วงค์ ตาวัน : ประชานิยม-ทหารนิยม

วงค์ ตาวัน

จากที่เคยยืนยันตามโรดแม็ปที่ว่า จะมีการเลือกตั้งในปี 2561 บัดนี้มีคำกล่าวล่าสุดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปลี่ยนไปใช้คำว่า จะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 คือ เปลี่ยนจาก “จะมีเลือกตั้ง” เป็น “จะประกาศวันเลือกตั้ง” ในปี 2561

เป็นอันชัดเจนว่า รัฐบาล คสช. เริ่มไม่ผูกมัดตัวเองว่าจะมีเลือกตั้งในปี 2561 ตามที่เคยนั่งยันยืนยันมาตลอด

“ดังนั้น ชาวบ้านจึงอดไม่ได้ที่จะตีความว่า ถึงเวลาประกาศในปี 2561 ก็อาจจะประกาศว่าเลือกตั้งในปีอื่นที่ไม่ใช่ 2561 ก็เป็นได้”

แต่ก็วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า เหตุใดรัฐบาล คสช. จึงมั่นอกมั่นใจ จนกล้าเปลี่ยนคำพูด ไม่ผูกมัดว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561

นั่นส่วนหนึ่งเพราะการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมเปิดทำเนียบข่าว ต้อนรับผู้นำจากประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นเรื่องไม่ปกตินัก

แต่เบื้องหลังที่ผู้นำสหรัฐยอมรับและยอมจับไม้จับมือกับผู้นำรัฐบาลไทยครั้งนี้ ทุกฝ่ายเชื่อว่า เป็นเพราะมีข้อเสนอเรื่องการค้าขายนำหน้า ตั้งแต่ซื้อชายของกินของใช้ ยันของหนัก

กระนั้นก็ตาม ภาพรวมเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์สามารถเข้าไปนั่งจับเข่าคุยกับผู้นำมะกันในห้องรูปไข่ได้ เท่านี้ก็สามารถเอามาใช้โฆษณาทางการเมือง ทำนองว่ารัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ปัญหาของมหาอำนาจแห่งโลกประชาธิปไตยอีกต่อไป

ดังนั้น ไทยจะเลือกตั้งในปี 2561 ตามสัญญาเดิม หรือจะเปลี่ยนเป็น ประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งส่อว่าจะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีกนั้น

“รัฐบาล คสช. ก็ไม่หวั่นไหวแรงบีบจากต่างชาติอะไรอีกแล้ว!”

แต่ในทางกลับกัน เป็นที่น่าสงสัยอีกว่า แล้วจะเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีกเพื่ออะไร ทั้งที่ดูมีความพร้อมมากมาย กฎกติกาใหม่ปูทางนายกฯ คนนอกอย่างสดใส

“หรือไม่มั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามได้?”

ทั้งๆ ที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็อพยพหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว และคงไปอย่างไม่กลับมาอีกแล้ว ตระกูลชินวัตรบนถนนการเมืองไทยน่าจะจบสิ้นแล้ว

จึงเป็นไปได้มากว่า หลังยิ่งลักษณ์หนี และหลังศาลพิพากษาคดีจำนำข้าวโดยจำคุก 5 ปีแล้ว

มีการตรวจวัดกระแส อาจจะพบว่า ยิ่งหนักเข้าไปอีก!

กลุ่มคนที่ต่อต้านพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร พากันโห่ร้องดีใจ เมื่อยิ่งลักษณ์หนีออกนอกประเทศตามพี่ชาย กลายเป็นพวกไร้แผ่นดินอยู่ แถมเมื่อคดีจำนำข้าวมีความผิด ศาลตัดสินจำคุกยิ่งลักษณ์ 5 ปี คนฝ่ายนี้จึงประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจว่า นี่เป็นจุดจบของนโยบายประชานิยม จุดอวสานของนักการเมืองที่เอาเงินแผ่นดินไปหาคะแนนนิยม

บ้างก็ป่าวร้องว่า นี่คือผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตรวจสอบรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนล้มคว่ำ แถมคดียังถึงโรงถึงศาลและมีคำพิพากษาว่าผิดจริง จึงเป็นจุดอวสานของนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

แต่เมื่อมองจากอีกฟาก เชื่อว่าฝ่ายยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย มีจุดตอบโต้ในเรื่องจำนำข้าวได้มากมาย

ยิ่งถ้าหากยิ่งลักษณ์ ซึ่งบัดนี้เดินทางเข้าไปอยู่ที่อังกฤษและกำลังยื่นเรื่องขอลี้ภัยทางการเมือง

“หากลงเอยได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจริงๆ ถึงเวลานั้นเราคงได้เห็นยิ่งลักษณ์ออกมาตอบโต้ทั้งในเรื่องจำนำข้าวและกระบวนการโค่นล้มทางการเมืองอย่างดุเดือดแน่นอน”

มองในกระแสต่างประเทศจะพบว่า จากรายงานของสื่อมวลชนสำนักใหญ่ๆ ทั่วโลก ล้วนไปในทิศทางเดียวกันคือ พี่น้องชินวัตรถูกกลุ่มอำนาจทางการเมืองโค่นล้ม และกระบวนการเริ่มต้นของคดีจำนำข้าว ซึ่งเริ่มสอบสวนกันในยุครัฐบาลทหาร ถือว่าไม่ใช่กระบวนการในสภาพการเมืองปกติ

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทูตของสถานทูตประเทศใหญ่ๆ ในยุโรปและสหรัฐ ได้ติดตามปัญหาทางการเมืองในไทยอย่างเกาะติดมาโดยตลอดในช่วงกว่าสิบปีมานี้ ออกพบปะผู้คนในวงการเมืองเอง แม้แต่ในคดีจำนำข้าว ก็มีการติดตามไปฟังการพิจารณาคดีเองด้วย

“รายงานการข่าวจากสถานทูตที่มีไปถึงรัฐบาลของตนเอง คงจะอธิบายกลเกมทางการเมืองในไทยอย่างลึกซ้ำ!!”

ภาพรวมเหล่านี้จะเห็นได้ว่า ทักษิณที่หลบหนีมากว่าสิบปีแล้ว ยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนทั่วโลกได้ โดยไม่มีการตามจับตัวส่งให้ทางการไทย

โอกาสของยิ่งลักษณ์ย่อมไม่ต่างกัน

ดังนั้น เชื่อว่าอีกไม่นาน ทักษิณและยิ่งลักษณ์จะต้องเริ่มออกมาเปิดตัวเคลื่อนไหวบนเวทีสากล ยิ่งหากใกล้การเลือกตั้ง จะต้องมีมาพูดจาให้สัมภาษณ์ เพื่อส่งผลโดยตรงมายังสนามการเมืองในไทย

“ถึงเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์อาจจะต้องเจอคำถามมากมายที่ส่งจากทักษิณและยิ่งลักษณ์”

ภาพความเคลื่อนไหวอย่างโกลาหลในห้องประชุมสภา ขว้างปาเก้าอี้ ปาแฟ้มเอกสาร บีบคอ ส.ส.เพื่อไทย เชื่อมโยงต่อมาถึงการที่แกนนำบางส่วนปลุกม็อบนกหวีด กลายเป็นชัตดาวน์ ลงเอยคือการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และตั้งแท่นคดีทุจริตจำนำข้าว

แล้วยิ่งถ้าย้อนไปสมัยที่อภิสิทธิ์ได้ขึ้นเป็นนายกฯ โดยการอุ้มชูของกองทัพ

“จะทำให้ภาพการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างแข็งขัน ขัดแย้งกับภาพการร่วมขบวนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกลุ่มอำนาจจนนำมาสู่การรัฐประหาร!?”

จะกลายเป็นคำถามที่อื้ออึงในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งหนหน้า

รวมๆ เหล่านี้กระมัง ที่ทำให้ คสช. ต้องพลิกแพลงถ้อยคำเป็น จะประกาศวันเลือกตั้งในปี 2561

มีการวิเคราะห์ว่า คำพิพากษาที่ให้จำคุกยิ่งลักษณ์ 5 ปีในคดีจำนำข้าวนั้น จะพบว่าในกรณีที่จำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาล ในคำพิพากษาไม่ชี้ว่าผิดในกรณีความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ศาลชี้ว่ารัฐบาลได้มีมาตรการแก้ไขเป็นระยะๆ ถือว่าไม่ผิด

“แต่จุดที่ศาลชี้ว่ายิ่งลักษณ์มีความผิดคือ ปล่อยปละละเลยในกรณีเกิดทุจริตการระบายข้าวจีทูจี!”

จุดนี้เอง ที่มีการตีความว่า ตัวนโยบายจำนำข้าวยังมีความชอบธรรมอยู่

เพียงแต่กติกาการเมืองใหม่ กรอบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควบคุมไม่ให้รัฐบาลในอนาคต สามารถมีนโยบายที่ใช้เงินงบประมาณมหาศาล หรือที่เรียกว่าประชานิยมได้อีกต่อไป

ความจริงแล้วนโยบายจำนำข้าว หรือนโยบายประชานิยมในเรื่องต่างๆ นั้น อาจมีข้อเสียในเรื่องวินัยทางการเงิน มีจุดอ่อนในภาพรวมของโครงสร้างเศรษฐกิจ

“แต่สำหรับประชาชนวงกว้าง นโยบายประชานิยมก็คือนโยบายของพรรคการเมือง ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชนชนชั้นล่างมากที่สุด”

ย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองระบบรัฐสภาของไทย ถ้าไม่มีนโยบายที่เรียกว่าประชานิยม ก็ไม่เคยมียุคไหนที่รัฐบาลจะมีนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนชั้นล่างได้อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมมากที่สุดเลย

ดังนั้น ประชานิยม จึงเป็นปัญหาของชนชั้นอื่นที่ไม่ได้ประโยชน์ เพราะมันเป็นผลประโยชน์โดยตรงของประชาชนวงกว้าง

“คนที่รังเกียจประชานิยม ย่อมเป็นคนชนชั้นสูง ชนชั้นกลางระดับบน”

แต่น่าตลกว่า มีคนชนชั้นล่างที่พ่อแม่เป็นชาวไร่ชาวนา แต่มีโอกาสได้เรียนในเมืองหลวง และทำงานในออฟฟิศหรูหรา มีรายได้ประมาณพออยู่พอกิน พอผ่อนรถผ่อนบ้าน แต่ด้วยจุดยืนทางการเมืองที่เกลียดชังเพื่อไทยและชินวัตร เลยมีความสุขไปด้วยที่ยิ่งลักษณ์หนี ประชานิยมล้มคว่ำ

“ทั้งๆ ที่ประชานิยมคือผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองแท้ๆ ที่หายวับไปพร้อมๆ กับการเข้ามาแทนที่ของรัฐบาลทหาร!”

จุดยืนของรัฐบาล คสช. ก็คือ ใช้พลังกองทัพมาควบคุมบ้านเมืองให้อยู่ในกรอบ เน้นความมั่นคงของชาติอยู่เหนืออื่นใด

ดังนั้น จึงเป็นยุคทุ่มเทให้กับการเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพอย่างจริงจัง

จะเรียกว่านโยบายทหารนิยมก็ว่าได้

เมื่อล้มรัฐบาลประชานิยม ทำให้ผลประโยชน์ของชนชั้นล่างหายไป ก็เลยได้รัฐบาลทหารนิยม พร้อมโครงการต่างๆ ที่ทุ่มเทไปในเรื่องของกองทัพแทน!