วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (จบ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ในยุคสามรัฐ (ต่อ)

แต่ในขณะเดียวกัน หากการใช้อำนาจแทนจักรพรรดิต่อไปนานๆ จนแน่ใจแล้วว่าใช้ไปเช่นนั้นไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เพราะขุนนางฝ่ายตรงข้ามต่างเห็นว่าการใช้นั้นเป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น ผู้ที่ใช้ก็อาจตัดสินใจยึดอำนาจจากจักรพรรดิโดยตรง จากนั้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิในนามของราชวงศ์ใหม่

และเรื่องราวทำนองนี้มักจะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของจีนอยู่เสมอ ชั่วอยู่แต่ว่าขุนนาง ขุนศึก ญาติวงศ์ของจักรพรรดิ หรือผู้มีอิทธิพลในสังคมจะปฏิบัติหน้าที่ตามนามของตนได้มั่นคงเพียงใด

ซึ่งการปฏิบัติตนเช่นนี้เราอาจเห็นได้จากกรณีของข่งหมิงเป็นตัวอย่าง ที่ว่าแม้จะมีอำนาจอย่างแท้จริงในรัฐสู่ แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะโค่นล้มจักรพรรดิหลิวซ่านเลยแม้แต่น้อย ได้แต่รับใช้ด้วยความจงรักภักดีตามนามขุนนางของตน

ทั้งที่หลิวซ่านก็อ่อนแออย่างมาก จะโค่นเมื่อไรก็ได้

 

ข้อคิดในประการต่อมาคือ สาเหตุที่นำไปสู่ยุคสามรัฐนั้น หากไม่นับการใช้อำนาจแทนจักรพรรดิของกลุ่มบุคคลต่างๆ แล้ว สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ บทบาทของสำนักหรือลัทธิเต้าที่มีกบฏโพกผ้าเหลืองและกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่วเป็นตัวแทน

กบฏทั้งสองนี้มีอิทธิพลสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับกบฏอื่นๆ ที่เกิดมากมายในขณะนั้น และอิทธิพลที่สูงมากนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าร่วมของราษฎรชนชั้นล่าง ซึ่งเข้าร่วมด้วยสองสาเหตุคือ ไม่อาจทนการกดขี่ขูดรีดภาษีของราชวงศ์ฮั่นได้ประการหนึ่ง กับมีความศรัทธาในสำนักเต้าอีกประการหนึ่ง

บทบาทของกลุ่มที่สมาทานลัทธิเต้าผ่านการกบฏทั้งสองดังกล่าว ในด้านหนึ่งจึงเท่ากับเป็นปฏิปักษ์กับลัทธิขงจื่อที่ราชวงศ์ฮั่นสมาทานอยู่ และเมื่อกำลังของกบฏกล้าแข็งจนราชสำนักฮั่นยากที่จะต่อกรแล้วประกาศหาผู้อาสาศึกมาสู้ ผู้อาสาศึกเหล่านี้จึงไม่ต่างกับผู้ที่สมาทานลัทธิขงจื่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้อาสาศึกที่มากความสามารถ แต่ก็ยากที่จะปราบกบฏทั้งสองได้โดยง่ายดายและรวดเร็ว ซึ่งกว่าจะปราบได้เด็ดขาดเวลาก็ล่วงเลยไปกว่าสิบปี

ซึ่งนั่นก็เท่ากับสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของลัทธิเต้าไปด้วยในตัว

 

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า บทบาทของลัทธิเต้าในทางการเมืองนั้นใช่แต่จะเกิดในยุคที่ว่าเท่านั้น ที่จริงแล้วยังเกิดในบางยุคบางสมัยอีกด้วย ชั่วอยู่แต่ว่าเกิดอย่างไรเท่านั้น เช่น ในยุคสามรัฐเกิดในหมู่ราษฎร แต่บางยุคเกิดจากความเลื่อมใสศรัทธาของชนชั้นนำในราชสำนัก เป็นต้น

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ลัทธิเต้ามีอิทธิพลทางการเมืองอยู่ในประวัติศาสตร์จีนพอสมควร อิทธิพลนี้สร้างผลสะเทือนไม่น้อย ถึงแม้ในที่สุดแล้วลัทธิขงจื่อจะอยู่ในกระแสหลักทางการเมืองก็ตาม

แต่ประเด็นที่พึงพิจารณาในที่นี้ก็คือว่า หากว่าโดยสารัตถะแล้ว ลัทธิเต้าถือเป็นลัทธิที่ให้ความสำคัญสมดุลระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ

ในทางปฏิบัติมักมีแนวโน้มที่จะให้ผู้ที่สมาทานในลัทธิปลีกวิเวกจากสังคมอันสับสนวุ่นวาย ซึ่งดูไปแล้วเป็นลัทธิที่ใฝ่สันติ

ดังจะเห็นได้จากกรณีกบฏโพกผ้าเหลืองที่จัดตนให้อยู่ในสำนักเต้าแห่งสันติภาพสูงสุด (ไท่ผิงเต้า, the Way of Supreme Peace)

และที่น่าสนใจก็คือว่า แม้จะใฝ่หาสันติภาพก็ตาม แต่สันติภาพก็มิอาจเกิดได้จริงตราบใดที่อำนาจของราชวงศ์ฮั่นยังคงอยู่

ดังนั้น เพื่อให้สันติภาพเกิดเป็นจริงจึงมีเพียงทางเดียวคือ สงคราม แล้วการเคลื่อนไหวของกบฏก็ปรากฏขึ้นจนสั่นสะเทือนแผ่นดินจีน กรณีที่เกี่ยวกับสารัตถะของลัทธิเต้า (ที่มีอยู่มากมายหลายสำนัก) จึงเป็นประเด็นที่พึงศึกษาไม่น้อย

จากข้อสังเกตและข้อคิดที่กล่าวมานี้เป็นการประมวลภาพรวมแต่โดยสังเขป ซึ่งจะว่าไปแล้วยังมีข้อสังเกตและข้อคิดที่สามารถพิจารณาได้อีกมากมาย อันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยผู้รู้ที่เป็นเอตทัคคะในเรื่อง สามก๊ก หรือ สามรัฐ พึงอนุเคราะห์ต่อไป

การศึกษาของ “นักเรียนน้อย” ในที่นี้จึงพอแก่การเพียงเท่านี้

 

สารสนเทศ สามรัฐ

การศึกษาเรื่องราวในยุคสามรัฐในที่นี้ได้อาศัยแหล่งอ้างอิง ดังงานศึกษาทั้งหลายพึงเป็นพึงทำเป็นปกติ ในที่นี้จึงเห็นสมควรแจกแจงแหล่งอ้างอิงตามสมควร เพื่อที่ผู้สนใจจะได้ศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

โดยที่หากเป็นงานศึกษาในภาษาไทยนั้น เล่มที่น่าสนใจเห็นจะเป็นของ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์. อ่านสามก๊กถกบริหาร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์, 2552. ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์. อ่านสามก๊กถกยอดคน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์, 2555. ทั้งสองเล่มนี้ให้ข้อมูลทั้งที่เป็นงานวรรณกรรมกับที่เป็นพงศาวดาร และในบางครั้งยังเปรียบเทียบงานทั้งสองแนวให้เห็นอีกด้วย

แต่จะดีไม่น้อยหากจะศึกษาเพิ่มเติมเรื่องราวของราชวงศ์ฮั่นผ่านงานอีกสองชิ้นของ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์. มหาราชวงศ์ฮั่น : อ่านประวัติศาสตร์ด้วยสายตานักบริหาร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์, 2550. และ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์. รัฐศาสตร์ถังไท่จง. สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์, 2548. งานทั้งสองชิ้นนี้มีความต่อเนื่องกัน

โดยเฉพาะเล่มหลังนั้นจะสะท้อนให้เห็นว่า หลังจากยุคสามรัฐไปแล้ว จีนก็ยังคงมีบางช่วงที่แตกแยกไม่ต่างกับยุคสามรัฐ ซ้ำร้ายยังหนักข้อกว่าอีกด้วย เกี่ยวกับประเด็นนี้ได้บอกนัยสำคัญอะไรแก่เรา พึงเป็นประเด็นที่ควรตรึกตรองอย่างยิ่ง

เช่นตรึกตรองว่า ชั้นแต่ราชวงศ์ฮั่นที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ร้อยปียังแตกแยกได้ จีนในปัจจุบันที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่ถึงร้อยปี และเปรียบได้กับเป็น “ราชวงศ์แดง” (Red dynasty) นั้น ทำไมจะแตกไม่ได้ ถ้าหากชนชั้นนำมีพฤติกรรมอันเป็นทรราชดังผู้นำราชวงศ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา?

นอกจากนี้ การพึ่งพาอาศัยเอกสารอื่นก็ยังมีอยู่ตามสมควร เช่น งานของ Bai Shouyi. An Outline History of China. Beijing : Foreign Languages Press, 2002; หลี่ว์ซือเหมี่ยน. ซานกว๋อสื่อฮว่า. หูเป่ย : ฮว๋าจงเคอจี้ต้าเสีว์ยชูป่านเส้อ, 2015; เฉินโซ่ว. ซานกว๋อจื้อ. ลว่อปิง ปริวรรต. เป่ยจิง : จงกว๋อเหวินเหลียนชูป่านเส้อ, 2016.

เล่มหลังนี้แม้จะเป็นงานของเฉินโซ่วผู้เป็นต้นธารของเรื่องราวในยุคสามรัฐก็จริง แต่เฉพาะเล่มนี้เป็นงานคัดสรรเอาเฉพาะบางบทที่อยู่ใน ซานกว๋อจื้อ (จดหมายเหตุสามรัฐ) มาเท่านั้น แต่ข้อดีคือ ทุกบทจะได้รับการปริวรรตจากภาษาจีนหลวงซึ่งยากที่จะเข้าใจ มาเป็นภาษาจีนราษฎร์ที่ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น

พ้นไปจากหนังสือแล้วก็คือ เว็บไซต์ โดยทั่วไปแล้ววิกิพีเดียภาษาอังกฤษก็เป็นแหล่งที่สามารถเข้าถึงได้ ในที่นี้ขอแนะนำว่าควรเข้าไปที่ราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty) ก่อน เพื่อทำความเข้าใจราชวงศ์นี้แต่เพียงสังเขป จากนั้นข้อมูลจะนำเราไปถึงช่วงปลายราชวงศ์ซึ่งจะกล่าวถึงกบฏโพกผ้าเหลืองและยุคสามรัฐเอาไว้ด้วย

การกล่าวถึงเหตุการณ์หรือบุคคลที่สำคัญใดๆ ก็ตาม จะมีการทำคำนั้นๆ เป็นสีหรือขีดเส้นใต้เพื่อให้เราเข้าถึงเฉพาะคำนั้นได้ต่อไป

จากที่ตรวจสอบดูแล้วพบว่า ข้อมูลในวิกิพีเดียไม่มีอะไรที่คลาดเคลื่อนมากนัก แต่ที่จะแนะนำอีกเว็บไซต์หนึ่งคือในส่วนที่เป็นของจีนเอง นั่นคือ www.chinaknowledge (ภาษาอังกฤษ) ที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีที่ไม่ต่างกับวิกิพีเดียตามที่กล่าวไป

ข้อดีของเว็บไซต์นี้คือ สั้นกระชับ น่าเชื่อถือ และมีภาษาจีนกำกับสำหรับคำที่เป็นคำสำคัญมาให้ด้วย

 

อันที่จริงแล้วยังมีแหล่งอ้างอิงอื่นๆ อยู่อีกประมาณหนึ่ง แต่เป็นแหล่งที่ใช้เก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในที่นี้จึงขอที่จะไม่ยกมากล่าวถึงให้เยิ่นเย้อ

ถึงกระนั้น ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ข้อมูลที่ผ่านมาทางบุคคลสองท่านคือ คุณประสิทธิ์ ฉกาจธรรม แห่งอาศรมสยาม-จีนวิทยา ที่มักโทรศัพท์มาทักท้วงถึงข้อผิดพลาด หรือไม่ก็เป็นแหล่งข้อมูลให้กับการศึกษาในที่นี้ ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การเทียบคำจีนกลางกับจีนฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) โดยคำจีนฮกเกี้ยนก็คือคำที่ใช้ทับศัพท์ในงานวรรณกรรมสามก๊ก

อีกท่านคือ คุณอรสา รัตนอมรภิรมย์ นักวิจัยแห่งสถาบันปัญญาภิวัตน์ที่ช่วยค้นข้อมูลบางเรื่องให้ จนทำให้งานศึกษานี้เป็นไปได้โดยสะดวกรวดเร็ว ทั้งสองท่านนี้พึงได้รับคำขอบคุณจากงานศึกษานี้มา ณ ที่นี้ด้วย

พ้นไปจากนี้แล้วก็คือ ความหวัง ที่หวังว่าสักวันหนึ่งจะมีผู้อุทิศเวลามาแปลวรรณกรรมสามก๊ก ให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยภาษาจีนกลาง และทำเชิงอรรถอธิบายศัพท์บางคำเพื่อให้ผู้อ่านชาวไทยได้เข้าใจมากขึ้น

หากทำได้คงจะเป็นคุณูปการแก่วงวิชาการและวงวรรณกรรมไม่น้อย