ในประเทศ : วางบิล 1,000 ล้าน อาหารดี ดนตรีไพเราะ พิษยึดสนามบิน พธม. จ่อล้มละลาย

กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ให้ 13 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงินกว่า 522 ล้านบาท บวกกับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น

คำนวณออกมาแล้วร่วม 1,000 ล้านบาท

เมื่อทีมทนายยื่นอุทธรณ์ไม่ทันกำหนด 30 วัน ทำให้คดีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายอมร อมรรัตนานนท์ นายนรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง นายสำราญ รอดเพชร นายศิริชัย ไม้งาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และ นายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายปิดสนามบินระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2551 ถึงที่สิ้นสุด และกลายเป็นจุดจบของบรรดาแกนนำ พธม.

หลังจากนี้จะต้องรอการแจ้งผลคำพิพากษาไปยัง ทอท. และออกคำบังคับไปยังลูกหนี้ให้ชดใช้ค่าเสียหาย ภายใน 1 เดือน ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายโจทก์ที่จะต้องหาทรัพย์ของลูกหนี้มาเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้ครบตามจำนวน

ถ้าครบก็จบถ้าไม่ได้ก็ไกล่เกลี่ย อายัดทรัพย์มาชดใช้ หรือฟ้องล้มละลายนำเงินมาใช้หนี้จนครบ

เบ็ดเสร็จอาจต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่ก่อขึ้น อย่างต่ำคนละ 77 ล้านบาท

 

คําพิพากษานี้ทำให้พันธมิตรฯ กลายเป็นม็อบการเมืองกลุ่มแรกที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการชุมนุม ซึ่งในส่วนของพันธมิตรฯ กรณีปิดสนามบินไม่ได้มีเพียงคดีเดียวที่ฟ้องร้องค่าเสียหายจากแกนนำพันธมิตรฯ แต่ยังมีคดีที่บริษัทวิทยุการบินฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 103 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง

นอกจากนี้ ยังมีคดีทางอาญาข้อหาร่วมกันก่อการร้าย จากการปิดสนามบิน ที่อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ และเชื่อว่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน เพราะจำเลยทั้ง 98 คน ผลัดกันป่วยตลอดหลายปีที่ผ่านมา

หากจำกันได้ ตลอดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ สิ่งหนึ่งที่สังคมพูดกันเสมอมาคือวรรคทองที่ว่า “อาหารดี ดนตรีไพเราะ” ที่พูดโดย นายกษิต ภิรมย์ หลังการชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ซึ่งนายกษิตขณะนั้นเป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปร่วมงานสัมมนาที่สถาบันศึกษาความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีนักการทูตและผู้สื่อข่าวต่างประเทศร่วมรับฟังจำนวนมาก วลีดังกล่าวของนายกษิตทำให้ประเทศไทยโด่งดังไปทั่วโลก

นายโทมัส เบลล์ ผู้สื่อข่าวเทเลกราฟประจำกรุงเทพฯ ได้เขียนบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ว่า

งานของนายกษิต คือการปรับภาพลักษณ์ประเทศในสายตาต่างประเทศ แต่คงจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะความจริงแล้วเขาคือผู้สนับสนุนคนสำคัญในการประท้วง และยังคงเป็นอยู่

แม้วันที่ 24 ธันวาคม 2551 นายกษิตจะออกมาชี้แจงเจตนาในการพูดถ้อยคำ “การประท้วงสนุกมาก อาหารดี ดนตรีไพเราะ” ในการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศวันแรก แต่ก็ไม่เป็นผล เกือบจะถูกปรับออกจากตำแหน่ง เพราะกระแสข่าวคดีผู้ก่อการร้ายยึดสนามบินสุวรรณภูมิโจมตีภาพลักษณ์ของรัฐบาล

แต่ถึงอย่างไร นายกษิตก็ยังคงเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดียึดสนามบิน ที่ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันในขณะนั้น

 

อีกด้านหนึ่ง แกนนำอย่างนายสุริยะใส กตะศิลา ถึงกับออกมาเผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังศาลพิจารณาคดี บอกไม่ยอมรับข้อกล่าวหาที่ว่า พันธมิตรฯ ยึดสนามบิน

นายสุริยะใสบอกว่า “กรณีพันธมิตรฯ ชุมนุมที่สนามบิน พันธมิตรฯ ไม่ได้ไปยึดสนามบิน แต่ไปดักรอนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กลับจากต่างประเทศ จึงไปดักรอทั้งสองสนามบิน โดยชุมนุมอยู่บริเวณทางวิ่งของถนนรถยนต์ที่ใช้รับ-ส่งผู้โดยสารเท่านั้น

เหมือนคราวหนึ่งที่พันธมิตรฯ นัดไปสนามบินดอนเมืองเพื่อดักรอนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จะบินกลับจากองค์การสหประชาชาติ จึงอย่าตีความว่า พธม. ยึดสนามบิน เพราะไม่ได้คิดยึดสนามบิน แต่ผู้ว่าการการท่าฯ สั่งปิดสนามบินเอง และละทิ้งผู้โดยสาร จนอาสาสมัครพันธมิตรฯ ที่รู้ภาษาต่างประเทศ ต้องไปบริการผู้โดยสาร ที่ถูกผู้ว่าการการท่าฯ ทิ้ง แกนนำพันธมิตรฯ ต้องบริหารจัดการไม่ให้สนามบินเสียหาย ทั้งลานบิน และร้าน Duty Free รวมทั้งจัดหาเครื่องบินมารับผู้แสวงบุญไปร่วมพิธีฮัจญ์สำเร็จ จนเมื่อมวลชนเรือนหมื่นถอนตัวกลับ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค 3 พรรค ผู้ว่าการการท่าฯ ผู้สั่งปิดสนามบินก็สามารถจัดการสั่งเปิดสนามบินได้ทันที ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากมวลชนพันธมิตรฯ ถอนตัว”

เพราะฉะนั้น อย่าใช้คำว่า “พันธมิตรฯ ยึดสนามบิน”!!! แต่ก็เป็นข้ออ้างแบบเดิมๆ ของ พธม. ที่ศาลไม่รับฟัง

 

เพราะเมื่อย้อนเหตุการณ์บุกยึด 2 สนามบิน ปี 2551

เหตุการณ์ชุมนุมปิดสนามบินของผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนเข้าปิดท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนที่จะเข้าพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 25 พฤศจิกายน

เวลานั้น บริษัทท่าอากาศยานไทยประกาศปิดบริการสนามบินสุวรรณภูมิในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน โดยเปิดให้เฉพาะเครื่องบินขาเข้าเท่านั้น และปิดการขึ้นลงทุกเที่ยวบินทั้งหมดในเช้ามืดวันที่ 26 พฤศจิกายน ผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ สื่อต่างชาติหลายสำนักรายงาน รัฐบาลทั่วโลกออกคำเตือนประชาชนเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ประเมินการสูญเสียรายได้เบื้องต้นของ ทอท. วันละประมาณ 50 ล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายด้านอื่นๆ ขณะที่บริษัทการบินไทยถึงกับต้องย้ายการขึ้นลงเที่ยวบินไปยังสนามบินอู่ตะเภา

สำหรับความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากการปิดสนามบิน 2 แห่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเวลานั้นว่าสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกรายงานเมื่อปี 2552 วิเคราะห์ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมความเสียหาย 2.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาคบริการ 1.2 แสนล้านบาท ภาคขนส่ง 9 พันล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม 6 พันล้านบาท

 

เวลานี้เสียงเพลงบรรเลงจบแล้ว สุดท้ายแกนนำพันธมิตรฯ ทั้งหลายก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเกือบพันล้านบาท ที่ต้องจ่าย แต่เหล่าแกนนำทั้งหมดก็ยืนยันว่าทุกคนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่คิดหนีแน่นอน และจะต่อสู้ในทุกช่องทางตามกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิโดยชอบธรรม

วันนี้ ชะตากรรมของ 13 พธม. กำลังเดินหน้าสู่การล้มละลายในที่สุด แต่เหล่าแกนนำพันธมิตรฯ ก็ยืนยันด้วยว่า ต่อให้ต้องจ่ายเป็นพันล้าน ก็จะไม่ระดมทุนรับบริจาคเพื่อจ่ายค่าเยียวยาในคดี

เพราะนอกจากจะเป็นการรบกวนผลักภาระให้พี่น้องประชาชนที่เสียสละกันมามากแล้ว อาจมีผู้ไม่หวังดีบิดเบือนเจตนารมณ์ได้

ไม่เพียงเท่านั้น แกนนำพันธมิตรฯ ยังย้ำชัดด้วยว่า ที่ผ่านมาในหลายคดีได้รับการพิสูจน์แล้วว่าการกระทำของพวกเราเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน ปกป้องสถาบัน และไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จนเป็นเหตุให้ศาลอาญายกฟ้องบางคดี และลดหย่อนผ่อนโทษในหลายคดี

คำพูดที่ว่า เพื่อชาติ ทำให้พันธมิตรฯ รอดพ้นจากคดีบางส่วนไป เชื่อได้แค่ไหน อาจต้องรอดูคำตัดสินแกนนำ พธม. ยึดสนามบินในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกเป็นเดิมพัน

และจะต้องจับตาดูกระบวนการบังคับคดีในคดีแพ่งที่จะทำให้แกนนำ พธม. 13 คน นับถอยหลังไปสู่ความเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่?