ไม่อยากเจริญก็ไม่ต้องมีประชาธิปไตย จาก “อุทัย พิมพ์ใจชน” ถึงคนไม่อยากเลือกตั้ง

“ถามว่าคุณเอาศพนักการเมืองมาเรียงให้ชาวบ้านดู แล้วประชาชนได้อะไร?”

“ถ้าหากบ้านเมืองของเราจะมีประชาธิปไตย และยอมรับว่าประชาธิปไตยมีความสำคัญการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และไม่ต้องสงสัยว่าทำไมถึงมีคนเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยอยู่ตลอด เพราะว่าในโลกนี้ประชาธิปไตยไม่เคยทำให้ประเทศไหนล้าหลัง ประเทศที่เจริญแล้วในโลกนี้ทุกประเทศ เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่คนไทยส่วนหนึ่งไม่เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย กลับมองว่ามีประชาธิปไตยแล้ววุ่นวาย มีเลือกตั้งก็ได้คนโง่คนเลวเข้ามา ที่บอกว่าเศร้าใจ เพราะว่าคนเหล่านี้ไม่เข้าใจระบบของสภา”

นั่นคือคำพูดจาก อุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา และอดีต ส.ส. หลายสมัย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญและมีเส้นทางชีวิตการเมืองที่ทำให้ชาวบ้านจดจำได้ไม่ลืมในฐานะคนรักประชาธิปไตย

ในวัย 80 ปี เขาประกาศหันหลังให้การเมืองอย่างจริงจัง แม้มีคนเทียบเชิญให้ไปนั่งเป็นคณะกรรมการ หรือที่ปรึกษาในช่วงสำคัญทางการเมืองหลายครั้งก็ตาม

“ทุกวันนี้มีคนอยากจะให้เลือกตั้งบ้าง ไม่อยากให้เลือกตั้งบ้าง คนที่ไม่อยากให้เลือกตั้งมองว่าเวลามีสภาผู้แทนฯ คนที่เข้าไปส่วนใหญ่จะเข้าไปหาผลประโยชน์, เป็นคนเลว, โกงชาติ หรือไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะเข้ามาทำหน้าที่ และถ้ามี ส.ส. ที่เลือกตั้งเข้าไปก็มีแต่นักการเมืองที่ทะเลาะ-ด่ากัน ฉะนั้น คนส่วนหนึ่งจึงมองว่าจะมีนักการเมืองไปทำไม? ในเมื่อสามารถเลือก “คนดี” กันเองเข้าไปได้ ดีกว่าให้ชาวบ้านเลือกเข้าไป”

ในความเห็นส่วนตัว ในฐานะอดีตประธานรัฐสภา และอยู่สภามานาน อุทัยอยากจะบอกว่า “ผมอยู่จนเข้าใจว่าสภาผู้แทนราษฎร คือเงาสะท้อนของประชาชน”

ถามว่าสะท้อนยังไง

“ยกตัวอย่างในต่างจังหวัด เขตที่มีการซื้อเสียง หลายคนประณามว่าเอาเงินไปฟาดหัวประชาชน ส่วนชาวบ้านก็เห็นแก่เล็กแก่น้อย แต่ส่วนตัวมองว่านี่คือเงาสะท้อนสำคัญ ที่จะสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้นๆ ทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ดูแลเศรษฐกิจ ต้องลงไปพิจารณาถึงปัญหาว่าเหตุใดคนในพื้นที่เหล่านั้นยังมีปัญหายากจน เพราะในทางกลับกันประชาชนในเขตเมืองที่เจริญแล้วหรือว่ามีการศึกษาสูงไม่มีทางที่จะขายเสียง”

“แทนที่คุณจะตกใจและเอาแต่ประณาม แต่ผมตกใจในอีกแบบหนึ่งเพราะนี่คือสัญญาณที่บอกให้นายกฯ ที่ไม่ใช่คนจังหวัดนั้น ได้รู้ว่าในฐานะฝ่ายบริหารมีงานเข้าแล้ว ต้องรีบแก้ไขปัญหาโดยด่วน”

“นี่ยังไม่นับถึงเรื่องที่ผู้แทนฯ เข้ามายกมือแจ้งปัญหาของพื้นที่ ต่อนายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารในสภา ทั้งถนนขาด ไฟดับ น้ำท่วมต่างๆ นี่คือการสะท้อนปัญหาในพื้นที่โดยที่นายกฯ ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปทั้งหมด แต่ผู้แทนฯ นำเรื่องดังกล่าวมาแจ้งในที่ประชุม นี่คือประโยชน์ของสภาและการเลือกตั้งที่มีตัวแทน”

“แต่ถ้าเป็นทุกวันนี้ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่มีอยู่ 2 อย่างคือ ได้ผ้าขาวม้าและผักชีโรยหน้า รับรองได้แน่! และยิ่งนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่สามารถไปได้ทุกที่ นี่คือส่วนหนึ่งของความหมายของการเลือกตั้งที่มีความหมาย”

นายอุทัยกล่าว

ฉะนั้น การที่มีคนบอกว่าไม่มีเลือกตั้งก็ดี อุทัยไม่เห็นด้วย โดยแย้งว่า “มันจะดียังไง ดีเฉพาะคนพูดหรือเปล่า แต่ชาวบ้านที่เดือดร้อนอยู่ จะดีได้อย่างไร เขาจะเข้าถึงรัฐบาลได้อย่างไร บางคนบอกว่าเบื่อสภามีแต่คนโกง แต่คุณควรรู้ไว้ว่าในสภายังมีพื้นที่ให้คนได้พูด เปิดเผยข้อมูลหรือให้ตรวจสอบ ย่อมทำให้มีผลต่อการตัดสินใจของชาวบ้าน ที่จะเลือกผู้แทนฯ คนนั้นเข้ามาซ้ำอีกในสมัยหน้า คนเหล่านี้ถ้าไม่ดีก็จะสอบตกไปเอง มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย”

“การที่เราได้ยินว่ามีคนโกงเพราะว่ามีการพูดกันในสภา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสภาที่มาจากการเลือกตั้งเราจะรู้ได้อย่างไรว่าไม่มีการโกง? เช่น สภานิติบัญญัติที่ไม่ได้มาจากประชาชนและอยู่ตำแหน่งมานานกว่า 3 ปี ถามว่าหาคนโกงได้หรือไม่?”

“ส่วนคนที่บอกว่าประเทศไทยอยู่กันแบบนี้ได้ คนที่พูดประโยคนี้คือคนที่อยู่ได้อยู่ดีอยู่แล้ว เช่น พวกนายแบงก์ ผู้จัดการบริษัท เจ้าของกิจการต่างๆ จะเป็นคนพูด”

“ส่วนคนที่เป็นแม่ค้าแม่ขาย ลองไปถามเขาดูว่าอยู่ได้หรือเปล่า? อย่างน้อยๆ ถ้ามีนักการเมือง เขาก็จะนำปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปพูดในสภาให้ เพราะเขาคือตัวแทนของประชาชน แต่ว่าพวกคนที่ดีอยู่แล้วเวลานี้มารวมตัวกันอยู่กันในสภาตอนนี้มีทั้งอธิบดี, ปลัดกระทรวง, อดีตปลัดกระทรวง นายพล, อดีตนายพล คนพวกนี้คือคนที่มีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว เขาอยู่อย่างนี้ได้”

ส่วนพวกชาวบ้านที่อยู่ไม่ได้ เขาไม่มีตัวแทนเข้าไปพูดในสภา เราจึงไม่ได้ยินเสียงของพวกเขา แล้วจะเป็นอันตรายมากหากการคิดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้คนในชาติ ว่าจะต้องอยู่แบบนี้ อยู่อย่างที่ฉันคิดไว้ให้ ซึ่งคนคิดเป็นคนที่อยู่ดีกินดีทั้งนั้น

แล้วคุณจะรู้หรือว่าคนจนคิดอย่างไร?

“คนที่ทำหน้าที่เหล่านี้รู้หรือไม่ว่า ตัวเองเข้าไปทำงานการเมือง แล้วไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นนักการเมือง ทั้งที่ทำงานการเมืองเต็มตัว งั้นก็ลาออกมาให้นักการเมืองเขาทำซะ จะไปนั่งอยู่ทำไม ไม่อายชาวโลกเขาหรือ? ไม่ต้องอายคนไทยก็ได้”

นายอุทัยกล่าว

นายอุทัยกล่าวอีกว่า สิ่งที่อันตรายคือ ความรู้สึกของคนสองพวก

“ผมไม่ได้พูดให้แตกแยกนะ ที่พวกคุณไปทำแทนเขา คุณจะเข้าใจคนจนได้ยังไง แค่คำว่า “หิว” ของคุณก็ไม่เหมือนกันแล้ว “หิวของคนจน” เขาพะวงว่าที่มีอยู่เช้านี้ก็กินไปแล้ว ไหนจะต้องให้ลูกให้เมียอีก กลางวันยังหาเงินไม่ได้สักบาท เย็นนี้จะกินอะไร ครอบครัวจะอยู่ยังไง น่ากลุ้มใจ นี่คือหิวคนจน ส่วนคนรวย “หิว” คือ เบื่อแต่ไม่รู้จะกินอะไร ก็มีให้เลือกเต็มไปหมด!”

“สำหรับการแก้ปัญหาการเลือกผู้แทนฯ ถามว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผู้แทนฯ หรือ ส.ส. ที่ดี ต้องถามว่า คำว่า “ผู้แทนฯที่ดี” คือ “ดี” ของใคร? ผู้แทนฯ เกิดจากคนเลือก ดีของคนที่เลือก คุณอยากให้คนเลือกเป็น คุณต้องไปสอนคนเลือก สอนประชาชน สร้างภูมิคุ้มกันให้เขา แต่ที่ผ่านมาแก้ผิด มันต้องแก้ที่คนเลือก ไม่ใช่แก้นักการเมือง”

“ผมรู้สึกกลุ้มใจที่เขาจะปฏิรูปการเมือง โดยเอาศพนักการเมืองมาเรียงให้ชาวบ้านดู ถามว่าชาวบ้านได้อะไร? มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย เพียงแต่ทำให้เขาสูงขึ้นโดยการเหยียบศพคนอื่นขึ้นไป ประชาชนได้อะไร? การเมืองจะเปลี่ยนแปลงจริงหรือ? ต่อให้เขียนกฎหมายอีกร้อยฉบับก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหานี้ได้ และถ้าหากไม่มีเลือกตั้งอยู่แบบนี้ต่อไปก็เป็นตาบอดคลำช้าง รัฐคิดว่าชาวบ้านต้องการอย่างนี้ ก็ทำไป ถามว่าตรงกับชาวบ้านหรือไม่”

อุทัยกล่าวอีกว่า “เขามีการเมืองเพื่อให้ผู้แทนฯ ที่ได้รับเลือกจากประชาชนไปรวบรวมความคิดเห็นของชาวบ้าน เอามาวินิจฉัยปัญหา มีจุดเชื่อมจุดประสาน ถ้าไม่มีเลือกตั้งแล้วอยู่กันแบบนี้เรียกว่าอยู่แบบมโน ทำไปคิดว่าดีแล้ว ทุกวันนี้ประชาชนไม่ได้อะไรเลย”

“ส่วนการที่ผู้มีอำนาจตอบไม่ได้ว่าตกลงแล้วจะมีเลือกตั้งเมื่อไร? มันสะท้อนว่าพวกคุณทำอะไรกัน คุณสัญญากับประชาชนว่าจะคืนความสุขให้เร็วที่สุด แล้วทุกวันนี้คุณไม่คืน แสดงว่าความสุขยังไม่มีใช่หรือไม่?”

“แสดงว่าคุณล้มเหลวหรือเปล่า”

“คุณอ้างว่าต้องรอกฎหมายออกมา รอขั้นตอนต่างๆ ในเมื่อคุณเองมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ แม่น้ำ 5 สายก็พวกคุณทั้งนั้น คุณจะรออะไรอยู่ ถ้าคุณต้องการจะเป็นไปตามโรดแม็ป คุณไม่มีสิทธิ์อ้าง ว่าไอ้นั่นไอ้นี่ไม่เสร็จ แหม่ เสียเวลา ละครโรงนี้ เล่นกันแนบเนียนจริงๆ!”

“อย่างไรก็ตาม ผมจะไม่เตือนสติใครหรอก ผมเพียงแต่เคยพูดว่าคนบางคนเป็นได้แค่ “กรรมการห้ามมวย” แต่อย่าลงมาต่อยมวยเสียเอง ผมว่าคนมีอำนาจ มักจะตายจากการกินของที่ผิด โดยมากจะไปกิน “ลูกยอ” จนลืมว่าอะไรควรจะอยู่ตรงไหน” นายอุทัยกล่าว

ส่วนแนวคิด “รัฐบาลแห่งชาติ” นั้น อุทัยถามกลับคืนว่า ต้องถามว่าเพื่ออะไร? เพื่อชาติตรงไหน ตรงที่ไม่มีการทะเลาะกันในสภาเท่านั้นหรือ? แล้วชาวบ้านอยู่ตรงไหน จากข้อเสนอนี้?

“ฉะนั้น ถ้าคุณไม่อยากเจริญก็อย่าปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย เดี๋ยวมันจะเจริญ แล้วถ้าอยากอยู่กันอย่างนี้ก็อยู่ไป ผมเป็นคนส่วนน้อย ซึ่งเหตุการณ์การเมืองช่วงนี้ ผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลายอย่างมันตลก แต่ถ้าเลยตลกไป ก็กลายเป็นเศร้า!”