จัตวา กลิ่นสุนทร : 15 กันยายน 2560 “วันศิลป์ พีระศรี” ลูกศิษย์คิดถึงครู

(วันที่ 15) กันยายน ของทุกๆ ปี เป็นเดือนที่ชาว “ศิลปากร รำลึกนึกถึง “อาจารย์” ของพวกเขา

ตั้งใจไว้ว่าทุกๆ ปีจะเขียนถึงงานวัน “ศิลป์ พีระศรี” แต่เผลอไผลเขียนเรื่องอื่นติดพันจนเกือบพลาด ปรากฏว่านิตยสารฉบับนี้วางตลาดก็เป็นวันศุกร์ที่ 15 กันยายน ตรงกับวันงานของชาวศิลปากรพอดี

อาจารย์ของพวกเขาเป็นคนอิตาเลียน และถ้าไม่มีฝรั่งท่านนี้ วันนี้ (อาจ) ไม่มี “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เหมือนกับถ้าไม่เกิดคณะจิตรกรรม ประติมากรรม ก็คงไม่เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งผลิดอกออกช่อเติบใหญ่จนกลายเป็นมหาวิทยาลัยยอดนิยมทุกวันนี้ กระทั่งมีการเรียนการสอนครบวงจร

ต้องเขียนถึงอาจารย์ “ฝรั่ง” (เป็นชื่อที่ศิษย์ช่างเขียน ช่างปั้นรุ่นแรกๆ ของศิลปากรใช้เรียกท่าน) ชาวอิตาเลียน (Italian) ย้ำซ้ำทุกปี ชื่ออิตาเลียนของท่าน คือ Corrado Feroci ชื่อภาษาไทย “ศิลป์ พีระศรี” ก่อนจะได้เป็น “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” (Pro.Corrado Feroci)

 

ท่านเกิดวันพฤหัสฯ ที่ 25 กันยายน 2435 ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี (Italy) (ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่จะมีอายุ 125 ปี) เดินทางเข้ามารับราชการอยู่ในสำนักของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นช่างปั้น ณ กรมศิลปากร กระทรวงวัง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2466 ขณะมีอายุเพียง 32 ปี

เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี (Italy) ทั่วโลกต่างรู้จักกันว่าเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยความงดงามเรื่องของ “ศิลปะ” เป็นบ้านเกิดของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก ทั้งจิตรกร ประติมากร นักคิด นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ ล้วนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในผลงานการสร้างสรรค์ อาทิ Dante, Petrarch, Boccaccio, Botticelli, โดยเฉพาะ Michelangelo และ Leonardo Da Vinci

อาจเป็นเพราะบุญวาสนาของวงการศิลปะในเมืองไทยเมื่อเกือบศตวรรษ ดลใจให้ประติมากรหนุ่มจากเมือง Florence ตัดสินใจเดินทางเข้ามารับราชการในประเทศไทย และเกิดความรักหลงใหลถึงขนาดแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่กับสตรีไทย เปลี่ยนชื่อเป็นไทย และเสียชีวิตยังแผ่นดินประเทศนี้

สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปะ เริ่มต้นก่อเกิดศิลปะร่วมสมัย วางรากฐานจนหยั่งรากลึกทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ประวัติศาสตร์ศิลปะ

สอนสั่งลูกศิษย์จนกระทั่งสืบสานเจตนารมณ์ ต่อยอดเจริญเติบโตขยายแวดวงไปทั่วประเทศ และเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ

ถึงวันนี้ “มหาวิทยาลัยศิลปากร” มีอายุ 74 ปี

 

ทุกๆ ปีเมื่อถึงวันเกิด (15 กันยายน) จะมีการจัดงานรำลึกถึงท่าน โดยมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ แต่กว่าจะถึงปัจจุบันที่เรียกว่า “วันศิลป์ พีระศรี” ก็ต้องค่อยๆ ดำเนินการปลูกฝังเผยแพร่โดยต้องใช้เวลาไม่น้อย กว่าจะเกิดความเข้าใจ และให้การยอมรับ ซึ่งก็ต้องชื่นชมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยรุ่นต่อรุ่นสืบต่อๆ กันมา

เนื่องจากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ขยายใหญ่โต มีมากมายหลายคณะวิชาจนจะครบวงจรดังกล่าว นอกจาก 4 คณะวิชา คือ จิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ โบราณคดี มัณฑนศิลป์ ซึ่งเริ่มต้น และอยู่ใกล้กับกรมศิลปากร ณ บริเวณวังท่าพระ กรุงเทพฯ

คณะอักษรศาสตร์ ก็ติดตามมาเป็นอันดับแรกยังวิทยาเขต พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

กระทั่งทุกวันนี้เติบโตขยายไปไกลถึงจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และมีสำนักงานอธิการบดี อยู่เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

เป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ จำนวนนักศึกษามากขึ้นหลายเท่าตัว ไม่เหมือนในระยะแรกๆ ที่ผลิตบัณฑิตได้เพียงปีละ (4 คณะ) 100 กว่าคน

 

ปัจจุบันนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ยอมรับความเป็นมา รากเหง้าของ “ศิลปากร” โดยเฉพาะ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” (Prof. Corrado Feroci)

ทั้งที่แต่ก่อนกว่าจะตั้งอนุสาวรีย์ของท่าน บริเวณสนามหญ้า คณะจิตรกรรมฯ ซึ่งศิษย์รุ่นแรกๆ ของอาจารย์ “ฝรั่ง” เป็นคนปั้น-หล่อ ขึ้นมายังต้องช่วยกันแอบๆ ทำขึ้นเอง

แต่ทุกวันนี้ ณ บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ก็มีอนุสาวรีย์ ซึ่งเป็นรูปเดียวกัน

(ท่านพี่) ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูเหมือนจะมีจิตวิญญาณเช่นเดียวกันกับชาวศิลปากร เป็นผู้ที่คุณูปการต่อวงการศิลปะ ศิลปินด้วยการก่อตั้งโครงการ “ศิลปินแห่งชาติ” และ ฯลฯ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีงาน “วันศิลป์ พีระศรี” เป็นประจำทุกปี

เริ่มต้นด้วยพิธีทางศาสนา วางพวงมาลาเพื่อเป็นการรำลึกถึงอาจารย์ มีการจัดนิทรรศการทางด้านศิลปะต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยแห่งนี้ และรับประทานอาหารร่วมกัน

สำหรับศิษย์เก่าทั้งหลายได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติติดต่อกันมา จะนำพวงมาลัยดอกไม้ไปกราบไหว้สักการะอาจารย์ ร้องเพลง Santa Lucia ที่บรมครูศิลปะชื่นชอบ ซึ่งได้กลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย และได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันหลังจากที่แยกย้ายกันออกไปคนละทิศละทาง

มีการสังสรรค์กันในยามค่ำคืนทุกๆ ปีทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน พร้อมรำลึกนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ของสถานศึกษาแห่งนี้

 

มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดให้มี “ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี” เพื่อเป็นเกียรติแก่ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ขึ้นในปี พ.ศ.2538 และจัดติดต่อกันมา โดยองค์ปาฐกคือ ผู้ที่ได้รับรางวัลปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ของปีนั้นๆ

ลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มีชื่อเสียง และผลงานเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจำนวนหลายท่านได้ผ่านการเป็นองค์ปาฐกมาแล้วหลายท่าน อย่างเช่น อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข (ศิลปินแห่งชาติ)-(เสียชีวิต) (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี (ศิลปินแห่งชาติ)-(เสียชีวิต) อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ศิลปินแห่งชาติ) ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ (ศิลปินแห่งชาติ)-(เสียชีวิต) (ท่าน) อังคาร กัลยาณพงศ์ (ศิลปินแห่งชาติ)-(เสียชีวิต) และ ฯลฯ

ปี พ.ศ.2559 มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานที่จัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” ไปยังวิทยาเขต พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เนื่องมาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ อยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงครั้งใหญ่ (Renovate)

แต่สโมสรนักศึกษาเก่าของคณะต่างๆ ยังยืนหยัดร่วมมือกันจัดงานที่วังท่าพระเช่นเดิม เพราะมีความรู้สึกว่าจิตวิญาณของความเป็นศิลปากรอยู่ที่นี่ บรรยากาศต่างๆ ล้วนลงตัวเหมาะสม แม้สถานที่จะเหลือคับแคบ แค่บริเวณหน้าห้องทำงานของอาจารย์ฝรั่ง โรงหล่อ และบริเวณสนามหญ้าที่ตั้งอนุสาวรีย์

สำหรับปี พ.ศ.2560 มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ยังทำการก่อสร้างซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ มีรายงานว่าผู้รับเหมาทิ้งงานไป 2 รายแล้ว ไม่มีใครกล้าให้คำตอบได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร? วันไหน ปีไหน?

 

งาน “วันศิลป์ พีระศรี” ครั้งนี้ก็ต้องไปจัดที่พระราชวังสนามจันทร์ เหมือนกับปีที่ผ่าน โดยในท่านพี่ (ชวน) หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเหมือนเช่นเดิมทุกปี

“เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (ศิลปินแห่งชาติ) ผู้ก่อสร้างวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย จะเดินทางไปเป็นองค์ปาฐก “ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี” (ครั้งที่ 22) ในภาคบ่าย รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ก็ยังคงเป็นไปอย่างเช่นที่เคยมีมา

สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร-สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ-คณะสถาปัตย์-คณะโบราณคดี-คณะมัณฑนศิลป์ คณะดุริยางคศาสตร์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ กรมศิลปากร ร่วมกันจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” ขึ้นที่วังท่าพระ กรุงเทพฯ

มีการทำบุญเลี้ยงพระ วางช่อดอกไม้ สักการะอัฐิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บริเวณอนุสาวรีย์ เสร็จแล้วมีการรับประทานอาหารร่วมกัน การบรรเลงดนตรี โดยคณะดุริยางคศาสตร์ (String Quartet) สนทนากันตามอัธยาศัย ชมนิทรรศการผลงานศิลปกรรมของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

งาน “วันศิลป์ พีระศรี” ปี 2560 ณ วังท่าพระ ไม่มีงานกลางคืน แต่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จัดถึง 4 ทุ่มครับ