อภิญญ ตะวันออก : แด่หนุ่มสาว (17) : วิมานสุดท้ายในอิสรภาพของ วัณณ์ โมลีวัณณ์

หลงรักเขาตั้งแต่แรกเห็น ดื่มด่ำในรูปและสีทรงแบบนั้นอย่างไม่รู้หน่าย

ด้วยเหตุนี้ สมัยที่เช่าห้องชั้นบนบริเวณหัวถนนนโรดมบูลเลอวาร์ด ฉันจึงมักชอบเดินเล่นข้ามฝั่งไปมาตรงเกาะกลางซึ่งเป็นสวนสาธารณะ ทำให้มองเห็นสัญลักษณ์กรุงพนมเปญส่วนที่สวยงามมากที่สุดมุมหนึ่ง

เขาของฉันนั่นก็คือ อนุสาวรีย์วิเมียนเอกเรียช/วิมานเอกราช ผลงานกลุ่มโรแมนติกนิยมของ วัณณ์ โมลีวัณณ์ สถาปัตยกรหนุ่มไฟแรงคนแรกของกัมพูชาขณะอายุเพียง 30 ปีเศษที่ออกแบบผลงานชิ้นเอกนี้ในปี ค.ศ.1958 ห้าปีหลังจากที่กัมพูชาเป็นอิสรภาพจากฝรั่งเศส

เกิดและเติบโตยุคเดียวกับสีหนุ-โรแมนติกนิยมเต็มรูปแบบ จึงไม่แปลกที่รูปลักษณ์ของอนุสาวรีย์วิมานเอกราช จะคลี่คลายไอเดียมาจากยอดปรางค์ปราสาทนครวัด ตามแบบคตินิยมชาวเขมร

แลเป็นเสมือนแลนด์มาร์กลำดับแรกของเมืองหลวง 1 ในผลงานสกุล “วัณณ์” ที่สง่างามและน่าจดจำ เหนือห้วงเวลาแห่งการมีชีวิตของเขา

 

เกิดในปี ค.ศ.1926 ที่เรียม เมืองตากอากาศทางตอนใต้ติดกับกำโปด

คะเนโดยผู้เขียนว่า ต้นบรรพบุรุษตระกูลวัณณ์ (Vann) น่าจะเป็นกลุ่มคาทอลิก/โปรตุเกสที่อพยพมาจากอินโดนีเซีย ในปลายพระบาทองค์ด้วง/ต้นสมัยพระบาทนโรดม

แลเป็นชนต่างชาติกลุ่มแรกๆ ที่ถวายตัวเป็นข้าราชบริพารในราชสำนัก

ด้วยพื้นฐานครอบครัวและการศึกษา ทำให้โมลีวัณณ์สอบทุนรัฐบาลสายวิทยาศาสตร์ไปเรียนต่อที่ปารีส แต่เขาเปลี่ยนใจเรียนกฎหมายในปีแรก และเปลี่ยนอีกครั้งในสาขาสถาปัตยกรรม จนสำเร็จเป็นสถาปนิกคนแรกของกัมพูชา

เมื่อกลับประเทศ และปักหมุดงานแรกที่วิมานเอกราช ตรงหัวมุมถนนสายหลัก (สีหนุ-มุนีวงศ์-นโรดม)

จากนั้นมา อลังการงานสร้างในการเนรมิตนครหลวงพนมเปญในแบบต่างๆ ก็ตามมา ตลอดยุคต้นปี “60 พร้อมๆ กับงานสร้างอนุสาวรีย์วิมานเอกราช

วัณณ์ โมลีวัณณ์ ยังออกแบบโอลิมปิกสเตเดี้ยม กลุ่มตึกอพาร์ตเมนต์โบแด็ง (Building) ทำเนียบรัฐสภาสูง (จำกามอน) โรงละครสุรมฤทธิ์ หอประชุมจตุรมุข กระทรวงการคลัง สถานทูตกัมพูชาในบางประเทศ ตลอดจนสถานที่ราชการและสถาบันศึกษาทั้งในกรุงพนมเปญและต่างจังหวัด

สิ่งที่โมลีวัณณ์ออกแบบนั้น ยังรวมไว้ด้วยภูมิสถาปัตย์ที่สง่างามรอบตัวอาคาร ตัวอย่างเช่น การจัดวางพื้นที่ ผังเมือง มุมสวน พญานาคพ่นน้ำพุ โดยข้ามฟากอีกด้านหนึ่ง จุดพักสายตาไปสู่ทางปากแม่น้ำบาสัก ดังที่เคยมีการวางรูปปั้นจำลอง-ประติมากรรมลอยตัว ยุคเกาะแกร์

เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนของโมลีวัณณ์ที่ให้ความสำคัญต่อภูมิสถาปัตย์พื้นที่ ทัดเทียมกับอาคารสถานที่ ซึ่งแทบไม่พบเลยในสิ่งปลูกสร้างในยุคต่อมาของพนมเปญ

 

ครั้นกลับมากัมพูชาในรอบที่ 2 เอกอุดมวัณณ์ โมลีวัณณ์ ขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในรัฐบาลเฉพาะกาล (1992-1993) ได้พยายามฟื้นฟูกรุงพนมเปญที่เขามองเห็นแต่ความหม่นมัว คลุมเครือ ให้กลับมาใกล้เคียงกับความรุ่งรางในอดีตเท่าที่จะทำได้

คุณูปการดังกล่าว ทำให้เขาได้รับพระราชทานชั้นยศระดับสมเด็จฯ แต่ วัณณ์ โมลีวัณณ์ ดูจะไม่เคยใช้นำหน้านาม กระทั่งเมื่ออายุได้ 89 ปี 10 เดือน คือตอนที่ถึงแก่อนิจกรรม

โดยราว 1 ปีก่อน โมลีวัณณ์ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียวที่เมืองเสียมเรียบ ในนิวาสสถานสุดท้ายที่เขาออกแบบ ซึ่งมีขนาดเล็ก และสามัญมากที่สุด เท่าที่งานทั้งหมดของเขาเคยปรากฏ กระนั้น ก็ยังแฝงด้วยสไตล์โรแมนติก คือทางเดินแบบบันไดหนีไฟกับลานชมวิวบนหลังคา

แต่เพียง 2 เดือนก่อนที่อนุสาวรีย์วิมานเอกเรียช จะฉลองครบปีที่ 59 (และ 64 ปีแห่งเอกราช) นั้น สถาปนิกท่านนี้ก็จากไปอย่างสงบในปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นับเป็นชีวิตที่สงบงามของชายผู้มีชีวิตยืนยาวถึงเกือบ 91 ปี ไม่เผชิญต่อโรคภัยเบียดเบียน นอกจากโรคชราอันเป็นไปตามสภาวะอันไม่เที่ยงของชีวิต

ทว่า สิ่งหนึ่งที่ วัณณ์ โมลีวัณณ์ กลับเผชิญมาตลอดในบั้นปลายของชีวิต นั่นก็คือ ผลงานของเขาที่ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ ได้ถูกภาวะอันไม่เที่ยงแท้คุกคามและบางแห่งก็ล้มหายตายจาก

 

เริ่มจาก-สตัดโอลิมปิก/โอลิมปิกสเตเดี้ยม 1 ในงานสร้างชื่อสกุลวัณณ์

โดยเฉพาะการที่สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ มีจุดเด่นที่ระบบถ่ายเทแสง-อากาศ ในเรือนโรงยิมเนเซียม และจุดรับลมและการระบายน้ำของรอบสเตเดี้ยม ซึ่งแม้จะไม่ได้รับการทะนุบำรุงมากว่า 5 ทศวรรษก็ตาม แต่สภาพพื้นที่ของสเตเดี้ยมโดยรวม ก็ยังใช้งานได้ดี

วัณณ์ โมลีวัณณ์ ได้รับการยกย่องอย่างมาก ต่อการออกแบบชิ้นนี้

ปรากฏการณ์พิเศษนี้ เป็นที่กล่าวถึงในกลุ่มสถาปนิกนานาชาติ ซึ่งทราบดีว่า ผลงานของเขาควรค่าแก่การจดจารในระดับสากล

ทุกวันนี้ จึงยังมีนักถวิลหาอดีต ที่หลงใหลสถาปัตย์ของเขาต่างพากันไปท่องเที่ยวและชมทัศนียภาพของสิ่งที่เคยยิ่งใหญ่ในผลงานชิ้นนี้ แม้อนาคต เป็นที่แน่นอนแล้วว่า จะมีเดโชโอลิมปิกสเตเดี้ยมแห่งใหม่ที่จะยิ่งใหญ่กว่างานของ วัณณ์ โมลีวัณณ์ ก็ตาม

เป็นที่ทราบกันดีว่า เครดิตผลงานชิ้นนี้ของ วัณณ์ โมลีวัณณ์ ได้ถูกลดคุณค่าลงมา เมื่อรัฐบาลได้ขายสัมปทานพื้นที่โดยรอบให้แก่นายทุน และขับชุมชนผู้อาศัยเดิมออกจากพื้นที่ จนกลายเป็นข้อพิพาทตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

วัณณ์ โมลีวัณณ์ นั้นเคยกล่าวถึงการไม่ให้ความสำคัญต่ออาคารเก่าแก่ที่ทรงคุณค่า ตลอดจนการเติบโตที่ไร้ทิศทางของกรุงพนมเปญ

นับวันจะถูกทำลายและแปรขายเป็นสินค้าทอดตลาด

 

สอง:- ตึกโบแด็ง (Building)

จุดประสงค์ของการออกแบบอาคารกลุ่มอพาร์ตเมนต์เพื่อเป็นที่พักอาศัยของกลุ่มข้าราชการระดับกลาง-ล่างแห่งนี้ แรกนั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักในมหกรรมกีฬาแหลมทอง

จึงมีความทันสมัยและตระการตาต่อกรุงพนมเปญมากในยุค “60 จนถึงกับทำให้ชาวเขมรบางกลุ่มเกิดความฉงนต่อวิถีสมัยใหม่ในยุคนั้น

ทว่า หลังจากสงครามการเมือง การทำลายและปล่อยร้างหลังสมัยเขมรแดง ทำให้อาคารทั้งหมดกลายสภาพเป็นที่ชุมชนคนยากไร้ ที่ทะลักเข้ามาเป็นที่อาศัยแรกจนมีสภาพไม่ต่างจากสลัม

กระนั้น ก็ยังเป็นทำเลทองอีกแห่งที่ทางการขายทอดตลาดให้เอกชน จนกลายเป็นตำนานการขับชาวสลัมผู้อาศัยเดิม แบบเดียวที่เกิดขึ้นกับชุมชนโอลิมปิก

ความเจ็บปวดชาวพนมเปญกลุ่มนี้ ดูจะไม่ต่างจากความรู้สึกของ วัณณ์ โมลีวัณณ์ ซึ่งคงนึกไม่ถึงว่า อาคารชุดเพื่อความศิวิไลซ์ทันสมัยใหม่ที่เขาสร้างขึ้นมาในยุคนั้น จะกลายมาเป็นโศกนาฏกรรมของชีวิตผู้คนในยุคนี้

 

ความปรารถนาที่จะเห็นผลงานที่ตนทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ ตกเป็นมรดกสมบัติชาติที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างมีคุณค่า

ทว่า เมื่อสัญลักษณ์แห่งความรุ่งรางสมัยสีหนุเกือบทั้งหมด ล้วนเป็นผลงานของ วัณณ์ โมลีวัณณ์ ได้ถูกลดทอนโดยรัฐบาลชุดต่อมา แลบางชิ้นก็ถึงขั้นทำลาย เปลี่ยนถ่ายขายสัมปทาน และนั่นคือทั้งหมด

ยกเว้นก็แต่ “อนุสาวรีย์วิมานเอกราช” ผลงานชิ้นเดียวที่เป็นเหมือนสมบัติร่วมสมัยของชาวเขมรทั้งปวง โดยไม่ว่า วัณณ์ โมลีวัณณ์ จะปรารถนาให้คงอยู่หรือไม่

ยอดปราสาทนครวัดที่เขาจำลองออกแบบ ก็จะยังเคียงคู่กับชาวกรุงพนมเปญตลอดไป

เฉกเดียวปรารถนาของ วัณณ์ โมลีวัณณ์ สุดท้ายนั่นคือ

การนำอัฐิธาตุของตนไปบรรจุไว้ (บริเวณหนึ่ง) ณ ปราสาทนครวัด