วงค์ ตาวัน : คำจารึกบนหลุมศพ

 

เคยอ่านบทความที่เขียนวิเคราะห์วิธีการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนักกิจกรรมทางสังคมและทางการเมือง ได้กล่าวถึงกรณี “จิตรา คชเดช” อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ยกป้ายที่เขียนข้อความ “ดีแต่พูด” ในวงกล่าวปาฐกถาของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมีนาคม 2554

โดยชี้ว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่มีศิลปะ สร้างสรรค์ เรียบง่าย และทรงพลังอย่างมาก

เนื่องจากเป็นแผ่นกระดาษที่เขียนข้อความสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องตระเตรียมลงทุนอะไร ไม่ได้กระทำอะไรรุนแรงก้าวร้าว

นาทีนั้นนายอภิสิทธิ์ก็ยังกล่าวบนเวทีได้ต่อไป ไม่มีการตัดไฟ ไม่มีความวุ่นวาย

“แต่ทั้งห้องหันมาให้ความสนใจกับแผ่นข้อความ “ดีแต่พูด” ในมือของจิตรา ไม่มีใครสนใจฟังนายอภิสิทธิ์ที่กำลังพูดอีกต่อไป!”

ขณะเดียวกัน ต้องเสริมต่อไปว่า ไม่แค่ทรงพลังในห้องที่จัดงานเท่านั้น แต่คำคำนี้ ยังได้กลายเป็นฉายาที่ใช้กันไปอย่างกว้างขวางในทางการเมือง เอ่ยคำว่าดีแต่พูดก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงใคร และด้วยเหตุอะไร

แถมยังโกอินเตอร์ เมื่อสื่อมวลชนต่างประเทศนำไปรายงานข่าวดังไปทั่วโลก ระบุว่า “He”s only good at talking” กลายเป็นวลีสำคัญ

สื่อฝรั่งให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า ประดุจคำจารึกบนหลุมฝังศพในทางการเมือง

“นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการจัดงานวันสตรีสากลปี 2554 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์”

มาล่าสุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ขณะนายอภิสิทธิ์ไปปาฐกถา ก็โดนเด็กนักศึกษาชูป้ายพร้อมรูปภาพเหตุการณ์สลายม็อบ 99 ศพ เข้าให้อีก

เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพิ่งต่อสู้ด้วยประเด็นข้อกฎหมายจนทำให้คดี 99 ศพ หลุดพ้นไปจากสารบบของศาลอาญา ไม่สามารถดำเนินคดีข้อหาการฆ่าได้อีกต่อไป

กลายเป็นคดีนี้ต้องไปเริ่มกันใหม่ที่ ป.ป.ช. ด้วยข้อหาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่แทน

กลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้า เด็กรุ่นใหม่ นำโดย “เพนกวิน” หรือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ จึงยกป้าย พร้อมรูปภาพเหตุการณ์เมื่อปี 2553 ต่อหน้านายอภิสิทธิ์อีก พร้อมกับยกกรณีการตายของ “เฌอ” หรือ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ ที่ถูกยิงตายบริเวณซอยรางน้ำ ในเหตุการณ์นองเลือดนี้

“โดยถามขึ้นว่า นายอภิสิทธิ์รู้สึกอย่างไรกับการตายของเยาวชนวัยแค่ 17 ปีในเหตุการณ์นี้!?!”

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ตอบกลับอย่างหล่อๆ ตามสูตร โดยกล่าวว่า ขอสนับสนุนให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตายในทุกกรณี

ฟังแล้วหลายคนนึกถึงฉายาของนายอภิสิทธิ์ขึ้นมาทันที

เพราะไม่กี่วันก่อนนี้ ฝ่ายนายอภิสิทธิ์เพิ่งต่อสู้คดีในศาลด้วยแง่มุมทางกฎหมาย จนทำให้การพิสูจน์ข้อหาฆ่าตกไปจากศาล

แต่กลับมาพูดตอบคำถามนักศึกษาว่า ผมขอสนับสนุนให้มีการพิสูจน์การเสียชีวิตในทุกกรณี!

การที่นักศึกษากลุ่มเพนกวิน หยิบยกกรณีของ “เยาวชนวัย 17 ปี” ขึ้นมาทวงถามนายอภิสิทธิ์ ทำให้คนทั่วทั้งสังคมต้องกลับมาทบทวนการเสียชีวิตของเฌอ ในเหตุการณ์สลายม็อบ 99 ศพ ซึ่งเป็นอีกกรณีที่สร้างความสะเทือนใจอย่างมาก

เพราะเฌอ เป็นเด็กหนุ่มที่สนใจเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคมอย่างเอาการเอางาน ไปปรากฏตัวในทุกกิจกรรมทางสังคม และยังเคยร่วมชุมนุมทางการเมืองกับม็อบพันธมิตรฯ

“ในเหตุการณ์ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เฌอออกจากบ้านโดยบอกกับพ่อว่า จะไปสังเกตการณ์ และไปเรียนรู้ประชาธิปไตย แล้วก็ไม่ได้กลับมาบ้านอีกเลย!!”

ไม่ได้ไปร่วมชุมนุม ไม่ได้ไปร่วมแสดงการต่อสู้กับทหาร

ใส่เสื้อยืดสีฟ้า กางเกงยีนส์ขาสั้น ไม่ได้แต่งชุดดำ ใส่หมวกไหมพรมปิดหน้า แต่ก็ถูกกระสุนจริงยิงตาย

เชื่อว่า เฌอถูกกระสุนที่ยิงด้วยทีมซุ่มยิงหรือสไนเปอร์เข้าที่ศีรษะ จนร่างทรุดนอนเลือดนองบนฟุตปาธ โดยมีคลิปที่ถ่ายเห็นภาพเฌอและมีคนอื่นๆ อีก 4-5 คนนอนอยู่ใกล้ๆ กัน

“แต่ที่ศีรษะของเฌอมีเลือดไหลเป็นทางยาวไปกับพื้น”

เพราะในนาทีที่ถูกกระสุนยิงใส่ คนที่อยู่ใกล้เคียงพยายามจะเข้าไปช่วย แต่ก็มีการยิงเข้าใส่ไม่หยุด จนไม่มีใครเข้าถึงร่างของเฌอได้ทันท่วงที

นอนทุกข์ทรมานอยู่นับชั่วโมง กว่าจะนำร่างออกมาได้ แต่ก็ช้าไปแล้ว

“นี่เป็นเรื่องราวของเหยื่อในเหตุการณ์ 99 ศพ ที่ใครได้ยินได้ฟังก็ต้องเศร้าสลด”

ขัดแย้งกับข้ออ้างของ ศอฉ. ที่ว่า จำเป็นต้องใช้กระสุนจริง เพราะมีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ ในม็อบ

เพราะทั้ง 99 ศพ ไม่มีใครเลยที่เป็นผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ ไม่มีรายไหนเลยที่มีอาวุธในมือ

“อย่างเฌอ ก็แค่เด็กหนุ่ม นุ่งกางเกงขาสั้น!”

ความตายของเฌอ มีผู้เป็นพ่อคือ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความเป็นธรรมอย่างไม่ท้อถอย แม้จะโดนจับกุมและโดนควบคุมตัวหลายครั้งแล้ว

เช่นเดียวกับ นางพะเยาว์ อัคฮาด ที่ออกมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้กับการตายของลูกสาว คือน้องเกด หรือ น.ส.เกดกมล อัคฮาด พยาบาลอาสา ที่ถูกยิงตาย เป็น 1 ใน 6 ศพวัดปทุมวนาราม

จนถูกจับกุมคุมตัวหลายหน แถมมีทหารบุกไปเยือนถึงบ้านอีก

“กรณีของน้องเกด ก็สะเทือนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยเป็นพยาบาลเดินทางไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เข้าไปหลบภัยภายในวัดปทุมฯ”

ไม่ได้เป็นผู้ชุมนุม ไม่ได้แต่งชุดดำ ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย

อีกทั้งศาลยังได้ชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพ 6 รายที่วัดปทุมฯ ว่า ตายด้วยกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ ศอฉ. บนรางรถไฟฟ้าและชุดที่ยิงจากพื้นราบหน้าวัด

ขณะที่คำพูดของนายอภิสิทธิ์คือ สนับสนุนให้มีการพิสูจน์ความจริงในทุกกรณีการตาย แต่ในทางปฏิบัติกลับต่อสู้ทางข้อกฎหมายจนคดีในส่วนการฆ่าตกไปจากศาลแล้ว ตกไปโดยยังไม่ทันได้พิจารณาข้อเท็จจริงของคดีเลยด้วยซ้ำ

เพราะฝ่ายนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ยื่นท้วงการพิจารณาคดีในประเด็นข้อกฎหมายว่า เป็นการฟ้องผิดศาล ฟ้องผิดข้อหา อ้างเหตุที่ว่าตนเองและนายสุเทพ กระทำในขณะปฏิบัติหน้าที่นายกฯ และรองนายกฯ จึงต้องให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวน หากมีมูลจึงนำไปฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

“แน่นอนว่า ศาลไม่ได้บอกว่าทั้งสองพ้นความผิด ไม่ได้ทำให้คดีนี้จบสิ้น แต่ต้องไปดำเนินการตามช่องทางอื่นแทน”

วันนี้ทั้งสังคมจึงต้องมาขบคิดกันยกใหญ่ว่าจะพิสูจน์คดี 99 ศพ ในประเด็นที่มีการฆ่า มีการตายได้อย่างไร ยิ่งหากไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ก็จะกลายเป็นเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น

“เชื่อกันว่าอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในเรื่องความตาย 99 ศพ น่าจะยังแผ่กว้างต่อไป ตราบใดที่ไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงของการตายภายใต้กระบวนการยุติธรรมได้!”

เหตุการณ์ 99 ศพ ในปี 2553 ได้เคยส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชนที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ที่เป็นภูมิลำเนาส่วนใหญ่ของคนตาย

ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งในปี 2554 อย่างล้นหลามมาแล้ว

“มาในปี 2560 คดีนี้กลับมาร้อนระอุอีก”

มีนักศึกษาชูป้ายและรูปภาพต่อหน้านายอภิสิทธิ์ ซึ่งจะเป็นเสมือนสัญลักษณ์การทวงถามความเป็นธรรมให้กับคนตายต่อไป

ชีวิตคนอาจดับสูญไป แต่ความจริงไม่มีวันตาย อารมณ์ความรู้สึกยังดำรงอยู่

น่าคิดว่าจะมีผลอย่างไรต่อไปอีก ต่อการเลือกตั้งหนหน้า!