ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ครูช้าง พราหมณ์สยาม : พระคเณศกับปกรณัมแบบไทยๆ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

พระคเณศ ถือว่าเป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ป๊อปปูล่าร์มากที่สุดในโลกองค์หนึ่ง เพราะลักษณะที่ต่างไปจากเทพเจ้าทั่วไปของพวกพราหมณ์ ด้วยพระเศียรที่เป็นรูปช้าง แต่มีพระวรกายส่วนอื่นทั้งหมดเป็นอย่างมนุษย์ทั้งหมด หลายครั้งเราอาจรู้จักท่านในชื่ออื่นๆ เช่น พระพิฆเนศวร์ พระคณปติ ฯลฯ

แต่คนทั้งโลก โดยเฉพาะพวกพราหมณ์ต้นตำรับในอินเดียอาจจะรู้จักพระคเณศ ในคนละความหมายกับไทยเรา

เพราะคนไทยปัจจุบันมักบูชาท่านในฐานะ “เทพเจ้าแห่งศิลปะ” ตามอย่างที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้

เราจึงมีองค์กรที่เกี่ยวเนื่องด้วยงานศิลปะในไทยอย่าง กรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร มีพระคเณศ เป็นโลโก้หราอยู่ให้เห็น

แต่ดั้งเดิมนั้นพวกพราหมณ์ชมพูทวีปบูชา พระคเณศ ในฐานะของ “เทพเจ้าแห่งอุปสรรค” หรือ “เทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค” ตรงตามความหมายของชื่อ “พิฆเนศวร์” หรือ “คณปติ” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า “คเณศ” คือ “เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่คณะ”

ไม่ใช่เทพเจ้าแห่งศิลปะ

 

สถานภาพที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ “พระคเณศ” ก็คือ “เทพเจ้าแห่งอักษรศาสตร์” ในปางนี้ท่านจะทรงงาที่หักลงข้างหนึ่งของท่านอยู่ในพระหัตถ์ เทพปกรณ์พราหมณ์เล่าว่าฤๅษีวาลมิกิได้ฟังวีรกรรมของพระราม รู้สึกอัดอั้นตันใจในเกียรติยศและความกล้าหาญของพระรามยิ่งนัก

ระหว่างเดินทางกลับอาศรมท่านเห็นนกกระสาคู่หนึ่งบินอยู่บนท้องฟ้า ทันใดนั้นเองพรานผู้หนึ่งยิงลูกศรคร่าเอาชีวิตของนกตัวหนึ่งไป นกอีกตัวเห็นคู่ชีวิตของตนจบชีวิตลงก็เศร้าเสียใจ เลยพุ่งร่างของตนเองเสียบเข้ากับลูกศรดอกเดียวกันเพื่อจบชีวิตตกตามกันไป

ฤๅษีท่านเห็นเข้าก็ตื้นตันใจโพล่งปากเล่าเป็นเรื่อง รามยณะ ด้วยโศลกที่งดงามและไพเราะอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสามโลก จนพระคเณศต้องลงมาขอจดจารไว้ เครื่องมือที่ใช้จดก็คืองาของท่านนั่นแหละ

มักจะเข้าใจกันว่าเป็นเพราะความเกี่ยวข้องระหว่างงานอักษรศาสตร์ และศิลปะนี่เอง ที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงนับเอา พระคเณศ เป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ ส่วนจะเป็นจริงอย่างที่ว่าหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ ใครจะไปทราบพระทัยของพระองค์ได้?

 

แต่กรณีที่สยามเรายกให้ พระคเณศ เป็นเทพเจ้าผู้บันดาลความสำเร็จอื่นๆ นอกเหนือเป็นจากตำแหน่งหน้าที่ที่พวกพราหมณ์ในอินเดียมอบให้กับท่านมาแต่เดิมไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ในอยุธยานั่นแล้ว

ข้อความใน ยวนพ่ายโคลงดั้น วรรณกรรมยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ปรากฏข้อความว่า “การช้างพิฆเณศวรน้าว ปูนปานท่านนา” ซึ่งปราชญ์ทางวรรณคดี ผู้ล่วงลับ อย่าง อ.ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ได้ถอดความไว้ว่า “รอบรู้วิชาคชกรรมจนเปรียบปานได้กับพระพิฆเนศวร” แสดงให้เห็นว่า ชาวอยุธยานับถือ “พระคเณศ” ในฐานะของ “ครูช้าง”

ก็ในพวกพราหมณ์อินเดียเขาไม่นับถือท่านในสถานะนี้นี่ครับ

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนับถือ “พระคเณศ” ในฐานะ “ครูช้าง” มีอยู่มากในสมัยรัตนโกสินทร์

ภาพลายเส้นรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่ปรากฏอยู่ในสมุดไทยกลุ่มหนึ่งที่มักจะเรียกรวมๆ กันว่า สมุดภาพพระเทวรูป ซึ่งเชื่อกันว่าโดยมากเขียนขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 มีภาพลายเส้นรูปเทพเจ้าที่มีพระวรกายเป็นมนุษย์ แต่มีพระเศียรอย่างช้างอยู่มาก

ที่สำคัญคือในจำนวนนี้มีหลายรูปที่เกี่ยวเนื่องกับ ครูช้าง

แต่ชื่อภาพที่กำกับไม่ยักจะเรียกว่าพระคเณศ หรือชื่ออื่นๆ อย่างที่มักจะคุ้นเคยกัน เช่น พระโกญจนาเนศวร และพระเทพกรรม์

 

ชื่อ พระโกญจนาเนศวร มีปรากฏในหนังสือนารายณ์สิบปางฉบับโรงพิมพ์หลวง (พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ.2417) ดังความว่า

“ในไตรดายุคพระอิศวรมีเทวโองการให้พระเพลิงพระทำเทวฤทธิ์เพื่อบังเกิดศิวบุตร 2 องค์ พระเพลิงรับเทวโองการและกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นเปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสอง เบื้องขวาบังเกิดบุตรที่มีพระพักตร์เป็นช้างคือพระคเณศ ส่วนเบื้องซ้ายบังเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่งชื่อพระโกญจนาเนศวร มีพักตร์เป็นช้าง 3 พระพักตร์ มีพระกร 6 พระกร แต่ละพระหัตถ์กำเนิดมีช้างประเภทต่างๆ เช่น ช้างเอราวัณ ช้างคีรีเมฆละไตรดายุค ช้างเผือกเอก เผือกตรี เผือกโท เป็นต้น”

อ.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายถึงคำว่า “โกญจนาเนศวร” ว่ามาจากคำ “เกฺราญจนาเนศวร” (กฺราญจน+อานน+อิศวร) ในภาษาสันสกฤต หมายถึงผู้ปราบเหล่าอสูรแห่งเขาเกราญจะ คือพระขันทกุมาร พระบุตรอีกผู้หนึ่งของพระอิศวร

โดย อ.มณีปิ่น ได้อธิบายต่อไปว่า ชาวสยามโบราณคงทราบทางเทพปกรณัมแขกว่าพระอิศวรมีบุตรสององค์ แต่เข้าใจผิดว่าเป็นองค์เดียวกัน จึงโอนชื่อพระขันทกุมารไปให้กับพระคเณศ

คำอธิบายตรงนี้น่าสนใจนะครับ เพราะในตำนานการต่อเศียรช้างให้พระคเณศ ตามตำรานารายณ์สิบปางฉบับโรงพิมพ์หลวงก็เรียก “พระคเณศ” ก่อนมีเศียรเป็นช้างว่า “พระขันทกุมาร”

 

แต่คำอธิบายนี่ก็ยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมชาวสยามถึงนับถือพระคเณศในฐานะครูช้าง เงื่อนงำสำคัญอยู่ในชื่อ “พระเทพกรรม์”

จารึกฐานพระอิศวร จากจังหวัดกำแพงเพชร (แต่เป็นรูปพระอิศวรสำริด งานช่างสมัยอยุธยาตอนกลาง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร) ระบุปีสร้างตรงกับ พ.ศ.2054 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“และช่วยเลิกพระศาสนาพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์และพระเทพกรรมมิให้หม่นให้หมอง ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

ความตอนนี้กล่าวถึงการ “เลิก” คือ “ทำนุบำรุง” พระศาสนาทั้งสาม คือ 1) พุทธศาสนา 2) พระไสยศาสตร์ คือศาสนาพราหมณ์ และสุดท้ายคือ 3) ศาสนาพระเทพกรรม ซึ่งแยกออกจากศาสนาพราหมณ์ต่างหาก เพราะเป็นความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิมของสุวรรณภูมิ

ดังนั้น แต่ดั้งเดิม “พระเทพกรรม” จึงเป็นคนละองค์กันกับ “พระคเณศ”

 

ในหนังสือโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยก่อนอยุธยา มีข้อความว่า “พระกรรมบดี ปู่เจ้า” ปรากฏอยู่ในบทแช่งผี คืออัญเชิญผี (ซึ่งหมายถึงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เหนือธรรมชาติ หรือบรรพบุรุษ) โดยปรากฏเป็นชื่อแรกของส่วนนี้ พระกรรมบดี หรือพระเทพกรรม จึงน่าจะเป็นผีผู้ใหญ่พื้นเมืองแต่ดั้งเดิมของสุวรรณภูมิ เพราะถูกเชิญมาเป็นประธานแต่ต้น

คำว่า “กรรมบดี” แปลตรงตัวว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งการกรรม์” โดยคำว่า “การกรรม์” มีปรากฏอยู่ในสมุทโฆษคำฉันท์ ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังความที่ว่า

“ดูเดิมขวักชอบโดยความ หมายต้นตูมงาม

และควรที่ทำการกรรม์”

ความตอนนี้พรรณนาอยู่ในส่วนของการทำพิธีคล้องช้าง ซึ่งในคำฉันท์เรื่องสมุทโฆษบรรยายความไว้อย่างละเอียด สอดคล้องกับใน ฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างของเก่า ครั้งกรุงเก่า ที่เรียกการคล้องช้างว่า “การอุดมกรรม์”

ข้อความอีกตอนหนึ่งใน สมุทโฆษคำฉันท์ เล่มเดิมได้เรียกชื่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการคล้องช้างว่า “พระกรรม์” ดังข้อความว่า

“ด้วยเดชสดุดีพระกรรม์ คชคงโจษจรร

และคับทั้งแคว้นคอกขัง”

“พระกรรม์” ในที่นี้หมายถึง “พระเทพกรรม์” อย่างไม่ต้องสงสัย และคงสรุปได้ว่า พระเทพกรรม์เป็น ผีผู้ใหญ่พื้นเมืองสุวรรณภูมิ มาก่อนจะรับศาสนาพุทธและพราหมณ์จากชมพูทวีป โดยมีบทบาทสำคัญเหลืออยู่ในพิธีคล้องช้าง ทำให้ชวนคิดไปได้ว่า คำว่า “พระกรรม์” อาจเคลื่อนหรือเกี่ยวข้องกับคำว่า “ประกำ” หรือ “ปะกำ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีคล้องช้างเช่นกัน เช่นคำว่า “เชือกปะกำ” ที่หมายถึงเชือกคล้องช้าง หรือ “หมอปะกำ” “ครูปะกำ” ที่หมายถึง ครูช้าง เป็นต้น

ความเกี่ยวข้องกับการช้างอย่างนี้ทำให้ พระคเณศ ที่มีพระเศียรเป็นช้างเข้ามาปะปนกันกับเทพกรรมอย่างไม่ต้องขบคิดให้มากความ งานนิพนธ์เรื่อง ฉันท์กล่อมช้างพลาย ของกรมหมื่นสุเรนทร ที่ประพันธ์ขึ้นราวปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 1-ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ถึงกับมีข้อความว่า

“ไหว้ไท้ท้าวเทวกรรม์ พิฆเนศวรสรรค์

คือขันธกุมารมหิมา”

หมายความว่า ในความเข้าใจของปราชญ์คนหนึ่งในยุคต้นกรุงเทพฯ อย่างกรมหมื่นสุเรนทร พระเทพกรรม พระคเณศ และพระขันทกุมาร คือเทพองค์เดียวกัน

 

การที่กิจการคล้องช้างแบบพื้นเมืองสุวรรณภูมิเข้ามาอยู่เป็นในส่วนหนึ่งของศาสนาพราหมณ์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ร่องรอยยังมีอยู่ในการสร้างปกรณัมว่าพระนารายณ์เป็นผู้ลงมาถ่ายทอดวิชาคชกรรมให้กับคนพื้นเมือง ซึ่งก็มีหลักฐานอยู่ในหนังสือ นารายณ์สิบปางฉบับโรงพิมพ์หลวง เล่มเดิม

ร่องรอยสำคัญอีกแห่งอยู่ที่กลุ่มพราหมณ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “พราหมณ์พฤฒิบาศ” ที่ทำกิจพิธีเกี่ยวกับการคชกรรม พราหมณ์แบบนี้ไม่มีในอินเดีย จึงน่าจะมาจากการเข้ารีตของหมอปะกำ หรือครูปะกำ นั่นแหละ เพียงแต่ว่าประวัติตรงนี้ถูกเกลื่อนความหายไป พราหมณ์กลุ่มนี้จึงไม่สามารถอธิบายได้ว่าต้นสายปลายเหตุของตนเองมาจากไหน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยพยายามสอบค้นที่มาของพราหมณ์กลุ่มนี้ โดยทรงสันนิษฐานไว้ในพระทัยก่อนแล้วว่า สืบมาจากกรุงกัมพูชา เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จเยือนกัมพูชาจึงได้สอบถาม พราหมณ์พฤฒิบาศ ที่นั่น แต่ก็คว้าน้ำเหลว

ก็พ่อพราหมณ์ตอบกลับว่ามาจากเขาไกลาส ของพระอิศวรโพ้น