สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (2) ขวาไทย-ฐานทัพฝรั่ง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว (ตอน 2) ขวาไทย-ฐานทัพฝรั่ง

“เจ้าการะเกดเอย เจ้าขี่ม้าเทศจะไปท้ายวัง

ชักกริชออกมาแกว่ง ว่าจะแทงฝรั่ง

ใครห้ามเจ้าก็ไม่ฟัง เจ้าการะเกดเอย”

วงดนตรีต้นกล้า

ผมเริ่มด้วยบทเพลงกล่อมลูกยุคกรุงศรีอยุธยาที่วงต้นกล้าเอามาปรับเป็น “เพลงต่อต้านจักรวรรดินิยม”

ในยุคนั้น “ป้อม” (นิธินันท์ ยอแสงรัตน์) เพื่อนสนิทที่เป็นสมาชิกวงนี้เคยบอกว่าน่าจะเป็นเพลงยุคพระเพทราชาไล่ฝรั่ง

หรือว่าขบวนนักศึกษาก็เสมือนอยู่ใน “กระแสพระเพทราชา” จนทำให้หนึ่งในปัญหาด้านต่างประเทศและความมั่นคงไทยที่ถูกจับตามองจากขบวนนักศึกษาในขณะนั้นก็คือ การตัดสินใจของรัฐบาลทหารที่อนุญาตให้รัฐบาลอเมริกันใช้พื้นที่ของประเทศไทยเป็นฐานทัพในการทำสงครามเวียดนาม

ว่าที่จริงแล้ว ฐานทัพสหรัฐอเมริกาในไทยก็คือภาพสะท้อนที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศในยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์

ซึ่งในมุมมองของรัฐบาลทหารไทยแล้ว ฐานทัพไม่เพียงแต่เป็นการ “ผูกมัด” ให้กองทัพอเมริกันต้องป้องกันประเทศไทยเท่านั้น

แต่ยังเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของ “พันธกรณี” ที่สหรัฐจะต้องปกป้องไทยไม่ให้กลายเป็น “โดมิโน” ถ้าโดมิโนเริ่มล้มลงในอินโดจีน

ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่หลังสงครามโลก

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐแล้ว คงจะต้องยอมรับว่ารัฐบาลทหารของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำพาประเทศไทยเข้าสู่สงครามเย็น

สถานการณ์ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงขั้วอำนาจใหม่ในเวทีโลก คือ ขั้วตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ

และขั้วตะวันออกที่มีสหภาพโซเวียตรัสเซียเป็นผู้นำ

ซึ่งในสภาวะของการเมืองโลกแบบ “2 ขั้ว” เช่นนี้ รัฐบาลทหารไทยกลับสู่อำนาจเป็นครั้งแรกหลังการสิ้นสุดของสงครามโลก ด้วยการทำรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 แม้จอมพล ป. จะเป็นผู้นำไทยที่เคยยืนเคียงข้างกับฝ่ายอักษะ แต่ก็โชคดีที่เขาไม่จบชีวิตด้วยการถูกแขวนคอจากข้อหาอาชญากรสงครามเช่นผู้นำทหารในเยอรมนี อิตาลี หรือญี่ปุ่น และในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน รัฐบาลวอชิงตันก็ประกาศรับรองรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ…

ความรังเกียจฝ่ายอักษะของสัมพันธมิตรดูจะเปลี่ยนแปลงไปกับโลกยุคหลังสงคราม อาจจะเป็นเพราะภัยคุกคามแบบเดิมของลัทธิ “นาซี-ฟาสซิสต์” จบลงแล้ว และภัยคุกคามใหม่เป็นเรื่องของลัทธิ “คอมมิวนิสต์” ที่เริ่มเห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากปัญหาวิกฤตการณ์ในกรีกและตุรกีในเดือนมีนาคม 2490

รัฐบาลตะวันตกอาจจะอยากได้ผู้นำทหารที่เข้มแข็งมาต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์

มากกว่าจะคำนึงถึงภูมิหลังของบรรดานายพลเหล่านั้นว่าเคยอยู่กับฝ่ายอักษะมาก่อนหรือไม่ ขอเพียงให้พวกเขาเป็นฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็พอ

จอมพล ป. ทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้รัฐบาลสัมพันธมิตรเห็นถึง “นโยบายนิยมตะวันตก” ในทุกๆ ด้าน

ไม่ว่าจะเป็นการลงนามในความตกลงกับรัฐบาลวอชิงตันถึง 3 ฉบับในปี 2493

การพาประเทศเข้าร่วมในสงครามเกาหลีในปีดังกล่าว

โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ตอบรับข้อเรียกร้องของสหรัฐให้จัดส่งกำลังรบเข้าร่วมกับกองกำลังของสหประชาชาติ (ที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ) ในสงครามเกาหลี

และหลังจากเข้าร่วมในสงครามเกาหลีไม่นานนัก ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารของสหรัฐก็ไหลทะลักเข้าไทย พร้อมๆ กับการขยายจำนวนเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันที่กรุงเทพฯ

และยังตามมาด้วยการจัดตั้งหน่วยงานทางทหารของสหรัฐในไทยอีกด้วย (ต้นกำเนิดของ JUSMAG ปัจจุบัน)

อีกทั้งจอมพล ป. ที่เคยรบกับฝรั่งเศสในครั้งสงครามอินโดจีน 2483-2484 ก็กลายเป็นจอมพล ป. ที่หันไปให้การสนับสนุนรัฐบาลฝรั่งเศสที่หวนกลับเข้ามาสถาปนาอำนาจของเจ้าอาณานิคมในยุคหลังสงคราม

จอมพล ป. ไม่เพียงแต่ขับไล่ขบวนการชาตินิยมอินโดจีนออกไปจากดินแดนไทยเท่านั้น

เขายังแสดงออกถึงนโยบายนิยมตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญด้วยการประกาศรับรองรัฐบาลของจักรพรรดิเบาได๋ (Bao Dai) ซึ่งเป็น “รัฐบาลหุ่น” ของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส

และต่อมาเมื่อกองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่ขบวนการชาตินิยมเวียดนามในการรบที่เดียนเบียนฟูในปี 2497 อันนำไปสู่การจัดตั้ง “องค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian Treaty Organization หรือ SEATO)

ในปีเดียวกันนั้น จอมพล ป. ก็พาไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ สปอ.

สงครามเย็นได้เปลี่ยนจอมพล ป. จากนักชาตินิยมไทยที่นิยมญี่ปุ่น

กลายเป็นนักนิยมตะวันตกและนักต่อต้านคอมมิวนิสต์

และเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ของไทยให้กลายเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์สหรัฐในภูมิภาค ภายใต้ “นโยบายปิดล้อม” (Containment Policy)

หรือโดยนัยก็คือไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐในเอเชีย

ผู้นำเปลี่ยน นโยบายไม่เปลี่ยน

แม้ต่อมาจะเกิดรัฐประหารในปี 2500 ล้มรัฐบาลพิบูลสงคราม และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ทิศทางนโยบายนิยมตะวันตกและต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ยิ่งหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2501 ก็ยิ่งเห็นถึงความเข้มข้นของนโยบายขวาจัด ที่มีการเชื่อมต่อกับรัฐบาลขวาในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นในลาว เวียดนามใต้ และไต้หวัน ภายใต้ “แผนกรุงเทพฯ” (The Bangkok Plan)

และในขณะเดียวกัน ก็ดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ในบ้านอย่างกว้างขวาง

ความกังวลว่าหมดจอมพล ป. แล้วนโยบายต่างประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไป

จึงกลายเป็นตรงกันข้าม

รัฐบาลทหารของจอมพลสฤษดิ์กลับสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐมากขึ้น ด้วยการแสดงความชื่นชมอย่างเต็มที่กับการประกาศ “แถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสก์” ในปี 2505

หลังจากการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ปลายปี 2506 จอมพลถนอมก็เป็นผู้นำสืบต่อ

เขาได้แสดงออกถึงการสานนโยบายที่ใกล้ชิดกับสหรัฐต่อไป… ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

เว้นเสียแต่นโยบายนี้จะถูกกระชับมากขึ้น เพราะหลังจากวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ยในวันที่ 2 สิงหาคม 2507 แล้ว ปฏิบัติการทางอากาศของสหรัฐก็เริ่มขึ้นด้วยการโจมตีเป้าหมายในเวียดนามเหนือ…

สงครามเวียดนามรอบใหม่เริ่มขึ้นแล้ว

แต่ในขณะเดียวกัน สถานการณ์สงครามในลาวตั้งแต่ต้นปี 2507 ยังเห็นได้ชัดเจนถึงการรุกของฝ่ายขบวนการ “ปเทดลาว”

และในมุมมองของผู้นำทหารไทย สถานการณ์ในลาวก็น่าวิตกอย่างยิ่งเช่นกัน

ผลสืบเนื่องเช่นนี้นำไปสู่การที่รัฐบาลทหารของจอมพลถนอมอนุญาตให้สหรัฐนำเครื่องบินเข้ามาประจำการในไทย

ปี 2507 จึงเป็นปีแรกที่คนไทยเริ่มเห็นฝูงบินรบอเมริกันเหนือน่านฟ้าไทย

ในปีแรกนี้มีเครื่องบินรบอเมริกันในไทยจำนวน 75 ลำ

และต่อมาในปี 2508 เพิ่มเป็น 200 ลำ

และปี 2509 เป็น 400 ลำ

จนถึงในปี 2512 สหรัฐมีเครื่องบินประจำการในไทยมากถึง 600 ลำ

เห็นตัวเลขจำนวนอากาศยานอเมริกันในไทยแล้ว แทบไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งในยุคสงครามเวียดนาม ไทยถูกแปลงเป็นฐานทัพขนาดใหญ่ของสหรัฐ

จนมีการเปรียบเปรยว่าไทยกลายเป็น “เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม” ของกองทัพสหรัฐ

เรื่องราวเหล่านี้ตอกย้ำว่าผู้นำทหารไทยจากจอมพล ป. สู่จอมพลสฤษดิ์ สู่จอมพลถนอม นำประเทศไทยเข้าไปใกล้กับสหรัฐมากขึ้นทีละลำดับ

และต่อมาในปี 2508 ผู้นำไทยก็หารืออย่างลับๆ กับผู้นำทางทหารของสหรัฐ เพื่อเตรียมส่งกำลังพลเข้าสู่สนามรบในเวียดนาม

ส่วนในลาวนั้น นโยบายที่ดำเนินมาจากยุคจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

กำลังพลของไทยส่วนหนึ่งปฏิบัติการรบในลาวภายใต้การควบคุมทางยุทธศาสตร์ของอเมริกัน “สงครามลับ” ในลาวจึงเป็นอีกภาพหนึ่งของความสัมพันธ์พิเศษของยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค

และยิ่งสหรัฐยกระดับสงครามในเวียดนามมากขึ้นเท่าใด สหรัฐก็ยิ่งยกระดับกิจกรรมทางทหารในไทยมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

ต่อมาในปี 2510 รัฐบาลจอมพลถนอมก็อนุญาตให้สหรัฐนำเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบ บี-52 เข้ามาประจำการที่สนามบินอู่ตะเภาแทนการใช้เส้นทางบินโจมตีเดิมจากเกาะกวม

เรือบรรทุกเครื่องบินบนบก

ว่าที่จริงแล้วการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของไทยให้กลายเป็นดัง “เรือบรรทุกเครื่องบินบนบก” ของกองทัพสหรัฐในสงครามเวียดนาม ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงอาการ “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์”

ในความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองที่มีพัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่สงครามเกาหลีในปี 2493

หากแต่ยังบ่งบอกถึง “ความกลัว” คอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำ ผู้นำทหารและบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมทั้งหลาย

ตลอดรวมถึงบรรดาชนชั้นกลางที่เติบโตมากับการโฆษณาทางการเมืองของฝ่ายตะวันตก

ปัจจัย “ทัศนะต่อภัยคุกคาม” (threat perception) จากปัญหาคอมมิวนิสต์จึงถูกสร้างจนกลายเป็นความกลัวที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมการเมืองไทยมายาวนาน

และยิ่งกลัวมากเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งเข้าหาอเมริกันมากขึ้นเท่านั้น

และพวกเขายังเชื่อมั่นว่าพันธกรณีของสหรัฐในการป้องกันไทยจะเป็นหลักประกันว่าโดมิโนจะไม่ล้มที่กรุงเทพฯ

สงครามของสหรัฐในอินโดจีนยังเป็นหลักประกันเช่นเดียวกันว่าโดมิโนจะไม่มีวันล้มในอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเช่นนี้ของสหรัฐ เป็นดังการสร้าง “พื้นที่กันชน” ให้แก่ความมั่นคงไทยจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์จากอินโดจีน

ดังนั้น การดำรงอยู่ของบทบาทสหรัฐทั้งในไทยและในอินโดจีนจึงเป็นหลักประกันที่สำคัญของเสถียรภาพและความมั่นคงไทย

และสำหรับบรรดากลุ่มปีกขวาแล้ว รูปธรรมของบทบาทเช่นนี้ผูกโยงกับการมีฐานทัพอเมริกันในไทย อย่างน้อยพวกเขามั่นใจว่าการมีฐานทัพจะทำให้สหรัฐไม่ทอดทิ้งให้ไทยต้องเผชิญกับการคุกคามของขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างโดดเดี่ยว

ดังนั้น หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงการไตร่ตรองสถานการณ์ของรัฐบาลจอมพลถนอมที่ตัดสินใจนำพาไทยไปสู่การเป็น “พันธมิตรสงคราม” ของสหรัฐในเวียดนามแล้ว

ก็เห็นได้ชัดว่าหลังจากวิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ยเกิดขึ้น รัฐบาลไทยไม่ได้มีคำถามต่อสถานการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

หากกลับแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการเข้าร่วมสงครามกับสหรัฐ ซึ่งก็เป็นโอกาสที่สหรัฐจะแปลงดินแดนของไทยให้เป็นฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ในสงครามเวียดนามเป็นจำนวนถึง 7 แห่ง ดังนี้ 1) ดอนเมือง 2) ตาคลี 3) โคราช 4) อุดรธานี 5) อุบลราชธานี 6) นครพนม 7) อู่ตะเภา

และฐานทัพที่อุดรธานียังเป็นกองบัญชาการใหญ่ของกองทัพอากาศที่ 13 อีกด้วย

ต่อมาในปี 2515 สหรัฐยังสร้างฐานทัพแห่งที่ 8 คือที่น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพื่อรองรับกำลังทางอากาศของนาวิกโยธินอเมริกันอีกด้วย

นอกเหนือจากฐานทัพอากาศดังกล่าวแล้ว สหรัฐยังมีค่ายฝึกสำหรับกำลังรบทางบก และท่าเรือ ตลอดรวมถึงการส่งผ่านความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ของสหรัฐให้แก่รัฐบาลทหารของไทย

ฉะนั้น สงครามเย็นในภูมิภาคที่ปรากฏในรูปของสงครามเวียดนามจึงเป็นดัง “กาว” ที่เชื่อมไทยให้ติดแน่นอยู่กับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐ

และในสภาพเช่นนี้ผู้นำทหารไทยเชื่อมั่นเสมอว่า อำนาจกำลังรบที่เหนือกว่า… สมรรถนะสูงกว่า สหรัฐจะเป็นฝ่ายที่ชนะสงครามในเวียดนาม และชนะอย่างแน่นอน

ภายใต้ทฤษฎีการทหารที่เชื่อว่า “ชัยชนะในสงครามถูกชี้ขาดด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า”

ใบประกันชีวิตของฝ่ายขวา

ผู้นำทหารและรัฐบาลไทยในช่วงสงครามเช่นนี้อาจจะไม่เคยตั้งคำถามกับปัญหาสงครามในเวียดนาม

และบางทีพวกเขาอาจจะลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่ง จอมพล ป. ก็มีความเชื่อมั่นในพลังอำนาจทางทหารของฝรั่งเศสในสนามรบที่เดียนเบียนฟูมาแล้ว

และฝรั่งเศสก็เป็นฝ่ายแพ้

ผู้นำทหารไทยดูจะไม่ “เปิดใจ” เตรียมรับกับความพ่ายแพ้เช่นนี้แต่อย่างใด

ในอีกด้านหนึ่ง ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร ชนชั้นกลางอนุรักษนิยม และกลุ่มขวาทั้งหลายจึงยอมไม่ได้ที่จะเกิดแรงกดดันจากภายในไทยให้สหรัฐถอนกำลังรบออกจากไทย

เพราะสถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความอ่อนแอในการรับมือกับฝ่ายคอมมิวนิสต์เท่านั้น

จอมพล ป. พิบูลสงคราม แวะทักทายเด็กนักเรียนหลังทำพิธีเปิดโรงเรียนวัดเขมภิรตาราม เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2497

หากแต่ยังส่งผลต่อ “ปัจจัยด้านจิตวิทยา” เพราะการถอนฐานทัพก็คือสัญญาณว่าไทยอาจจะเป็น “โดมิโน” หลังจากโดมิโนทั้งสามล้มลงในอินโดจีน

ดังนั้น การเคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพอเมริกันของขบวนนักศึกษาในปี 2518-2519 จึงกลายเป็นดังการให้ถอน “กรมธรรม์ประกันชีวิต” ของฝ่ายขวาไทยเลยก็ว่าได้

จนพวกเขารู้สึกว่าถ้าไม่มี “ประกันชีวิต” จากอำนาจทางทหารของสหรัฐแล้วพวกเขาจะอยู่อย่างไรกับภัยคุกคามจากอินโดจีนในอนาคต!