เศรษฐกิจ/ถอดรหัสน้ำนมสัญชาติไทยหยดแรก พระราชกรณียกิจสำคัญ ที่ทำให้คนไทยได้บริโภคนมราคาถูก

เศรษฐกิจ

ถอดรหัสน้ำนมสัญชาติไทยหยดแรก
พระราชกรณียกิจสำคัญ
ที่ทำให้คนไทยได้บริโภคนมราคาถูก

ปัจจุบันภาพรวมของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย นับว่ามีมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี
และในแต่ละปีก็ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี
ทั้งในแง่จำนวนผู้บริโภค และปริมาณการบริโภค
รวมทั้งผู้ประกอบการเอง ก็มีการแข่งขันทางการตลาด และจัดโปรโมชั่นกันอย่างดุเดือด
นอกจากนี้ ภาครัฐยังเข้ามาส่งเสริมการบริโภคนม โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) หรือที่รู้จักนมโรงเรียนอีกด้วย
แต่หากย้อนกลับไปราว 50-60 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าอุตสาหกรรมนมในประเทศไทยยังมีขนาดเล็กมาก ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศแทบจะไม่รู้จักการบริโภคนมด้วยซ้ำ ไม่รู้จักคุณประโยชน์ของนม และนมส่วนใหญ่ก็มีราคาแพงเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถหาซื้อได้ เนื่องจากแทบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการอุตสาหกรรมนมไทย คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวถึงพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงริเริ่มส่งเสริมและพระราชทานอาชีพเลี้ยงโคนมให้เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อช่วยสร้างอาชีพที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่งให้เกษตรกร
รวมทั้งยังเป็นการลดการนำเข้านมจากต่างประเทศ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงนมได้ง่าย ได้รับสารอาหารที่สำคัญอย่างเพียงพอในแต่ละช่วงวัย ตราบจนทุกวันนี้

ความเป็นมาของอาชีพการเลี้ยงโคนมพระราชทานนั้น เริ่มต้นจากในปี 2503
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสทวีปยุโรป ซึ่งในการเสด็จทรงประทับแรมอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ก พระองค์ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์กเป็นอย่างมาก
จึงเกิดแนวคิดที่จะริเริ่มกิจการโคนมขึ้นมาภายในประเทศ
ประจวบเหมาะกับก่อนหน้านั้นที่ นายนิลส์ กุนนาร์ ซอนเดอร์กอรด์ ชาวเดนมาร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ระหว่างปี 2498-2502 ได้สังเกตว่า คนไทยไม่รู้จักโคนมและดื่มนมในปริมาณน้อยมาก หลังจากกลับไปประเทศเดนมาร์ก ในปี 2502 นายซอนเดอร์กอรด์จึงได้จัดทำโครงการฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เสนอต่อ Danish Agricultural Marketing Board
และต่อมาเดือนมกราคม 2504 ได้มีคณะผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์กได้มาศึกษาสำรวจพื้นที่ในการจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิต และศูนย์ฝึกอบรม ณ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นหุบเขาสวยงาม มีแหล่งน้ำสะอาดและไม่ไกลจากตลาดกรุงเทพฯ
จากนั้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2504 ได้มีการลงนามสัญญาการให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการด้านการเลี้ยงโคนม ระหว่างรัฐบาลเดนมาร์กกับรัฐบาลไทย โดย Danish Agricultural Marketing board จัดสรรเงินช่วยเหลือจำนวน 4.33 ล้านโครเนอร์ หรือประมาณ 23.5 ล้านบาท ในขณะนั้น เพื่อดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 8 ปี อันเป็นการตอบสนองพระราชปณิธานและความสนพระทัยในอาชีพการเลี้ยงโคนม หลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทย
กระทั่งในวันที่ 16 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าเฟรดเดอริก ที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีแห่งประเทศเดนมาร์ก ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนม และศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค อย่างเป็นทางการ นับเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของน้ำนมสัญชาติไทย ที่มาจากเกษตรกรชาวไทย

จนต่อมาในปี 2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค จากรัฐบาลเดนมาร์ก
และได้ตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ชื่อ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
โดยมีหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นเครือข่าย และรับซื้อ รวบรวมนมจากเกษตรกร เพื่อนำมาจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “นมไทย-เดนมาร์ค”
หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ “นมวัวแดง” รวมทั้งยังมีการดำเนินการในรูปแบบนมโรงเรียนอีกด้วย
จนปัจจุบันของ อ.ส.ค. รับซื้อน้ำนมดิบอยู่ที่ 7,000 ตันต่อวัน จากผลผลิตทั้งประเทศ 31,000 ตันต่อวัน และตั้งเป้าหมายรายได้รวมสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นรายได้ภายในประเทศ และรายได้จากการส่งออกไปยังกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และมาเลเซีย
ทั้งนี้ ในห้วงเวลาใกล้เคียงกันเมื่อปี 2512 กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ต.หนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับสถานที่จำหน่ายน้ำนมดิบ
เมื่อความได้ทราบถึงพระองค์ทรงได้พยายามที่จะหาทางช่วยเหลือ ซึ่งในช่วงนั้นพอดีกับที่พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานผลิตนมผงขึ้นที่ภายในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
จึงมีการหารือกันในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องว่าควรจะมีการสร้างโรงงานผลิตนมผงขึ้นที่ ต.หนองโพ ด้วย
ต่อมาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์รวมนมหนองโพขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางราชการและทุนของกลุ่มเกษตรกรเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารศูนย์รวมน้ำนม
พร้อมทั้งได้เข้าชื่อกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ในวันที่ 15 เมษายน 2514 โดยใช้ชื่อว่า “สหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด” เป็นสหกรณ์ประเภทบริการ

กระทั่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2515 โรงงานผลิตนมผงได้สร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดลุยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และได้พระราชทานชื่อ โรงนมผงหนองโพ โดยให้บริหารงานในรูปบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่า “บริษัท ผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด” เพื่อผลิตนมภายใต้แบรนด์ “หนองโพ”
โดยพระองค์ทรงถือหุ้นใหญ่ของบริษัทและได้รับพระราชทานเงื่อนไขไว้ด้วยว่าบรรดาเงินกำไรสุทธิที่คณะกรรมการบริษัทหาได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น จะไม่มีการแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น
แต่ให้บริษัทนำกำไรสุทธิส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสะสมเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของบุตรธิดาสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ส่งน้ำนมดิบให้แก่โรงงาน และต่อมาในปี 2516 จึงได้เริ่มผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ขึ้นเป็นครั้งแรก
ในวันที่ 25 ธันวาคม 2516 สหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด ได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น “สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด” จัดเป็นสหกรณ์ประเภทการเกษตร เมื่องานของสหกรณ์เจริญก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์ สมาชิกของสหกรณ์ต่างมีความเข้าใจในอุดมการณ์ หลักสหกรณ์ และวิธีการสหกรณ์ได้ดีถูกต้อง และการดำเนินกิจการมีหลักฐานมั่นคงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท ผลิตภัณฑ์นมหนองโพ จำกัด
พร้อมด้วยโรงงานผลิตนมผงให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2518 เป็นต้นมา และได้ทรงรับสหกรณ์หนองโพ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

จนถึงปัจจุบัน สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินกิจการมาเป็นเวลากว่า 44 ปี มีสมาชิกรวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 คน และได้นำไปขยายผลสู่สหกรณ์โคนมทั่วประเทศ ภายใต้การส่งเสริมของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จนมีสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโคนม ขยายใหญ่ขึ้นกว่า 108 แห่งทั่วประเทศ สมาชิกรวมกันประมาณ 22,000 ครัวเรือน
มีปริมาณน้ำนมที่สหกรณ์รวบรวมได้ประมาณ 2,000 ตันต่อวัน คิดเป็นมูลค่าวันละ 35.00 ล้านบาท หรือปีละ 12,775 ล้านบาท มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์เป็นโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ 16 แห่ง โรงงานแปรรูปนมยูเอชที พร้อมทั้งนมพาสเจอร์ไรส์ 9 แห่ง และโรงงานนมผง 1 แห่ง
ซึ่งหากพระองค์ไม่ได้ริเริ่มวางรากฐานกิจการโคนม รวมทั้งพระราชทานอาชีพให้แก่เกษตรกรตั้งแต่วันนั้น วันนี้เราอาจจะต้องนำเข้านมปีละมหาศาล และในมื้ออาหารแต่ละวัน นักเรียนอาจไม่มีนมให้บริโภคก็เป็นได้