กรองกระแส/ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จากปี 2549 มายังปี 2557 ซ้ำรอยอย่างมี “พัฒนา”

กรองกระแส

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

จากปี 2549 มายังปี 2557

ซ้ำรอยอย่างมี “พัฒนา”

มิได้เป็นเรื่องแปลกที่จะมองกรณีการหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าดำเนินไปเหมือนกับกรณีการหายตัวไปของ นายทักษิณ ชินวัตร ในกาลอดีต

เป็นไปตามบทสรุปที่ว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”

เหมือนกันกับที่มองว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือการซ้ำรอยกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ดำเนินไปเหมือนกับเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

เป็นความจริงที่ว่า สถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นเช่นเดียวกับสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2549

นั่นก็คือ เป็น “รัฐประหาร”

เป็นความจริงที่ว่า สถานการณ์อันเกิดขึ้นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเช่นเดียวกับสถานการณ์อันเกิดขึ้นกับ นายทักษิณ ชินวัตร

นั่นก็คือ เป็นผลพวงจาก “รัฐประหาร”

กระนั้น หากสำรวจลงไปในรายละเอียด สถานการณ์ไม่ว่าเรื่องรัฐประหาร ไม่ว่าเรื่องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีลักษณะ “ซ้ำรอย” กับอดีตจริง

แต่ก็ซ้ำรอยในเชิง “พัฒนา” ขึ้น

รัฐประหาร 2549

รัฐประหาร เสียของ

แม้รูปแบบและกระบวนการของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะดำเนินไปเหมือนกับรูปแบบและกระบวนการของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เห็นได้จากเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวในลักษณะมวลชน

เพียงแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นการเคลื่อนไหวผ่านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ขณะที่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็น กปปส.

กระนั้น หากมองลึกลงไปในกระบวนการของคนทำรัฐประหารก็แทบไม่มีความแตกต่างในเชิงรูปแบบ เพราะว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เพราะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.

การใช้กำลังในการยึดอำนาจทางการเมืองโดย ผบ.ทบ. จึงเป็นจุดร่วมอย่างสำคัญ

กระนั้น เป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็เพราะมองเห็นว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ประสบผลสำเร็จอยู่ในลักษณะอันสรุปได้ว่า “เสียของ”

เสียของเพราะจัดการกับพรรคไทยรักไทยไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

จาก ทักษิณ ชินวัตร

มายัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หากมองเพียงว่าเป้าหมายในการทำลายล้างจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คือ นายทักษิณ ชินวัตร ขณะที่เป้าหมายในการทำลายล้างจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ก็เหมือนกับประวัติศาสตร์ “ซ้ำรอย” อย่างแน่นอน

เพราะระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความสัมพันธ์กันไม่เพียงเป็นพี่เป็นน้อง หากยังเป็นในทางการเมืองจาก ไทยรักไทย พลังประชาชน มายังเพื่อไทย

เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังอยู่จึงจำเป็นต้องจัดการ

กระนั้น หากมองจากผลสะเทือนและพัฒนาการกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็มีพัฒนาการลึกซึ้งมากยิ่งกว่า

นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ถึงกับเป็น “ผู้ลี้ภัย”

ตรงกันข้าม กระบวนการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีลักษณะสลับซับซ้อนมากกว่า โดยเฉพาะการวางแผน ตระเตรียม

เห็นได้จากความพยายามที่จะไปอยู่ในสถานะ “ผู้ลี้ภัย”

สถานะของ “ผู้ลี้ภัย” นี้เองที่ทำให้กระบวนการทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แตกต่างไปจากกระบวนการทางการเมืองของ นายทักษิณ ชินวัตร

เพราะเท่ากับเอา “ประชาคมโลก” มาเป็น “เครื่องต่อรอง”

สถานะผู้ลี้ภัย

จุดร้อนการเมือง

ประวัติศาสตร์มีลักษณะผลิตซ้ำอย่างที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” จริง แต่ภายในการเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์ก็ดำเนินไปภายใต้กฎแห่งการเปลี่ยนแปลง

ทำให้เกิด “พัฒนาการ” ไปตามแต่ละเงื่อนไขของ “เวลา”

ประวัติศาสตร์จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 จึงแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์ของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ประวัติศาสตร์การหายตัวไปของ นายทักษิณ ชินวัตร จึงแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์การหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นั่นก็คือ แม้จะเป็นการ “ซ้ำรอย” แต่ก็ซ้ำรอยอย่างมี “พัฒนาการ”