาเลย์

 

อีกโครงการคือเน็ตประชารัฐ รัฐบาล “บิ๊กตู่” วางเป้าให้ประชาชนไกลปืนเที่ยง มีโอกาสใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งโทรมือถือ อินเตอร์เน็ต เหมือนๆ คนในเมือง ตามโมเดลใหม่ “ประเทศไทย 4.0” รองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

วันนี้ “เน็ตประชารัฐ” มูลค่า 4 หมื่นล้าน รัฐบาลแบ่งให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ กสทช. ไปจัดทำในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้แล้ว

กระทรวงดีอี ส่งงานให้ทีโอทีไปติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ต 24,700 หมู่บ้านเกือบเสร็จสิ้นเต็มพื้นที่

ส่วน กสทช. ทำใน 2 เฟส เฟสแรก เป็นเน็ตชายขอบ 5 พื้นที่ครอบคลุม 3,920 หมู่บ้านทั่วประเทศ มูลค่า 13,614.62 ล้านบาท

การประกวดราคาผ่านราบรื่นสะดวกโยธิน บริษัทแข่งกันเสนอเนื้องานต่ำกว่าราคากลางที่ กสทช. ตั้งไว้ ช่วยประหยัดเงินรัฐอีกกว่า 600 ล้านบาท

ส่วนเฟส 2 วงเงินลงทุนเบื้องต้น 13,000 ล้านบาท ในจำนวน 15,732 หมู่บ้าน เตรียมเปิดให้เอกชนยื่นซองประกวดราคาในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. บอกว่ามีแผนเตรียมรองรับเน็ตชายขอบไว้ 5 ปี แต่ละหมู่บ้านมีจุดบริการไวไฟฟรีทั้งในโรงเรียน สถานีอนามัย ให้ประชาชนเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมยุคใหม่

เช่น การเรียนการสอนผ่านทางอินเตอร์เน็ตเชื่อมระหว่างโรงเรียนในหมู่บ้านกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ

การรักษาทางการแพทย์ เชื่อมระหว่างสถานีอนามัยในหมู่บ้านชายขอบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย

การวางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ในหมู่บ้านชายขอบ ทำให้เกิดธุรกรรมการเงินใหม่ๆ ขึ้น ในแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้คิดค้นริเริ่มธุรกิจการค้าใหม่ๆ หรือสตาร์ตอัพผ่านระบบออนไลน์เชื่อมกับทั่วโลก เช่น ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โฮมสเตย์ สินค้าโอท็อป ฯลฯ

ปลายเดือนธันวาคมปีนี้เน็ตชายขอบจำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ของโครงการทั้งหมดหรือ 588 หมู่บ้าน จะเปิดใช้บริการได้ฟรี กลางๆ ปี 2561 คาดว่าโครงการเสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์

กสทช. ประเมินว่า ประชาชนใน 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 7 แสนครัวเรือน จะร่วมกันใช้เครื่องมือไฮเทคเหมือนๆ กับคนในเมือง

แต่ละครัวเรือน คิดสร้างสรรค์ หารายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยแค่เดือนละ 1 พันบาท จะเกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ชายขอบปีละ 8,400 ล้านบาท

5 ปี เงินสะพัดสูงถึง 42,000 ล้านบาท และคุณภาพชีวิตของผู้คนเหล่านี้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

“ฐากร” ปิดท้ายว่า การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยหยุดชะงักมากว่า 10 ปี “คสช.” เข้ามาบริหารประเทศจึงเกิดพัฒนาอย่างรวดเร็วชนิดก้าวกระโดด

ถ้าไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 5 จี ผนวกเน็ตประชารัฐ 4 หมื่นหมู่บ้าน เอกชนอีก 36,013 หมู่บ้าน จะเห็นภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมทั้งระบบที่ใหญ่มหึมาพร้อมขับเคลื่อนประเทศอย่างมีพลัง