กรองกระแส/ปีศาจเลือกตั้ง จาก 2549 มายัง 2557 สร้างภาวะหลอน

กรองกระแส

ปีศาจเลือกตั้ง

จาก 2549 มายัง 2557

สร้างภาวะหลอน

หากมองอย่างตัดตอน กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นเรื่องของวันที่ 25 สิงหาคม และเป็นเรื่องของวันที่ 27 กันยายน

นั่นก็คือ เป็นเรื่องของ “คำพิพากษา”

กระนั้น หากมองอย่างเป็น “กระบวนการ” กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้อยู่ตรงนั้นเพียงจุดเดียว ตรงกันข้าม มีความต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์

ไม่เพียงแต่จะสัมพันธ์กับ “โครงการรับจำนำข้าว” อันเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

หากแต่ยังสัมพันธ์กับการเลือกตั้ง ยังสัมพันธ์กับกระบวนการหาเสียงและได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้พรรคเพื่อไทยไปดำเนินนโยบายหากได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาล

ขณะเดียวกัน เมื่อมองอย่างเห็นความสัมพันธ์ก็จะมองเห็นกระบวนการคัดค้าน ต่อต้านนโยบายของพรรคเพื่อไทย ของรัฐบาลเพื่อไทย อันไม่เพียงแต่จะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่ยังมาจากกลุ่มทุน กลุ่มอำนาจในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง

ก็จะมองเห็นการก่อรูปขึ้นของความต้องการจะโค่นรัฐบาลตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 กระทั่งการเกิดขึ้นของ กปปส. อันนำไปสู่การชัตดาวน์และรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

ทั้งหมดนี้คือ กระบวนการก่อนวันที่ 27 กันยายน

จาก 2549-2557

แนวทางรัฐประหาร

หากมองอย่างเป็น “กระบวนการ” มองจากปรากฏการณ์ไปยังธาตุแท้ ไม่ว่าจะต่อกรณีรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะต่อกรณีรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ล้วนมีความต่อเนื่อง ล้วนมีความสัมพันธ์

ทั้งหมดนี้อ่านออกได้จาก “เป้าหมาย” ในการโค่นล้ม แม้เมื่อเดือนกันยายน 2549 จะเป็นพรรคไทยรักไทย ขณะที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะเป็นพรรคเพื่อไทย

แต่พรรคเพื่อไทยก็มาจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย

ถามว่าอะไรคือแรงจูงใจในการที่จะต้องใช้กระบวนการรัฐประหารเข้าไปจัดการกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

คำตอบอาจเริ่มจากการทุจริต คอร์รัปชั่น การฉ้อฉลในทางอำนาจ กระนั้น หากติดตามการเคลื่อนไหวไม่ว่าของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าของ กปปส. คำตอบข้างต้นล้วนอ้างอิงไปถึงกระบวนการของการเลือกตั้ง ความเลวร้ายของพรรคการเมือง ความเลวร้ายของนักการเมือง

บังเอิญพรรคและนักการเมืองนั้นจำกัดเพียงมาจาก ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย

กระบวนการเลือกตั้ง

ความกล้าทางการเมือง

ความเป็นจริงที่คนที่มีส่วนร่วมกับรัฐประหารรู้สึกแต่ไม่อาจยอมรับมาอย่างตรงๆ ก็คือ การยอมรับไม่ได้ต่อชัยชนะของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย โดยกระบวนการของการเลือกตั้ง

รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็เป็นเช่นนี้

การจัดตั้ง คตส. ก็ดี การยุบพรรคไทยรักไทยก็ดี การร่างรัฐธรรมนูญกระทั่งออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กระทั่งการวางแผนอย่างที่เรียกว่าบันได 4 ขั้นของ คมช. ก็เพื่อจัดการกับพรรคและนักการเมืองนี้

แต่แล้วในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนก็ยังชนะ

การใช้กระบวนการขององค์กรอิสระประสานกับการเคลื่อนไหวมวลชนกระทั่งล้มรัฐบาลและพรรคพลังประชาชนลงไป คือความต่อเนื่องและต่อเนื่องไปถึงการสลายการชุมนุมใหญ่เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็เพื่อจัดการกับพรรคและนักการเมืองกลุ่มนี้

แต่แล้วในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยอันเป็นอวตารแห่งพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย ก็ยังชนะ

จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวในแบบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพียงแต่เปลี่ยนเป็น กปปส.

ขณะที่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ยังเสมอเพียงบอยคอตการเลือกตั้ง แต่ก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ยังถึงกับ “ชัตดาวน์” โดยการปิดล้อมและขัดขวางการเลือกตั้ง

ทั้งหมดจึงรวมศูนย์ไปที่ความหวาดกลัวต่อ “การเลือกตั้ง”

สภาวะอนิจจัง

แห่งการเลือกตั้ง

กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเสมอเป็นเพียงตัวอย่าง 1 ภายในกระบวนการของการรัฐประหารจากเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป้าหมายก็คือ ต้องการให้จบ

ต้องการให้จบเหมือนกับความพยายามในการจัดการกับ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

แต่ตราบกระทั่ง ณ วันนี้ เรื่องก็ยังไม่จบ

ที่ไม่จบเพราะว่าทุกกระบวนการที่วางไว้ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และรวมถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ยังไม่ได้สร้างความมั่นใจให้อย่างเพียงพอว่าจะสามารถเอาชนะอีกฝ่ายในสนามการเลือกตั้งได้อย่างเป็นจริงหรือไม่

การเลือกตั้งจึงได้กลายเป็น “ปีศาจ” ที่ยังสร้างความหวาดกลัวไปอีกเป็นเวลานาน