คำ ผกา : แบ่งปันหรือทำทาน

คำ ผกา

 

“เงินสิบบาทอาจซื้ออะไรได้ไม่มาก แต่ถ้าเอามากองรวมกัน เงินสิบบาทอาจช่วยคนได้เป็นหมื่นเป็นพัน”

คำพูดนี้ในแคมเปญวิ่งเพื่อ 11 โรงพยาบาลของ ตูน บอดี้สแลม มีพลัง และทำให้เราหันมาดูเหรียญ 10 บาทในมือเรา ที่ปกติเราอาจจะลืมไว้ในรถ ทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ และจะว่าไปแล้ว เงิน 10 บาทสมัยนี้แทบจะซื้ออะไรไม่ได้จริงๆ ซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ห่อยังไม่พอ อย่ากระนั้นเลย เอาไปให้พี่ตูนดีกว่า พี่ตูนอุตส่าห์วิ่ง เสียสละ ลำบาก แล้วเงินเล็กๆ น้อยๆ ของเรายังมีส่วนในการช่วยคนที่ลำบากด้วย

โดยทั่วไปแล้ว แคมเปญระดมเงินบริจาคสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือการสร้างวัด โบสถ์ วิหาร เป็นแคมเปญที่ไม่ควรจะถูกต่อต้าน ตั้งคำถามใดๆ เลย เพราะไม่ว่าจะพลิกดูในแง่มุมไหน ก็ไม่มีใครเสียหาย

คุณตูนได้วิ่ง ได้ทำความดี คนที่บริจาคได้ทำความดี ได้แบ่งปัน โรงพยาบาลได้เงินไปซื้อเครื่องมือแพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วย ฯลฯ

และจะว่าไป มันแทบจะเป็นธรรมเนียมของโลกไปแล้วด้วยซ้ำว่า ถ้าคุณเป็นดารา เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นเศรษฐี คุณต้องทำ “มูลนิธิ” อะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง เป็นองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลก ช่วยมนุษยชาติ ตามแต่ความเชื่อหรืออุดมการณ์ของคุณ

เช่น ถ้าหากฉันเป็นดาราที่รวยมาก และดังมาก จะตั้งศูนย์วิจัยการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ เป็นต้น

หรือนักธุรกิจบางคนเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ก็บริจาคเงินครึ่งหนึ่งของตนเองให้มหาวิทยาลัย ทำวิจัยเรื่องนี้โดยเฉพาะ-และเราก็ไม่มีสิทธิไปด่าเขางมงาย เพราะเงินของเขา เขาอยากทำมูลนิธิ หรือจะเอาเงินนั้นไปช่วยเหลือใครก็ได้ ที่เขาเห็นว่าควรช่วย

เว้นแต่มูลนิธิของเขาอาจไปสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมมากๆ ก็อาจถูกทักท้วงวิพากษ์วิจารณ์ เช่น อาจมีคนบริจาคเงินให้สวนเสือ แต่ภายหลังพบว่า สวนเสือนั้นค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ก็อาจมีการเปิดโปงข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้มีการเลิกบริจาค

ตัวอย่างที่ง่ายกว่านั้น ที่รณรงค์กันมานานคือ การให้เงินขอทาน

ซึ่งผู้ให้ก็สบายใจว่าเงินห้าบาทสิบบาทของเราไม่มีความหมาย แต่ถ้าเราเอาเงินน้อยๆ นั้นไปให้คนที่เขาต้องการจริงๆ เงินน้อยก็กลายเป็นเงินที่มีค่า ช่วยต่อชีวิตคน ทำไปแล้วบังเกิดความอิ่มเอม เห็นรอยยิ้มของลุงขอทานผู้พิการแล้วก็ทำให้หัวใจเราพองโตไปทั้งวัน – โอ๊ย คุ้มมาก จ่ายห้าบาท มีความสุขทั้งวันกับการทำความดี

แต่ก็มีข้อถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ว่า การให้เงินขอทานเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมค้ามนุษย์ ดังนั้น เราจึงไม่ควรให้เงินขอทาน

อย่างไรก็มีคนจำนวนมากไม่ได้สนใจเรื่องการค้ามนุษย์ แต่สนใจว่า ตัวเองได้ “ทำทาน” แล้วสบายใจ การทำทานนั้นจบลงด้วยตัวของมันเอง คือ ตัวเองทำทานแล้ว มีความสุขแล้ว ได้บุญแล้ว – อื่นๆ ใดหลังจากนั้นไม่ใช่ปัญหาของเรา – ดังนั้น พวกเขาก็จะยืนยันให้เงินขอทานต่อไป

การให้ทาน หรือการบริจาคเงิน จึงมีบริบททางวัฒนธรรม และการเมืองเชิงอุดมการณ์ในสังคมนั้นๆ อยู่สูงมาก

แน่นอน เรารู้ว่า คนดัง ดารา มหาเศรษฐีในโลกนี้ตั้งองค์กรการกุศลของตนเอง แต่อย่าลืมว่าองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ขอเงินบริจาคจากประชาชนคนอื่นๆ ดังนั้น จึงเป็นการกุศลส่วนตัว ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ทางภาษีหรือจะอินกับเรื่องที่ตัวเองต้องการไฟต์จริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในกรณีที่มีการขอบริจาคจากคนทั่วไป น่าจะมีสองลักษณะด้วยกัน

เช่น ในยามเกิดภัยธรรมชาติ ฝนตก พายุ สึนามิ ดินถล่ม อย่างไม่คาดฝัน เกิดสงคราม เกิดภาวะฉุกเฉิน คนดัง คนมีชื่อเสียงก็จะใช้ชื่อเสียงของตัวเองออกมารณรงค์ให้ชาวบ้านร้านช่องช่วยกันบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือคนที่ต้องตกระกำลำบากกะทันหัน

อีกลักษณะหนึ่งคือ เป็นหน่วยงานเอกชน เอ็นจีโอ เป็นยูเนสโก้ เป็นพีต้า ฯลฯ ที่มีโครงการให้ความช่วยเหลือ บรรเทาปัญหาสังคม เช่น เด็กขาดอาหาร เด็กไม่มีโรงเรียน คนพิการ ผู้หญิงที่ถูกกระทำ ผู้ลี้ภัย ผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้ติดยาเสพติด ฯลฯ

ตัวเราเลื่อมใสองค์กรไหน อุดมการณ์ไหน ก็บริจาคให้องค์กรนั้น และองค์กรเหล่านี้ มักทำงานแบบ นานาชาติ คือ ไม่ได้ช่วยในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เข้าไปช่วยในทุกพื้นที่ที่มีปัญหา

ในแง่นี้ การบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกที่ประสบความยากลำบากจึงต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยสองประการคือ ผู้บริจาคมีอุดมการณ์บางอย่างที่สอดคล้องกับองค์กรที่ตนเองบริจาค เช่น เชื่อเรื่องสิทธิผู้หญิง เชื่อเรื่องสิทธิเด็ก อินกับประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิสัตว์ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ

สิ่งที่ตามมาคือ ประเด็นเหล่านี้เกี่ยวพันกับ “การเมือง” อย่างลึกซึ้ง คนที่บริจาค จึงไม่เพียงแค่ “ทำทาน” แต่ต้องรู้ว่า ปัญหาผู้อพยพ ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่า ปัญหาโสเภณีเด็ก หรือแม้แต่ความอดอยากของเด็กจำนวนมาก เกี่ยวกันกับการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ การผูกขาดทรัพยากรของคนกลุ่มน้อย ความฉ้อฉลของรัฐบาลเผด็จการ เป็นต้น

พร้อมๆ ไปกับการบริจาค ผู้บริจาคหรือผู้สนับสนุนการทำงานขององค์กรเหล่านั้น มักขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกันไปด้วยในชีวิตประจำวัน เช่น ผู้บริจาคเงินให้พีต้า ย่อมไม่ใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหนังสัตว์ หรืออาจจะเป็นผู้กินมังสวิรัติในชีวิตประจำวัน

นอกจากพกพาประเด็นการเมืองติดตัวตลอดเวลา องค์กรเหล่านี้ต้องมีธรรมาภิบาลขององค์กรที่ตรวจสอบความโปร่งใสของการบริหารจัดการองค์กร การจัดการกับเงินบริจาคว่าถูกนำไปใช้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ มีการคอร์รัปชั่นหรือไม่?

ดังนั้น มากกว่าการบริจาค การศึกษาการทำงานของแต่ละองค์กรก่อนบริจาคจึงสำคัญมาก

จะเรียกว่านี่คือการบริจาคบนฐานคิดแบบมนุษยธรรมของโลกสมัยใหม่ ที่ต้องมีทั้งเรื่องการเมืองและการตรวจสอบความโปร่งใส การบริหารจัดการเงินขององค์กรต่างๆ อย่างเข้มงวด

ฉันอาจจะผิดก็ได้ แต่เท่าที่เห็นการทำทาน ทำบุญ และการบริจาคเงินของคนไทย เราไม่มีมิติทางการเมือง เท่ากับมิติของ “ทาน” และ “บุญ”

คนไทยจำนวนมากเห็นว่าการไปบริจาคเงิน การบริจาคโลหิตเป็นการ “สะเดาะเคราะห์” อย่างหนึ่ง เช่น สมมุติมีหมอดูมาทักว่าเราจะโชคร้าย มีอุบัติเหตุ ดังนั้น เราจึงต้องไปทำให้ตัวเองเสียเลือดก่อนเป็นการแก้เคล็ด วิธีเสียเลือดคือไปบริจาคเลือด

จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราสามารถบริจาคเงินให้วัดได้เรื่อยๆ โดยไม่เคยคิดเรื่องการตรวจสอบหลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใสของการใช้เงินของวัด

หนักกว่านั้น เรารู้สึกว่าเป็นภาระแก่ชีวิตมาก ทำบุญไปแล้วจะคิดอะไรมาก วัดจะเอาเงินไปทำอะไรก็เรื่องของวัด ทำบุญแล้วคิดเล็กคิดน้อยคิดมากคิดถี่ถ้วนแทนที่จะได้บุญกลับได้บาป

การทำบุญให้กับวัดเราไม่ค่อยคิดว่า โอ๊ยย ทำไม วัดแดดร้อนมาก ทำไมวัดสร้างสิ่งปลูกสร้าง อาคารที่ไม่จำเป็น เราไม่คิดเลยว่า เงินที่เราบริจาคไปนั้น ควรถูกนำมาใช้อย่างไรจึงเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะ “บุญ” เป็นเรื่องที่ไม่ต้องตั้งคำถาม

ด้วยคอนเซ็ปต์การ “ให้” เช่นนี้ แม้ในประเด็นสมัยใหม่ เช่น การบริจาคที่ดินให้ราชการเพื่อสร้างโรงพยาบาล คนบริจาคจำนวนหนึ่งไม่ได้คิดว่าคือการ “ลด” การครอบครองทรัพย์สินส่วนตนเพื่อคืนกลับให้สาธารณะ

แต่คิดว่าการบริจาคเช่นนี้จะได้กุศลแรง เป็นการทำบุญ “ใหญ่”

ดังนั้น แนวคิดเรื่องสาธารณประโยชน์กับ “บุญ” ของปัจเจกจึงซ้อนทับไปด้วยกันโดยปราศจากการตั้งคำถาม

และถึงที่สุด เราก็มีคำตอบว่า ไม่เห็นเป็นไรเลยก็วิน-วิน รัฐบาลได้ที่สร้างโรงพยาบาล ชาวบ้านได้โรงพยาบาลใกล้บ้าน เจ้าของที่ดินได้บุญ

การบริจาคในบริบทของไทยจึงไม่มีการเมืองเชิงอุดมการณ์ ไม่มีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่มีการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของรัฐบาล แต่เปี่ยมไปด้วยเนื้อนาบุญของผู้ให้

ในขณะที่เราบริจาคเงินให้โรงพยาบาลเพราะเราสงสารคนจนคนป่วยในโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ แต่เรากลับสามารถเพิกเฉยต่อประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เราบริจาคที่ดินสร้างโรงเรียนแต่ไม่ผลักดันเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา คัดค้านนโยบายเรียนฟรี

เราบริจาคเงินช่วยคนยากจนได้เยอะแยะแต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เราบริจาคเงิน บริจาคที่ดิน แต่เราทำทุกอย่างเพื่อเลี่ยงภาษี

เราบริจาคเงิน บริจาคที่ดิน แต่เราคัดค้านการปฏิรูปที่ดิน ไม่เอาภาษีมรดก ไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐสวัสดิการ

เราสามารถเยินยอคนที่บริจาคเงินเยอะๆ ให้กับอะไรที่ไหนก็ได้ แต่เราไม่เคยสำรวจว่า คนที่บริจาคเงินเยอะๆ นั้นหาเงินมาอย่างชอบธรรม หรือได้มาจากการกดขี่ขูดรีดใครหรือไม่?

สิ่งที่ท้าทายสังคมไทยคือ เราต้องแยกให้ได้ว่าการทำการกุศลของเราต้องไม่ใช่โอกาสให้รัฐละเลยการทำหน้าที่ของตนเอง

เราชอบทำบุญ ทำทาน ไม่ผิด แต่ในเวลาเดียวกัน เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่มีความเสมอภาค เราต้องคิดว่า ทำอย่างไรทุกคนในสังคมจะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีโดยไม่ต้องรับความช่วยเหลือหรือรับเงินบริจาค รอความเมตตาจากใคร

และการสร้างสังคมเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างศักดิ์ศรีให้พลเมืองทุกคน เริ่มจากการบริหารจัดการภาษีให้เป็นไปเพื่อกระจายความมั่งคั่งลงสู่พลเมืองของรัฐ

ภาษีต้องถูกใช้เพื่อให้พลเมืองมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ใช่ถูกใช้ไปในทางตรงกันข้าม

ขณะเดียวกัน การทำการกุศล การบริจาคนั้นตั้งอยู่บนหลักคิดของความรักในเพื่อนมนุษย์

มิใช่ทำเพราะอยากได้บุญ หรือทำเพื่อสะเดาะเคราะห์ให้ตัวเอง