ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “เขาดินวนา” ก่อนที่จะเป็นสวนสัตว์ เคยเป็น “มิวเซียมพันธุ์ไม้” สวนพฤกษศาสตร์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“เขาดินวนา” ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังสวนดุสิตเดิม อันเป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เรื่องของเรื่องเริ่มมาจาก หมอหลวงประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลว่า พระบรมมหาราชวัง อันเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับมาแต่เดิมนั้นปลูกสร้างไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีตึกบังอยู่โดยรอบ จึงขวางทางลม และในฤดูร้อนจะมีอากาศร้อนจัด ซ้ำยังอับชื้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระประชวรกันอยู่เสมอ

แน่นอนว่า ในบรรดาพระมหากษัตริย์ที่ทรงเคยประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และทรงพระประชวรด้วยเหตุดังกล่าว ย่อมหมายรวมถึงรัชกาลที่ 5 ด้วย

จึงทำให้พระองค์ทรงวางเมกะโปรเจ็กต์ในการสร้างพระราชวังใหม่ ให้ถูกสุขลักษณะ พระราชวังที่ว่าคือ “พระราชวังสวนดุสิต”

พ.ศ.2441 รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดระเนตรพื้นที่ “สวน” และ “ทุ่งนา” บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งก็ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

แล้วพระราชทานชื่อตำบลแห่งนี้ว่า “สวนดุสิต” พร้อมๆ กับที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาขึ้นสำหรับใช้เป็นที่เสด็จประทับแรมชั่วคราว และให้เรียกที่ประทับแรมแห่งนี้ว่า “วังสวนดุสิต”

พระราชวังสวนดุสิตจึงถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสร้างพระราชวังในที่ถูกสุขลักษณะ ตามหลักการแพทย์และสุขอนามัยแบบตะวันตกสมัยใหม่ ซึ่งต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก และโปร่งโล่งสบายนะครับ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่นอกจากพระราชวังแห่งนี้จะมีคำว่า “สวน” นำอยู่ข้างหน้าชื่อของสถานที่แล้ว ภายในเขตพระราชวังแห่งนี้จะมีสวนโน่นนั่นนี่อยู่เต็มไปหมด

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่านึกจะสร้างสวน ก็สร้างกันอย่างตามมีตามเกิด ยิ่งเมื่อเป็นสวน หรืออุทยานภายในพระราชวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สวน” ของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงมีภูมิประสบการณ์เสด็จเที่ยวชมสวน หรืออุทยานชั้นนำหลากหลายแห่งของโลก อย่างรัชกาลที่ 5 ด้วยแล้ว

สวนที่ถูกจัดสร้างขึ้นในพระราชวังแห่งใหม่ของพระองค์ ก็ย่อมต้องไม่ธรรมดาแน่

“เขาดินวนา” ก็เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขและภูมิหลังอย่างนี้นี่เอง การก่อสร้างพระราชวัง และสวนต่างๆ ภายในพระราชวังใหม่แห่งนี้ ทำให้ต้องมีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ ประกอบคูคลองระบายน้ำ และถนน แล้วนำดินที่ขุดทำสระน้ำคูคลองต่างๆ ขึ้นมาถมเป็นเนินเขาขึ้นที่กลางน้ำ จนเกิดเป็นเกาะกลางน้ำ

และก็เป็นเจ้าเกาะกลางน้ำที่ก่อขึ้นจากดินที่ถูกขุดขึ้นมานี่แหละครับ ที่คนในยุคโน้นเรียกกันว่า “เขาดิน”

ที่น่าสนใจก็คือ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพาะปลูกพรรณไม้นานาชนิดขึ้น เพื่อทำเป็นสวนพฤกษชาติ ขึ้นในบริเวณเขาดินและปริมณฑลรายรอบ โดยเรียกว่า “วนา” และทรงโปรดเรียกอาณาบริเวณนี้รวมๆ กันว่า “เขาดินวนา” อย่างที่เราคุ้นหูกันในปัจจุบันนั่นเอง

 

การสร้างสวนพฤกษชาติดังกล่าว รัชกาลที่ 5 ทรงได้รับแรงบันดาลใจสำคัญมาจากบรรดาสวนพฤกษศาสตร์ในอารยประเทศ ที่ทรงเคยเสด็จทอดพระเนตรกิจการ “สวนพฤกษศาสตร์” หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Botanic Garden” จากที่ต่างๆ มา

โดยการเสด็จทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติแต่ละครั้ง ทำให้พระองค์ทรงค้นพบว่า นอกจากที่ “สวนพฤกษศาสตร์” เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และให้ความเพลิดเพลินในการเสด็จเยี่ยมชมแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็นสถานที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ต่างๆ อีกด้วย

มากไปกว่านั้น รัชกาลที่ 5 ยังทรงใช้สวนพฤกษศาสตร์ของพระองค์คือ เขาดินวนาแห่งนี้ ในการผูกมิตรกับนานาอารยประเทศ โดยมีกรณีตัวอย่างสำคัญก็คือ การที่พระองค์ทรงปลูกต้นสักทองขึ้นในบริเวณเขาดินวนาร่วมกับเจ้าชายวัลดิมา พระราชโอรสของพระเจ้าคริสเตียนที่ 8 แห่งเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2443 เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามกับเดนมาร์ก เป็นต้น (ต้นสักทองอายุร้อยกว่าปีต้นนี้ ปัจจุบันยังสามารถชมดูได้ เพราะปลูกอยู่ที่บริเวณเขาน้ำตก ภายในสวนสัตว์ดุสิตปัจจุบัน)

ไม่แปลกอะไรเลยนะครับที่รัชกาลที่ 5 จะทรงเห็นซึ้งถึงคุณประโยชน์ของสวนพฤกษศาสตร์ ในแง่ของวิชาความรู้ต่างๆ เพราะว่าบรรดาสวนพฤกษศาสตร์ต่างๆ ในอารยประเทศนั้น มักจะถูกใช้เพื่อการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ ควบคู่ไปกับการใช้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งอันที่จริงแล้วก็นับได้ว่าเป็นเพียงผลพลอยได้อีกด้วย

และจึงไม่แปลกอะไรเลยอีกเช่นกันที่ “สวนพฤกษศาสตร์” มักจะถูกนับเป็น “มิวเซียม” หรือ “พิพิธภัณฑ์” ประเภทหนึ่ง โดยถือเป็นสถานที่จัดแสดง และจัดการความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ต่างๆ นั่นเอง

 

ในบรรดาสวนพฤกษศาสตร์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเคยเสด็จทอดพระเนตรทั้งหมดนั้น สวนพฤกษศาสตร์โบตันนิเกล ที่เมืองบุยเต็นซอร์ก ไม่ห่างจากบัตตาเวีย เมืองหลวงเก่าบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ที่พระองค์เสด็จประพาสถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2439 คือวันที่ 1 และวันที่ 4 ดูจะมีอิทธิพลต่อการสร้างสวนพฤกษชาติเขาดินวนา ในพระราชวังสวนดุสิตมากที่สุด โดยส่วนหนึ่งอาจจะเป็นสภาพของพืชพรรณ และภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกับสยามมากกว่ากลุ่มประเทศยุโรป

อย่างไรก็ตาม เขาดินวนา แต่แรกเริ่มนั้นก็เป็นเพียงสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ และข้าราชบริพารฝ่ายในเท่านั้น ด้วยแน่นอนว่าไพร่ที่ไหน ก็คงไม่อาจจะล่วงล้ำเข้าไปเที่ยวชมสวนในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินกันได้ง่ายๆ?

ต้องรอมาจนกระทั่งถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีพระราชดำริในการทำนุบำรุงเขาดินวนาให้ดี และกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ จึงค่อยมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจกันได้ด้วย

 

ต่อมาหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กราบบังคมทูลขอสวนดุสิต มาจัดทำเป็นสวนสาธารณะ เพื่อใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

ซึ่งพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยนั้นก็ได้ลงนามพระราชทาน ในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ให้เทศบาลกรุงเทพมหานครรับเอาพื้นที่บริเวณเขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสาธารณะได้

เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทางเทศบาลกรุงเทพมหานครจึงได้ทำการย้ายกวางดาว และสัตว์ชนิดต่างๆ มาจากสวนอัมพร ลิง และจระเข้ มาจากสวนสราญรมย์ เพื่อมาจัดแสดงที่เขาดินวนา

พร้อมกันกับที่ขอให้ทางสำนักพระราชวังจัดส่งช้างหลวงมาให้ประชาชนได้ชมกันในทุกวันอาทิตย์ จนกระทั่งมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เที่ยวชม และพักผ่อนหย่อนใจโดยสมบูรณ์ ภายใต้ชื่อ “สวนสัตว์ดุสิต” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2481 หรือเมื่อเฉียดๆ 80 ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรก

จนนับได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย

 

น่าเสียดายนะครับที่ตั้งแต่มีการเปิดเขาดินวนาให้เป็นสวนสาธารณะ เรื่อยมาจนกระทั่งเปลี่ยนกลายไปเป็นสวนสัตว์ ก็ไม่ได้มีการให้ความสำคัญกับสถานที่แห่งนี้ในฐานะของ “มิวเซียมต้นไม้” หรือ “สวนพฤกษศาสตร์” แห่งแรกของสยามประเทศไทย เหมือนอย่างวัตถุประสงค์เมื่อแรกสร้าง

เรียกได้ว่า เราได้ “สวนสัตว์” แห่งแรกของประเทศมาก็จริง

แต่ในขณะเดียวกันเราก็จำใจต้องสูญเสีย “สวนพฤกษศาสตร์” แห่งแรกของประเทศไปพร้อมๆ กัน