บทความพิเศษ นงนุช สิงหเดชะ/ออง ซาน ซูจี เมื่อ “โนเบล-เลือกตั้ง” ช่วยอะไรไม่ได้

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ออง ซาน ซูจี เมื่อ “โนเบล-เลือกตั้ง” ช่วยอะไรไม่ได้

วีรสตรีประชาธิปไตยแห่งพม่า อย่าง ออง ซาน ซูจี ที่เคยเจิดจรัสสุดขีดหลังพรรคของเธอชนะเลือกตั้งถล่มทลายเมื่อปลายปี 2558 ดูเหมือนจะพลิกผันจากที่เคยเจิดจรัสในสายตาประชาคมโลก ก็เริ่มเข้าสู่โหมดมัวหมองส่อเค้าจะเป็นดาวอับแสง

จากที่เคยได้รับคำชมเชยสุดยอดแทบจะสำลัก ก็กลับกลายมาเป็นการรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านลบอย่างหนัก จากปัญหาชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาและทหารพม่ารอบล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคม จนทำให้กองทัพพม่าเข้าปราบปรามรุนแรง ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย ชาวโรฮิงญาหลายแสนคน ต้องอพยพหนีตายเข้าไปในประเทศบังกลาเทศ

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพม่าถูกประชาคมโลกประณามว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะมีการปราบปรามที่โหดเหี้ยม

เลขาธิการสหประชาชาติออกโรงจี้ให้พม่าหยุดคุกคามโรฮิงญา

แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิมทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย ต่างก็ตำหนิรัฐบาลพม่าภายใต้รัฐบาลของนางซูจีว่าทำร้ายมุสลิม

เมื่อเสียงตำหนิและแรงกดดันเข้มข้นขึ้น สุดท้ายทำให้นางซูจียกเลิกการไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ก ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี

ช่างเป็นภาพที่แตกต่างจากเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมื่อซูจีแต่งตัวสวยไปเฉิดฉายบนเวทีเดียวกันนี้พร้อมกับได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ บรรยากาศเต็มไปด้วยความชื่นชม ชื่นมื่น ราวกับสิ่งเลอค่าที่สุดในจักรวาล

เพราะเป็นห้วงหลังจากพรรคของเธอชนะเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ รัฐบาลทหารพม่ายอมปล่อยเธอเป็นอิสระหลังจากกักกันตัวไว้ที่บ้านนานกว่า 15 ปี

ปัญหาการปราบโรฮิงญาอย่างร้ายแรงครั้งนี้ ทำให้เกิดเสียงเซ็งแซ่ว่า สมควรจะริบรางวัลโนเบลสันติภาพไปจากนางซูจีหรือไม่ เนื่องจากเธอไม่ได้ดูแลโรฮิงญาอย่างเพียงพอ ไม่ได้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนเหล่านี้เพียงพอ

ชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่านับว่าถูกข่มเหงมาโดยตลอด เพราะพม่าปฏิเสธความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญา เนื่องจากความชิงชังทางเชื้อชาติที่ตกค้างในประวัติศาสตร์มายาวนานตั้งแต่ช่วงที่อังกฤษเข้ายึดครองพม่า (สรุปสั้นๆ อังกฤษคือต้นเหตุ) ทำให้พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ของประเทศ แม้ว่าคนเหล่านี้จะตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่มานาน

ประชาคมโลกตั้งความหวังไว้สูงว่า เมื่อพรรคของซูจีได้ปกครองประเทศ จะทำให้สถานการณ์ของโรฮิงญาดีขึ้น

แต่ในเมื่อยังเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ต่างจากสมัยรัฐบาลทหารปกครอง ความผิดหวังจึงท่วมท้นรุนแรง

แปรออกมาเป็นความขุ่นเคืองไม่พอใจนางซูจี

แม้นางซูจีจะพยายามชี้แจงว่าปัญหานี้เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี จะให้เธอแก้ปัญหาด้วยเวลาอันสั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ก็ตาม

ปัญหาโรฮิงญาค่อนข้างสลับซับซ้อน เพราะในขณะที่พม่าปฏิเสธไม่ให้ทางการสหรัฐเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่โรฮิงญานั้น ฟากจีนเองกลับแสดงท่าทีสนับสนุนการกระทำของพม่าว่าถูกต้องแล้วเพราะจำเป็นต้องรักษาความมั่นคงของรัฐยะไข่

ทำให้ดูคล้ายว่า จีนและสหรัฐ สองพี่เบิ้มของโลกที่อยู่ต่างขั้ว อาศัยปัญหาในพม่า มาเป็นเวทีในการปีนเกลียว เหยียบเท้ากันเพื่อดุลอำนาจตัวเองในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือการที่โรฮิงญารู้สึกว่าถูกรัฐบาลพม่ารังแก อาจจะทำให้กลุ่มรัฐอิสลามหัวรุนแรงหรือไอซิสฉวยโอกาสนี้ดึงโรฮิงญาไปเป็นพวกด้วยการเสนอความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับพม่า

เมื่อถึงระดับนั้นพม่าก็จะกลายเป็นเป้าหมายของไอซิส

และเสี่ยงจะเปิดโอกาสให้ไอซิสซ่องสุมกำลังจนแข็งแกร่งสร้างภัยคุกคามต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและที่ปรึกษาแห่งรัฐ แต่โดยพฤตินัยก็ถือว่า ออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำประเทศ

ซึ่งนับจากเธอเข้าบริหารประเทศไม่นาน ก็เริ่มมีเสียงโอดครวญตัดพ้อจากฝ่ายรักประชาธิปไตยว่าเธอไม่ได้ปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากมีนักข่าวถูกจับกุมจำนวนมากไม่ต่างจากยุครัฐบาลทหาร

โดยเฉพาะการจับกุมนักข่าว 3 คน ซึ่งเข้าไปทำข่าวการทำเผาทำลายยาเสพติดของกลุ่มทีเอ็นแอลเอ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์กบฏของพม่าในรัฐฉาน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก

ผู้สื่อข่าวดังกล่าวถูกตั้งข้อหาว่าทำผิดกฎหมายว่าด้วยการไปสมคบกับกลุ่มผิดกฎหมาย ทั้งที่ที่ผ่านมา แม้แต่ในยุครัฐบาลทหารก็ไม่เคยมีนักข่าวถูกจับกุมจากการเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อนเลย แต่กลับมาถูกจับในยุคซูจี ทำให้เธอถูกวิจารณ์ว่าไม่ยอมยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่ได้ปกป้องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และถึงกับตั้งคำถามว่าซูจีที่เคยถูกกักขังนาน 15 ปีละทิ้งอุดมการณ์ไปแล้วหรืออย่างไร

ขณะเดียวกัน ดูเหมือนฝ่ายของซูจี ก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก โดยโฆษกของซูจีออกมาระบุว่านักข่าวดังกล่าวถูกจับเพราะฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ยอมแจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก่อนเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว

แม้จะพอเข้าใจได้ว่าการจับกุมนักข่าวที่วิจารณ์กองทัพหรือถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพอยู่นอกเหนืออำนาจของซูจี เพราะกองทัพยังมีอำนาจอยู่มาก แต่ประเด็นที่หลายคนไม่อาจทำใจยอมรับได้ก็คือ มีประชาชนจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งหลายคดีเกี่ยวข้องกับการวิจารณ์นางซูจีโดยตรง และในจำนวนนี้มีหญิง 1 ราย ถูกจำคุก 6 เดือนเพียงเพราะวิจารณ์นางซูจีทางโซเชียลมีเดีย

บางคนก็ว่า ออง ซาน ซูจี กลายเป็นแค่ “นักการเมือง” คนหนึ่งไปแล้ว

เรื่องนี้น่าจะสรุปได้ว่า รางวัลโนเบลสันติภาพและการเลือกตั้ง ก็ไม่อาจเป็นเครื่องรับประกันอะไรได้