มุกดา สุวรรณชาติ : สุเทพไม่มีวันตั้งพรรค กปปส. ได้ แต่คนอื่นตั้งได้

มุกดา สุวรรณชาติ

14 กันยายน 2560 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ และแกนนำ กปปส. กล่าวถึงความชัดเจนในการตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า ยังไม่ปิดโอกาสตัวเอง แต่ก็เร็วเกินไปที่จะตัดสินใจ ตอนนี้ยังไม่ได้คิด ถ้ามีเรื่องที่มีความจำเป็น พี่น้องประชาชนก็จะบอกกันเอง

ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะบอกว่าจะตั้งหรือไม่ตั้ง ไม่คิดจะมีตำแหน่งในรัฐบาลไหนอีกแล้ว ถ้าเป็นการตัดสินใจก็เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง จะให้ตอบว่าตั้งหรือไม่ตั้งนั้นตอบไม่ได้

ส่วนการเสนอจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเราไม่เห็นด้วย เพราะหลังเลือกตั้งจะต้องมีพรรคที่แพ้และชนะ ต้องมีพรรคที่ทำหน้าที่รัฐบาลและฝ่ายค้าน

ถ้าเป็นรัฐบาลหมด ประชาชนจะหวังพึ่งใครมาทำหน้าที่ตรวจสอบ

 

ข้อจำกัดที่ทำให้สุเทพตั้งพรรค กปปส. ไม่ได้

ถ้าวิเคราะห์จากสถานการณ์วันนี้ และมองตามโรดแม็ปที่เลื่อนครั้งที่ 3 ว่าจะเลือกตั้งในปี 2561 (ถ้าจะเลื่อนเป็นปี 2562-2563 ก็เป็นอีกสถานการณ์หนึ่ง) ก็ ประเมินได้ว่า สุเทพไม่มีทางตั้งพรรคการเมือง กปปส. หรือมวลมหาประชาชน หรือจะชื่ออะไรก็แล้วแต่ ที่มีแนวทางแบบ กปปส. ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะถ้ามีแกนนำเป็นสุเทพและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยแยกตัวออกมาอยู่กลุ่ม กปปส. เป็นแกนนำ…เพราะ

1. เป้าหมายของแนวร่วมต่างกัน

ปัญหาความเห็นของคนต่างกลุ่มที่เป็นแกนนำ กปปส. ในอดีต จะเห็นเหมือนกันหรือไม่ เพราะบางคนก็ไม่ใช่นักการเมือง บางคนอาจมีเหตุผลในการเคลื่อนไหว แต่ไม่เห็นด้วยที่จะลงสมัครเล่นการเมือง

คนที่มาร่วมเคลื่อนไหวในม็อบ กปปส. มีจุดมุ่งหมายต่างกัน จำนวนมากพอเห็นปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯ ก็ถอยแล้ว ยิ่งเวลาที่ทอดนานออกมา จนถึงการรัฐประหาร 2557 เมื่อรอดูผลงานการปฏิรูป หลังรัฐประหารที่เรียกร้องกัน ไม่มีอะไรที่ปฏิรูป ส่วนการปราบคอร์รัปชั่น ปราบจนมากขึ้นหรือน้อยลง? มีอะไรที่บรรลุเป้าหมาย? คดีความที่ยึดสถานที่ต่างๆ ที่ยังคาอยู่ คนที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกเรียกตัวเมื่อไรก็ไม่รู้

บทเรียนการตั้งพรรค เพื่อเล่นการเมือง ชื่อพรรคการเมืองใหม่โดยกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง เห็นคาตาอยู่ ไม่ทันเลือกตั้งก็แตกกัน และแล้วผลสุดท้ายไม่ได้ ส.ส. แม้แต่คนเดียว

2. ในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง จะประกาศอย่างไร?

ในการหาเสียงเลือกตั้ง ใครจะประกาศหนุนเผด็จการได้?

ปชป. โดย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ แบบว่าอยากเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าจำเป็นก็สามารถร่วมรัฐบาลกับฝ่ายรัฐประหารได้เพื่อชาติบ้านเมือง

แต่คุณสุเทพแสดงท่าทีแจ่มชัดว่า อยากจะหนุนการปฏิรูปประเทศของพลเอกประยุทธ์ ถ้ามีการหาเสียงเลือกตั้ง พรรค กปปส. ที่ตั้งขึ้นใหม่ ก็จะถูกถล่มทันทีว่ารับใช้เผด็จการ กว่าจะถึงวันสุดท้ายของการหาเสียงก็โดนอัดเละไปแล้ว

การเมืองในภาคใต้เคยต่อต้านเผด็จการทหารมาตั้งแต่จอมพลยุค สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อด้วย จอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร และหลัง 6 ตุลาคม 2519 ก็โดนปราบจนชาวบ้านต้องหนีเข้าป่า ถึงวันนี้หนังตะลุงล้อเลียนผู้นำทหารก็มีแสดงอยู่ทุกคืน เรียกเสียงฮาได้ตลอด

คิดว่า ถ้ามีพรรค กปปส. แล้วไปหาเสียงแบบหนุนเผด็จการ คนใต้เขาจะเลือกหรือ ปชป. จะถล่มซ้ำว่าพรรคนี้คือขี้ข้าเผด็จการ ยังมีเรื่องราคายาง ราคาปาล์ม ที่แก้ไม่ได้

เรื่องนี้ถ้าอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ค้านไม่ให้ตั้ง ก็เพียงสะบัดมีดโกนปาด 2 ครั้ง พรรค กปปส. โดยอดีต ส.ส.ปชป. ก็ไม่ได้เกิดแล้ว

3. พรรคใหม่ จะเอาฐานเสียงที่ไหน

ฐานเสียงทางภาคใต้ส่วนใหญ่ก็เป็นของประชาธิปัตย์ และจะเป็นประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน จังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อให้คุณสุเทพคุมทีมลงเลือกตั้งเองโอกาสจะได้ ส.ส. ก็มีคุณสุเทพเพียงคนเดียว แต่สุเทพบอกว่า ไม่เอาแล้ว ถ้า คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ไม่เอาด้วยกับพรรคใหม่ ก็จะรู้ว่าจังหวัดสุราษฎร์ฯ เป็นของ ปชป. หรือของ กปปส.

ส่วน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ถ้าพ้นอ้อมอกของนายชวน ออกจาก ปชป. จังหวัดตรังจะได้กี่ร้อยคะแนน

จังหวัดนครศรีธรรมราชก็เช่นกัน ถ้า วิทยา แก้วภราดัย ลงสมัครในนามพรรค กปปส. ก็จะมีคนอื่นเสียบแทนในนาม ปชป. ทันที ไม่ต้องพูดถึงจังหวัดอย่างอื่นที่อยู่ในภาคใต้ สำหรับ ส.ส. ที่เคยแยกตัวออกมาและขอกลับเข้าไปใน ปชป. ถึงเวลาลงสนามเลือกตั้งจะมีสักกี่คนที่กล้าออกมาอยู่พรรคใหม่

ดังนั้น จึงกล้าบอกว่าพรรคการเมือง กปปส. ไม่มีทางตั้งขึ้น โดยอดีตแกนนำ ปชป. ตราบที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมให้ตั้ง สุเทพไม่กล้าทำเด็ดขาด

มันก็คล้ายกับพรรคเพื่อไทย ที่บางคนไม่อยากเป็นฝ่ายค้าน อยากเข้าร่วมรัฐบาลในอนาคต แต่เขตพื้นที่การเลือกตั้งถ้าย้ายพรรคจะสอบตกทันที และจะโดนข้อหาทรยศต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย

 

ตั้งพรรคการเมืองแบบ กปปส.
หนุนนายกฯ คนนอก
จะเกิดโดยคนกลุ่มอื่น

เป้าหมายของนายกฯ คนนอก โดยวิธีการเลือกตั้ง

ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีเสียงมากเกินไป

พรรคเพื่อไทยไม่ควรได้เกิน 180 เสียง ปชป. ได้ 150 เสียงก็มากแล้ว อยากให้พรรคกลาง พรรคเล็ก มีเสียงมากขึ้น การควบคุมเสียงจะได้ไม่มีปัญหา ต่อรองจะง่ายขึ้น ฝ่ายที่ค้านพลังจะลดลง

ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ถ้าจะมีขึ้นตามโรดแม็ปเดิม 2561 การตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนนายกฯ คนนอกต้องเกิดขึ้น…

ถ้ายังไม่เกิดขึ้นก็แสดงว่ายังไม่มีการเลือกตั้ง…

แต่ผู้ก่อตั้งและผู้นำพรรคไม่น่าจะใช่สุเทพและแกน กปปส. จากประชาธิปัตย์

พรรคนี้อาจเกิดจากนายทหารนอกราชการ นักวิชาการและนายทุนบางกลุ่มมารวมตัวกัน เพื่อสนับสนุนนายกฯ คนนอกที่เป็นตัวเต็ง

วันนี้ที่ยังไม่อาจระบุชื่อนายกฯ คนนอกคนนั้นได้ เพราะสถานการณ์การเลือกตั้งดูแล้วไม่แน่นอนยังดูห่างไกล

ยิ่งห่างไกลนานวันไปเท่าไหร่การผันแปรเรื่องตัวบุคคลก็ยิ่งมีโอกาสมาก

คนที่คิดว่าเป็นตัวเต็ง อาจหลุดออกไปก่อน อาจมีคนที่แผลน้อยกว่าขึ้นมาแทนที่ หรืออาจมีคนที่มองแล้วว่าเก่งทางเศรษฐกิจขึ้นมาแทนที่

ในวันที่การเลือกตั้งอยู่ห่างอีกปีกว่า อะไรย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ยิ่งถ้านานถึง 2 ปี มีปัญหาแน่

การวางฐานการเมือง ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองหลายพรรคเป็นองค์ประกอบ

ที่สำคัญคือการป้องกันการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ต้องมีเสียง ส.ส. เกิน 250 คน มาค้ำเก้าอี้ฝ่ายบริหาร เพราะ ส.ว. ก็ช่วยไม่ได้ ส.ว. ช่วยได้เฉพาะตอนตั้งนายกฯ เท่านั้น ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

การมีพรรคการเมืองของตัวเองที่สั่งได้ย่อมมีความจำเป็น จะมี ส.ส. มากน้อยเท่าใดก็แล้วแต่กำลังความสามารถ

ถ้ามีอำนาจ มีเงิน ก็พอทำได้ ยิ่งถ้ามีกำลังจะส่งทุกเขตเลือกตั้ง 350 เขต แม้ได้ ส.ส.เขตไม่มากนัก แต่ถ้ารวมคะแนนเสียงแล้วอาจได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตั้งแต่การตั้งรัฐบาลไปจนถึงการยกมือสนับสนุนในสภา

 

โอกาสทอง
ของมือ START UP พรรคการเมือง
มาถึงแล้ว

งานนี้มีเสมอกับกำไร ทุนเป็นของคนอื่น แต่งานนี้อาจมีการตั้งเป้าคะแนนเป็นเขต ถ้าทำไม่ถึงเป้าอาจเป็นอันตรายได้

พรรคการเมืองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีเพียงพรรคเดียว อาจมีลักษณะของพรรคภาคนิยมมาเป็นส่วนประกอบโดยพรรคที่ 1 อาจเน้นภาคอีสาน พรรคที่ 2 เน้นภาคเหนือ ภาคกลาง ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถหาแกนนำพรรคที่มีความสามารถมีชื่อเสียงได้มากแค่ไหน แม้แต่พรรคระดับจังหวัดใหญ่ๆ ก็ทำได้

การสนับสนุนผู้มีอำนาจแบบที่คุณสุเทพเคยกล่าวไว้คงต้องเกิดแน่นอนแม้พรรคไม่ยิ่งใหญ่ แต่รวมกันแล้วก็สามารถมีประโยชน์ทางการเมืองในระบบสภาได้

ในเชิงอุดมการณ์ของคนดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายชาว กปปส. และคุณสุเทพ ที่บอกว่า กลุ่มตนเองคือมวลมหาประชาชน ที่มีจำนวนมากที่สุด เป็นคนดีมีอุดมการณ์อันแรงกล้า

เมื่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาและลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะต้องมีผู้มาเข้าร่วม และสนับสนุนมากมาย

เรื่องการเสียเวลาออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งเหนื่อยน้อยกว่าการออกไปร่วมเดินขบวนเยอะแยะ

ถ้าเป็นจริง ผลการเลือกตั้งออกมาก็จะได้ ส.ส. จำนวนหนึ่งอาจจะเยอะพอสมควร จะได้เห็นคะแนนนิยมที่แท้จริงว่าในเขตใดมีคนชื่นชม กปปส. มากน้อยแค่ไหน เสียงในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร เสียงภาคใต้เป็นอย่างไร ในภาคอื่นมีจังหวัดไหนบ้างที่คนนิยม

ถ้ามั่นใจว่าจะเชียร์นายกฯ คนนอก ก็สามารถส่งสัญญาณให้ประชาชนที่นิยมมาลงคะแนนให้พรรคตนเองแล้วจะได้นายกฯ คนนอก จะได้รู้กันไปว่าบ้านเมืองนี้ชอบเข้าบ้านทางประตู หรือหน้าต่าง จะได้ไม่ต้องออกบทเฉพาะกาล ว่า หลังเที่ยงคืนให้เข้าทางหน้าต่างได้

แต่ยังไง การตั้งพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ดีกว่าการขัดขวางการเลือกตั้ง ดีกว่าการรัฐประหาร ดีกว่าตุลาการภิวัฒน์ แต่ต้องรีบเตรียมตัว

เพราะครั้งนี้ได้ข่าวว่า เบอร์พรรคไม่มี มีแต่เบอร์เขต ซึ่งจะซ้ำจนชาวบ้านจำไม่ได้