ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 6-12 ตุลาคม 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

ศิลา โคมฉาย เขียนไว้ในคอลัมน์ “แตกกอ-ต่อยอด”

“ปลายเดือนกันยายนของผม มักสะเทือนด้วยความตายของมิตรสหายเสมอ”

และ

อุดร ทองน้อย

คือสหายผู้ลาจากนั้น

“…วัยหนุ่ม วัยของการเปลี่ยนชีวิตอย่างรุนแรง ยุคสมัยของเรา สร้างและผลักดันคนรุ่นใหม่ไปสุดขั้วด้านหนึ่ง กระทั่งในกรอบความเชื่อ เต็มไปด้วยเรื่องส่วนรวม

แทบไม่เหลือชีวิตส่วนตัวของคนหนุ่มสาว

กลายเป็นนักวัตถุนิยม ที่เห็นว่าความตายเป็นเรื่องปกติของการเสียสละอุทิศ เป็นการจบชีวิตไปจากโลก สิ่งที่เหลืออยู่อาจเป็นคำเชิดชู และความเคียดแค้นที่ต้องชำระ”

ใช่ ศิลา โคมฉาย และ อุดร ทองน้อย ล้วนได้ผลกระทบจาก 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519

“สุรชาติ บำรุงสุข” นำเสนอ 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว ฐานทัพต้องออกไป! ในคอลัมน์ “ยุทธบทความ”

แน่นอนสืบเนื่องกับ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ เช่นกัน

“…ผลจากการค้นคว้าเรื่องฐานทัพสหรัฐ…ทำให้ผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีอภิปรายหลายครั้ง

เป็น “ตัวเปิด” ในการไปยื่นหนังสือต่อกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตสหรัฐ

เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนของศูนย์นิสิตฯ ที่เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เพื่อทวงถามคำสัญญาเรื่องกำหนดเวลาถอนฐานทัพสหรัฐออกจากไทย

…ท่านตอบยืนยันเสียงดังฟังชัด

…ถ้าสหรัฐไม่ถอนตามกำหนด ผมจะไปเดินขบวนกับพวกคุณ…

คำตอบของท่านกลายเป็นข่าวใหญ่ของหนังสือพิมพ์วันนั้น และก็เป็นคำตอบที่ท้าทายพวกขวาอย่างมาก

แล้วพวกขวาทั้งหลายจะยอมท่านหรือ?”

สุรชาติ ถูกจับกุมในปี 2519…

ขณะที่ “เกษียร เตชะพีระ” พาไป “อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ”

อ่านด้วยเหตุผล

“…คนรุ่นผมและธงชัย (วินิจจะกุล) เป็นพวกเดนตายรอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

ต่างก็ทำงานทางปัญญาต่อเนื่องในฐานที่เป็นการใช้หนี้ชีวิตและจิตวิญญาณให้แก่บรรดาเหยื่อผู้ถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนั้น

เช่น

อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง The Communist Movement in Thailand และ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของตัวแสดงและสถาบันสำคัญๆ ในการเมืองไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก็รวบรวมปากคำพยานและทำงานวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และประวัติการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาประชาชนในอดีต

ส่วนผมเองก็ทำเรื่อง Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958, ประวัติความเป็นมาและการเมืองวัฒนธรรมของความเป็นไทยและลูกจีนในเมืองไทย รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยมไทยและโลก

เป็นต้น”

ด้านคอลัมน์ “หน้าพระลาน” และ “วางบิล” ของ 2 นักหนังสือพิมพ์อาวุโส

จัตวา กลิ่นสุนทร ยังมีปริศนาคาใจ กระทั่งวันนี้ ว่า

“คำถามที่ทุกวันนี้ยังตอบกับลูกไม่ได้ว่าทำไมคนไทยจึงต้องเข่นฆ่ากันเองอย่างเลือดเย็น ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าบรรดานักศึกษาทั้งหลายเหล่านั้นเป็นคอมมิวนิสต์ญวนตามคำกล่าวหา ป้ายสี”

ส่วน เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ วินาทีที่ได้ยินคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ผ่านวิทยุ ยังก้องหู

ให้ปิดหนังสือพิมพ์

และทำลายเอกสาร-สิ่งพิมพ์ทุกชนิด ที่อ้างทำลายความมั่นคงของชาติ

“…ทุกคนต่างยกมือขึ้นจากพิมพ์ดีด

เสียงเงียบเกิดขึ้นฉับพลันในวินาทีนั้น…”