ในประเทศ/จับตา “ปฏิญญาวอชิงตัน” โรดแม็ปสู่การเลือกตั้ง หลัง “บิ๊กตู่” เยือนทำเนียบขาว

ในประเทศ

จับตา “ปฏิญญาวอชิงตัน”

โรดแม็ปสู่การเลือกตั้ง

หลัง “บิ๊กตู่” เยือนทำเนียบขาว

แม้จะช่วยกันออกมายืนยันแล้วยืนยันอีกราวกับแผ่นเสียงตกร่องว่า ทุกอย่างยังเดินหน้าไปตาม “โรดแม็ป” ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่ “รัฐธรรมนูญ” กำหนด แต่ด้วย “เงื่อนไข” ที่ส่อว่าการเลือกตั้งอาจจะ “เลื่อน” ออกไปไกลกว่าปี 2561

โดยเฉพาะ “ตัวแปร” ที่เกิดขึ้นกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งถือเป็น “ร่างกฎหมายลูก” ฉบับแรกจาก 10 ฉบับที่บังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา

จึงทำให้คำสัญญาที่ว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” จากบทเพลงขอคืนความสุข ถูกตั้งเป็นคำถามอีกระลอก

แม้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากรับไม้ต่อจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะใช้เวลาในการพิจารณาเสร็จภายใน 60 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญอีกเช่นกันที่เปิดช่องให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องสามารถโต้แย้งเนื้อหาได้ จึงมีการตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย” ปรับแก้ก่อนกลับเข้าที่ประชุม สนช. โหวตซ้ำ

อีกทั้งขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ยังต้องถูกชะลอออกไปอีก เนื่องจากองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้หมายถึง กกต. ในฐานะผู้แพ้ในชั้นกรรมาธิการร่วม ติดใจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกชั้น

กว่าจะบังคับใช้ได้ จึงทุลักทุเลเป็นอย่างยิ่ง เพราะแค่ฉบับเดียวกินเวลาในการพิจารณารวมถึง 149 วัน

เหตุนี้เอง ทำให้บรรดา “บิ๊กๆ” ในแม่น้ำ 2 สายที่มีส่วนสำคัญกับการพิจารณา “กฎหมายลูก” เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เหลือการพิจารณาอีก 2 ฉบับ จึงถูกแซะถามถึงเงื่อนไขอันตัวแปรที่มิอาจคาดเดาได้ในอนาคต

โดยเฉพาะที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กับร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ กรธ. วางโปรแกรมไว้อย่างน่าหวาดเสียว

เป็นความน่าหวาดเสียว เพราะ กรธ. จะส่งกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายให้ สนช. ก่อนวันครบกำหนด 240 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือก่อนวันที่ 4 ธันวาคม เพียงไม่กี่วันเท่านั้น โดยจะใช้วันที่ 21 พฤศจิกายน เป็นฤกษ์เสนอฉบับการได้มาซึ่ง ส.ว. ก่อนปิดท้ายด้วยฉบับเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 28 พฤศจิกายน

แน่นอนว่า โปรแกรมที่ กรธ. วางไว้ยังเดินไปตามโรดแม็ป ทุกอย่างยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

แต่คำถาม “ข้ามช็อต” ที่เกิดจากความเคลือบแคลงสงสัยที่ว่า หากเกิดกรณีการ “คว่ำ” ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับเลือกตั้งที่เหลืออยู่ 2 ฉบับ ฉบับใดฉบับหนึ่งในชั้น สนช. ในวันที่ กรธ. ครบกำหนดการทำหน้าที่ 240 วันไปแล้ว ใครล่ะจะเป็นผู้ดำเนินการยกร่างใหม่เพื่อเสนอให้ สนช. พิจารณาอีกครั้ง

เพราะนี่ถือเป็นอีกหนึ่ง “ตัวแปร” ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ได้กำหนดทางออกเอาไว้ให้

แม้คำตอบที่ได้รับกลับมาจากบิ๊กๆ ในแม่น้ำ 2 สายจะยังมองโลกในแง่ดีว่า มันคงไม่เกิดขึ้น

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ตอบว่า กรธ. จะทำหน้าที่ไปจนกว่ากฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการจึงจะพ้นหน้าที่ไป โดยยืนยันว่า จะไม่มีสุญญากาศในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างเดินไปได้ไม่มีทางตัน แต่อาจจะกระทบเวลาโรดแม็ปสู่การเลือกตั้งเล็กน้อยเท่านั้น

“กรธ. มีเวลาเขียนกฎหมายลูก 240 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากยังเขียนไม่เสร็จก็ต้องขยายเวลาต่อ แต่จะขยายอย่างไรไม่ควรคิดเวลานี้ เพราะขณะนี้ยังไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน แต่ถามว่ามีโอกาส 1-2 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ หลายคนดูรู้ ไม่จำเป็นต้องถาม แต่วันนี้ยังยึดกรอบเดิม พูดอย่างอื่นไม่ได้”

เป็นกรอบเดิมที่ “วิษณุ เครืองาม” ไม่ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2561

เช่นเดียวกับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ. หรือแม้กระทั่ง “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ที่ต่างไม่ยอมยืนยัน เมื่อถูกถาม ทั้งๆ ที่ “ตัวแปร” ที่จะทำให้โรดแม็ปเลื่อนล้วนมาจาก “องคาพยพ” อันเป็นแม่น้ำสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กรธ. หรือโดยเฉพาะ สนช. ก็ต่างล้วนอยู่ภายในการนำและก่อกำเนิดมาจาก คสช. ทั้งสิ้น

“อย่าถามแบบนี้ มันจะผูกมัดแล้วกระทบกับคนอื่นที่ต้องทำงาน โดยมีกำหนดเวลาของตัวเอง ทุกฝ่ายต้องรู้เวลา ซึ่งก็เห็นแล้วว่าการทำกฎหมายลูกไม่ง่ายเหมือนที่พูดกัน ตอนนี้ก็หืดขึ้นคอกันหมดแล้ว” นายมีชัยเอ่ยปากขอ

ขณะที่นายพรเพชรก็เอ่ยปากขอกับผู้สื่อข่าวว่า อย่าเพิ่งถามว่า “ถ้า” เลย เอาไว้ให้ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วค่อยมาถาม

ยิ่งเมื่อได้เห็นคำตอบของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อถูกถามถึงคำพูดของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ประกาศวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน ผ่านเวที “โรดแม็ปไทย-ไทย ไกลแค่ไหน หรือใกล้เลือกตั้ง?”

ที่ตอบอย่างหงุดหงิดที่ว่า “จะยืนยันได้อย่างไร ถ้าคุณหญิงไม่มั่นใจ อยากมาทำเองก็มาทำเลย”

ยิ่งไม่น่าแปลกว่า ทำไมความเคลือบแคลงสงสัยว่าการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นในปลายปี 2561 จึงค่อยๆ ดังสนั่นขึ้น อย่างที่ “ปู่พิชัย รัตตกุล” หรือแม้แต่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้คาดการณ์เอาไว้

นั่นเป็นเพราะบทเรียนในอดีต โดยเฉพาะคำสัญญาที่ว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” จากบทเพลงขอคืนความสุขหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ชวนให้คิดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2558 แต่กลับไม่ใช่

จาก “ปฏิญญาโตเกียว” ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หัวหน้า คสช. แถลงภายหลังหารือร่วมกับ นายชินโสะ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว เมื่อปี 2558 ที่ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2559 ก่อนนำมาสู่ “ปฏิญญานิวยอร์ก” ที่ “บิ๊กตู่” หารือทวิภาคีกับนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ และประกาศให้โลกรับทราบอีกครั้งว่า ไทยจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นกลางปี 2560

แต่ที่สุดกลับไม่เกิดขึ้นจริงอีก และ ณ ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อไหร่

และนี่เองจึงเป็นเหตุทำให้บทสรุปอันรวบรัดของ “อ.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จากกรณีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อเดือนกันยายน ปี 2558 ที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” จึงถูกผลิตซ้ำอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุด สำนักงานด้านสื่อมวลชนของทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะต้อนรับการมาเยือนทำเนียบขาวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยในวันที่ 3 ตุลาคมนี้

โดยจะมีข้อหารือเกี่ยวกับหนทางที่จะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

และเชื่อได้เลยว่า โรดแม็ปสู่การเลือกตั้งจะยังเป็นหัวข้อสำคัญที่ “มหาอำนาจ” อย่างสหรัฐอเมริกาจะให้ความสนใจถาม “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอน อย่างที่เคยเกิดขึ้นที่ “กรุงโตเกียว” กับ “นครนิวยอร์ก” ระหว่างการหารือทวิภาคีกับผู้นำต่างชาติ

ดังนั้น “ปฏิญญาวอชิงตัน” อันเป็นคำมั่นสัญญาต่อนานาชาติ (อีกครั้ง) ภายหลังจากหารือกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะเป็นเช่นไรอีก คงต้องเงี่ยหูฟังสาระจาก “ทำเนียบขาว” ที่มาจากปากของ “บิ๊กตู่” ให้ดี!

และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะจับตาดูคำพูดของ “ชายชาติทหาร” จะเป็นอย่างไรต่อไป…???