คุยกับทูต “คริสเตียน เรเรน” ทำความรู้จักชิลี-ประตูสู่ภูมิภาคละตินอเมริกา

 

ขอต้อนรับเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐชิลีประจำประเทศไทย ล่าสุดคือ นายคริสเตียน เรเรน (His Excellency Mr. Christian Rehren) ซึ่งมารับหน้าที่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชาและเมียนมา

นับเป็นเอกอัครราชทูตจาก GRULAC ประจำประเทศไทยลำดับที่ 8

“GRULAC คือกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและแคริบเบียน นั่นหมายความว่า เราเป็นกลุ่มผู้แทน หรือหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐหรือประเทศละตินอเมริกาและแคริบเบียนในประเทศเจ้าบ้าน ในกรณีนี้ ผู้แทนของสถานทูต คือ เอกอัครราชทูตที่เป็นสมาชิกของ GRULAC ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภารกิจของประเทศละตินอเมริกาและแคริบเบียนประจำประเทศไทย ปัจจุบันมีทั้งหมด 8 คน โดย 7 คนมาจากประเทศละตินอเมริกา คือ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก ปานามา เปรู และจากประเทศในเขตแคริบเบียนมีเพียงหนึ่ง คือ คิวบา” ท่านทูตเรเรนชี้แจง

เมื่อเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ.2014 รัฐสมาชิกสหประชาชาติจำนวน 192 จาก 193 ถูกแบ่งออกเป็นห้ากลุ่มภูมิภาค คือกลุ่มแอฟริกัน 54 รัฐสมาชิก, เอเชียแปซิฟิก 53 รัฐสมาชิก, กลุ่มยุโรปตะวันออก 23 รัฐสมาชิก, กลุ่มละตินอเมริกาและแคริบเบียน (GRULAC) 33 รัฐสมาชิก, กลุ่มยุโรปตะวันตกและอื่นๆ (WEOG) 28 รัฐสมาชิก และอีก 1 รัฐสมาชิกคือ สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้สังเกตการณ์

(ส่วนคิริบาติ – Kiribati แม้จะเป็นรัฐสมาชิกแต่ไม่เคยมีผู้แทนถาวรในสหประชาชาติ)

“ผมจบการศึกษาจากสถาบันการทูตชิลีในปี ค.ศ.1982 มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งชิลี (Universidad Catolica de Chile) และดนตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งชิลี (Universidad de Chile)”

“ได้ไปประจำการ ณ สถานเอกอัครราชทูตชิลีในประเทศเอกวาดอร์, เอลซัลวาดอร์, โรมาเนีย, สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เป็นที่ปรึกษาคณะทูตถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก และผู้แทนของชิลีในองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตามลำดับ ต่อมาเป็นเอกอัครราชทูตชิลีประจำประเทศมาเลเซียในปี ค.ศ.2011-2015 และล่าสุดคืออธิบดีกรมอเมริกา กระทรวงต่างประเทศ กรุงซันติอาโก ปี ค.ศ.2015-2017 ก่อนเดินทางมาประจำประเทศไทย”

“ผมเป็นผู้แทนของชิลีในการประชุมสุดยอดระหว่างประเทศและในกระบวนการเจรจาพิเศษ รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานของสำนักเลขาธิการสภาชั่วคราว (Pro Tempore) ของการประชุมสุดยอดระดับผู้นำประเทศ ครั้งที่ 17 (Ibero-America XVII) ของประมุขแห่งรัฐและรัฐบาลแห่งกรุงซันติอาโก ปี ค.ศ.2007”

การปรับตัวข้ามวัฒนธรรมของนักการทูตในต่างแดน

“ผมเป็นคนที่ปรับตนเองได้ ไม่ว่าจะมีวิถีชีวิตหรือแนวทางแบบใด สำหรับผมไม่ใช่เรื่องยากและสามารถปรับได้อย่างรวดเร็วเพราะไม่มีเวลาที่จะประกาศหรือตัดสินใจ ทุกอย่างได้ถูกวางแผนกำหนดไว้แล้ว เมื่อไปยังสถานที่ใหม่ก็จะได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ และจะต้องดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นสงครามในทวีปอเมริกากลาง การล่มสลายของยุโรปตะวันออก ประสบการณ์ในญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร”

“แต่ท้ายที่สุดแล้ว ได้เรียนรู้ว่า หลายเรื่องที่เราสามารถทำได้ แต่บางเรื่อง เราก็ต้องยอมรับ และปล่อยให้ดำเนินไปตามครรลองของมัน”

ไทยและชิลีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1962 และปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 55 ปี

ชิลีเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1981

ไทยเปิดสำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ กรุงซันติอาโก เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.1991 และเดือนเมษายน ค.ศ.1994 ไทยจึงเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก

ปัจจุบัน นายสาโรจน์ ธนสันติ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงซันติอาโก มีเขตอาณาในความรับผิดชอบคือ ประเทศชิลี, คอสตาริกา, ปานามา และเอลซัลวาดอร์

นอกจากนี้ ไทยยังได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ที่เมืองกอนเซปซีออน (Concepcion) เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2002 ด้วย

ประเทศชิลีตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ครอบครองพื้นที่ที่มีลักษณะโดดเด่นคือ เป็นแผ่นยาวผอมบางคล้ายแนวกระดูกสันหลังมนุษย์

มีความยาวประมาณ 4,329 กิโลเมตร ทางด้านกว้างของประเทศไม่มีส่วนใดของประเทศมีพื้นที่กว้างเกิน 240 กิโลเมตร

ทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกลงไปจนถึงจุดที่เรียกว่าเป็นผืนแผ่นดินที่อยู่ใต้สุดของโลก

ในขณะทิศตะวันออกมีเทือกเขาแอนดิส (Andes) กั้นเป็นพรมแดน

ชิลีจึงมีสภาพภูมิอากาศที่หลากหลายไปตามภูมิประเทศ ตั้งแต่ทะเลทราย ภูเขาไฟ ที่ราบ หุบเขา ชายทะเล เกาะแก่ง จนถึงธารน้ำแข็ง ฯลฯ

“ประเทศชิลี เป็นแชมป์แห่งการเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด แต่เราไม่กลัว ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะชิลีเป็นดินแดนแห่งขุนเขา เราจึงมีประสบการณ์ทางด้านนี้” ท่านทูตเล่า

ภูเขาไฟ บียาร์ริกา ของประเทศชิลีระเบิด

โดยเหตุที่ชิลีตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก หรือที่มีบางคนเรียกว่า Pacific Ring of Fire จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดได้ทุกเมื่อ

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเท่าที่มีการบันทึกได้ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เกิดขึ้นที่เมืองวาลดิเวีย (Valdivia) ทางตอนใต้ของประเทศชิลี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.1960

วัดความสั่นสะเทือนได้ในระดับ 9.5 ตามมาตราโมเมนต์

ตามตำนานกล่าวว่า คำว่า ชิลี มาจากชื่อหัวหน้าเผ่าอาราวคาเนียนคนหนึ่งคือ ทิลี (Tili) ซึ่งสามารถต้านทานการบุกรุกของพวกอินคาได้

ขณะที่บางตำนานอ้างว่า คำว่า ชิลี มาจากภาษามาปูเช (Mapuche) แปลว่า “ที่ซึ่งสุดแผ่นดิน”, “จุดที่อยู่ลึกที่สุดของโลก” หรือ “นกนางนวล”

รวมทั้งมาจากการเลียนเสียง “ชีลี-ชีลี” (cheele-cheele) ของนกชนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ชาวสเปนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาในชิลีบันทึกว่าชนพื้นเมืองในดินแดนแห่งนี้เรียกตัวเองว่า “ชนแห่งชิลี”

ชาวมาปูเช (Mapuche) เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณประเทศชิลีตั้งแต่ 10,000 ปีที่แล้ว ในแถบชายฝั่งและบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบมอนเตเบร์เด (Monte Verde) และกูเอบาเดลมีโลดอน (Cueva Del Milodon)

สเปนภายใต้การนำของ เปโดร เด บัลดีเบีย (Pedro De Valdivia) หนึ่งในกองกิสตาดอร์ (conquistador) คือกลุ่มนักสำรวจ กองทหาร นักผจญภัยชาวสเปนและโปรตุเกส ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 ซึ่งเป็นยุคแห่งการสำรวจ ได้เข้ามาพิชิตชิลี

แม้ว่าจะได้รับการต่อต้านจากชาวมาปูเชแต่ก็สามารถยึดชิลีได้เป็นผลสำเร็จและนำชิลีรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิสเปน

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของสเปนในครั้งนี้ทำให้สเปนสามารถยึดได้เฉพาะดินแดนแถบเมืองซันติอาโก (Santiago) และบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น

เพราะบริเวณอื่นกองทัพสเปนยังไม่สามารถเอาชนะกองทัพของชาวมาปูเชที่เหลือได้

ซึ่งสเปนพยายามปราบปรามหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนในที่สุดต้องใช้แม่น้ำบีโอบีโอเป็นตัวแบ่งเขตแดน

ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 โคเซ มีเกล การ์เรรา (Jose Miguel Carrera) ได้ประกาศเอกราชให้ชิลีเป็นอิสระจากสเปน

แม้ว่าสเปนจะพยายามเข้ามาปราบปรามและยึดครองชิลีอีกครั้ง

แต่การยึดครองก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

จนในที่สุดชิลีสามารถขับไล่อิทธิพลของสเปน และได้เอกราชจากสเปนโดยสมบูรณ์ในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ.1818

หลังจากได้เอกราชจากสเปนแล้ว รัฐบาลชิลีใช้ความพยายามอย่างสูงในการยึดครองดินแดนของชาวมาปูเชจนสามารถยึดดินแดนได้โดยเด็ดขาดในปี ค.ศ.1871 และขยายอาณาเขตทางทิศใต้จนครอบคลุมถึงบริเวณช่องแคบมาเจลลัน (Strait of Magellan)

นอกจากนี้ รัฐบาลชิลีได้ทำสงครามแปซิฟิก (War of the Pacific) กับประเทศโบลิเวียและเปรูจนได้รับชัยชนะ

ถนนตัดผ่านเทือกเขาแอนดีส อยู่ระหว่างประเทศชิลีและอาร์เจนตินา

ทำให้สามารถขยายดินแดนทางตอนเหนือ ซึ่งดินแดนที่ได้มาจากทั้งสองเหตุการณ์กลายเป็นดินแดนของประเทศชิลีในปัจจุบัน

“ชิลีมีประวัติศาสตร์มายาวนาน เป็นดินแดนแห่งความหลากหลายและถูกโดดเดี่ยวโดยสภาพภูมิประเทศ ด้วยเทือกเขาแอนดิส ที่ยาวที่สุดในโลกกั้นพรมแดนทางตะวันออก ซึ่งพาดผ่านตั้งแต่ประเทศโคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย อาร์เจนตินา และชิลี ส่วนตอนเหนือของชิลี มีทะเลทรายอาตากามา (Atacama) กั้นระหว่างชิลีกับเปรูทางใต้ ดังนั้น เราจึงอยู่ห่างไกลจากทุกคน”

เทือกเขาแอนดีส บริเวณประเทศชิลี

ทะเลทรายอาตากามา ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก (ไม่นับรวมพื้นที่ขั้วโลก) มีความหนาวเย็นในตอนกลางคืน แต่อุดมไปด้วยแร่ทองแดงและไนเตรต

มีปริมาณฝนต่อปีเพียง 1.7 มิลลิเมตร เคยทำสถิติฝนไม่ตกยาวนานติดต่อกันถึง 173 เดือน (14 ปี 4 เดือน) ในช่วงปี ค.ศ.1903-1918

แต่ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ทำให้ช่วงเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2015 เกิดพายุฝนฟ้าคะนองไปทั่วบริเวณทะเลทรายอาตากามา มีฝนตกปริมาณมากเท่ากับจำนวนฝนปรกติ 14 ปีรวมกันภายในวันเดียว จนเกิดน้ำท่วมและโคลนถล่ม โดยท่านทูตเรเรนเสริมว่า

ปรากฏการณ์ดอกไม้บานสะพรั่ง (ดอกแมลโลว์ -Mallow) บนทะเลทราย อาตากามาในชิลี

“ผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดปรากฏการณ์ทุ่งดอกไม้บานบนทะเลทรายที่สวยที่สุดในรอบ 18 ปีหลังฝนตกหนักครั้งประวัติศาสตร์”

ชิลีมีท่าเรือของรัฐ 10 แห่ง และท่าเรือของเอกชนอีก 23 แห่ง

ท่าเรือบัลปาไรย์โซ – Valparaíso port

มีบัลปาไรย์โซ (Valparaiso) เป็นเมืองท่าเรือหลักของประเทศ

และอีกไม่นานนี้ จะมีเส้นทางอุโมงค์เชื่อมระหว่างอาร์เจนตินากับชิลี (ซึ่งมีพรมแดนระหว่างประเทศที่ยาวที่สุดเป็นอันดับสามของโลก คือมีความยาว 5,300 กิโลเมตร หรือ 3,300 ไมล์จากทิศเหนือไปทิศใต้ตามเทือกเขาแอนดิส)

อันจะทำให้การขนส่งสะดวกสบายขึ้นมาก

เนื่องจากในปัจจุบัน การขนส่งระหว่าง 2 ประเทศซึ่งเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งมหาสมุทร ต้องขนส่งผ่านข้ามภูเขาแอนดิส ซึ่งมีความสูง เส้นทางคดเคี้ยวและมีปัญหาแออัดล่าช้า

บางช่วงในฤดูหนาวมีหิมะปกคลุมหนาแน่นทำให้การขนส่งต้องหยุดชะงักหรือใช้เวลานานขึ้นมาก ต้นทุนในการขนส่งระหว่างสองประเทศนี้จึงสูงเกินควร ท่านทูตเรเรนกล่าวว่า

“ปัจจุบัน ประเทศชิลีไม่ได้โดดเดี่ยวเหมือนในอดีต เพราะเรากำลังทำงานร่วมกับประเทศอาร์เจนตินาด้านระบบโลจิสติกส์การขนส่งทางบกโดยการสร้างอุโมงค์เชื่อมระหว่างอาร์เจนตินากับชิลี ผ่านเทือกเขาแอนดิสมายังฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และเรายังได้เสนอการสร้างท่าเรือเพื่อเชื่อมโยงฝั่งตะวันออกมายังฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกกับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีทางออกทะเล ไม่เพียงแต่กับอาร์เจนตินาเท่านั้น แต่กับประเทศบราซิล อุรุกวัย ปารากวัย และโบลิเวียด้วย เนื่องจากเราไม่มีปัญหาด้านการแข่งขันกันในระหว่างประเทศ”

ภูเขาไฟระเบิดในชิลี Puyehue Volcano, Chile – Photograph by CLAUDIO SANTANA