มนัส สัตยารักษ์ : ความคิดเสรี

ย้อนกลับไปอ่านข้อเสนอของ นายเสรี สุวรรณภานนท์ อนุกรรมการ การปฏิรูปตำรวจในส่วนของงานสอบสวน ที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กเมื่อ 22 กันยายน 2560

ข้อเสนอตั้งชื่อและพาดหัวไว้น่าสนใจว่า “ปฏิรูปงานสอบสวน แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปอยู่กับสำนักงานงานอัยการสูงสุด”

นายเสรีอ้างว่า “เพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ที่บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม”

เพื่อมิให้ผู้อ่านไขว้เขวและสับสน ผมขอยกข้อความที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 258 ง. (2) มาวางไว้ตรงนี้อีกครั้ง…

“ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ให้เห็นผล ดังต่อไปนี้

ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม

(2) ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา ให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวน กับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งกำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก”

อ่านหัวข้อเสนอที่ว่า “งานสอบสวนแยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปอยู่กับสำนักงานอัยการสูงสุด” เทียบกับข้อความในรัฐธรรมนูญที่ว่า “ให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวน กับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม”

เมื่อพนักงานสอบสวนไปอยู่กับสำนักงานอัยการสูงสุดเสียแล้วก็ไม่ต้อง “ถ่วงดุล” เมื่อไม่ต้องถ่วงดุล ผมจึงมองไม่ออกเลยว่า “สอดรับ” กันตรงไหนและอย่างไร?

จะพิจารณาข้อเสนอของ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ต้องใจเย็นๆ จะใจร้อนวู่วามอย่าง ผบ.ตร. เมื่อครั้งพิจารณาในประเด็น “กระจายอำนาจตำรวจ” ไม่มีประโยชน์อะไร

นายเสรีเสนอให้ “มีหน่วยสอบสวนที่ขึ้นตรงกับสำนักงานอัยการสูงสุด แยกแท่งออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเท่ากับว่าสำนักงานอัยการสูงสุดจะมีพนักงานสอบสวนเป็นของตัวเอง ที่จะคอยตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของพนักงานสอบสวนของตำรวจ โดยพนักงานสอบสวนของพนักงานอัยการ (ไม่มีชั้นยศ) มีอำนาจเข้าไปทำคดีที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือคดีที่พนักงานอัยการเห็นควรให้เข้าไปร่วมสอบสวนด้วย”

ผมอ่านมาถึงข้อความในวงเล็บที่ว่า “ไม่มีชั้นยศ” ก็เคลิ้มไปเหมือนกัน เกิดมโนภาพจากหนัง (ฝรั่ง) ขึ้นมาวูบหนึ่ง

แต่ในสถานการณ์จริงของเมืองไทยไม่เป็นอย่างในหนัง งานสอบสวนเป็นงานประเภทพร้อมรับแจ้งความ 24 ชั่วโมง (โดยผลัดกันเข้าเวร) ต้องดำเนินการทันที เป็นงานแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่มีรูปแบบซ้ำกันเลย และเมื่อรับแจ้งความแล้วก็เท่ากับมี “งานค้าง” ออกเวรแล้วก็ต้องเอาไปทำต่อที่บ้านจนกว่าจะเสร็จ

ประเทศไทยมีสถานีตำรวจพร้อมรับแจ้งความประมาณ 1,600 สถานี ปริมาณงานสอบสวนมากบ้าง-น้อยบ้างตามสภาพท้องที่ สถานีใดควรบรรจุพนักงานสอบสวนเท่าใดก็ต้องคำนวณด้วยตัวเลขที่ไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยต้องมีเข้าเวร 4-5 คนต่อ 24 ชั่วโมง เพื่อมิให้คนต้องทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง ตามหลักการบริหารงานบุคคล

แต่ชื่อว่าถ้าเราใช้วิธีคิดแบบเสรีดังกล่าวข้างต้นก็คงไม่ใช่ปัญหายุ่งยากอะไรนัก ปมที่จะยุ่งยากก็คือการ “แยกแท่ง” หน่วยงานสอบสวนออกมาจากสำนักงานตำรวจฯ เพราะสุดท้ายจะทำให้ไม่มีการถ่วงดุลตามที่รัฐธรรมนูญต้องการ

แก้ถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ โดยแค่ตัดคำว่า “ถ่วงดุล” ออกเสียจากมาตรา 258 เท่านั้น

ข้อเสนอของนายเสรีมีที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยอยู่ข้อหนึ่ง นั่นคือ ให้อำนาจพนักงานสอบสวนของอัยการสูงสุด เข้าไปทำหน้าที่สอบสวนคดีที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือคดีที่สำคัญที่อัยการเห็นควรให้เข้าไปร่วมสอบสวนด้วย

เหตุผลที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยก็คือ เมื่อแยกงานสอบสวนไปจากตำรวจแล้ว ถ้าประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากพนักงานสอบสวนของอัยการ ประชาชนจะทำอย่างไร

ผมเกษียณอายุราชการมา 20 ปีแล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วางมือจากงานสอบสวนมากว่า 30 ปี ผมอาจจะตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ป.วิ.อาญา แต่ในสมัยที่ยังรับราชการอยู่ จำได้ว่ากฎหมายนี้กำหนดการ “เช็กบาลานซ์” ไว้อย่างรอบคอบ

คอลัมน์นี้เคยเล่าเรื่อง “คดีโกโหลน” ความมุ่งหมายหลักเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นและสำคัญของการ “ถ่วงดุล”

คดีโกโหลนนี้ พนักงานสอบสวนเดิมกับอัยการจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็น “สั่งฟ้อง” จำเลย จำเลยร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากกองปราบปราม พนักงานสอบสวนกองปราบปรามกับอัยการเขตมีความเห็น “ไม่ฟ้อง” แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดยืนยันความเห็นเดิม

คดีนี้ทั้ง 3 ศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลย… ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน!

หลังจากนั้นกฎหมาย ป.วิ.อาญา และกระบวนการยุติธรรมก็ได้รับการปฏิรูปไปบางส่วน…ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจสั่งคดี และยุบเลิกตำแหน่งอัยการเขต

วิธีการสรรหาบุคลากรของ “หน่วยสอบสวน” ตามข้อเสนอของนายเสรีไม่ยาก เขาเสนอว่า ในวาระแรกเริ่มให้สิทธิพนักงานสอบสวนเดิมของตำรวจ สามารถเลือกได้ว่าประสงค์จะเป็นพนักงานสอบสวนที่ขึ้นอยู่กับ สตช. หรืออัยการสูงสุด สุดท้ายก็จะอยู่กับอัยการทั้งหมด

ปัญหามีว่าพนักงานสอบสวนที่มีอยู่เดิมไม่พอกับปริมาณคดีที่ต้องสอบสวน พนักงานสอบสวนเดิมส่วนหนึ่งไม่สมัครใจไปขึ้นกับอัยการสูงสุด จำเป็นต้องรับบุคคลเพิ่มอีกมาก ขณะเดียวกัน ตำรวจก็ไม่อยากมีผู้บังคับบัญชาเพิ่มขึ้นจากเดิม ดังนั้น ต้องออกกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่และการบังคับบัญชาให้ชัดเจน เชื่อได้ว่าตำรวจท้องที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับ “หน่วยสอบสวน” ของอัยการ โดยยึดคติ “ไม่เอามือซุกหีบ”

ปัญหาที่ตามมาอีกข้อก็คืออัยการต้องเป็นเนติบัณฑิต ถ้าเราจะใช้วิธีคิดแบบง่าย ก็คือแก้กฎหมายให้พนักงานสอบสวนของอัยการไม่ต้องเป็นเนติบัณฑิต

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่อยู่ในข้อเสนอโดยตรงเพียงแต่ถูกพูดถึง นั่นคือ “ไม่มีชั้นยศ”

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมมียศ ร.ต.อ. ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ ผมเสนอขอไม่มีชั้นยศ ด้วยเหตุผลว่าชั้นยศทำให้เงินเดือนขึ้นยาก มีผู้เห็นด้วยหลายท่าน แต่มติถูกตีตกไปเมื่อกรรมการท่านหนึ่งถามที่ประชุมว่า “แล้วเราจะให้อะไรแก่ตำรวจ” และไม่มีใครตอบได้

สถานการณ์ของประเทศทางแถบเอเชียอาคเนย์เหมือนอยู่ในสงครามต่างลัทธิ ประเทศเล็กอย่างไทย ตำรวจต้องทำหน้าที่หลายอย่างโดยพร้อมจะเป็นทหาร หรือตำรวจชายแดน ตำรวจไทยต้องพกปืน คนพกปืนต้องมีวินัย จึงต้องมีชั้นยศ

ความคิดเสรีเป็นของดี ความคิดเสรีทำให้คิดนอกกรอบ แต่บางทีถ้าล้นกรอบเกินไปก็ตกหล่นจนฟุ้งกระจาย