E-DUANG : จาก “ป่าเสื่อมโทรม” โยงมาถึง “เรือเหาะ”

การปรากฏขึ้นของ “ป่าเสื่อมโทรม” ที่ห้วยเม็ก ขอนแก่น ประสานกับการปรากฏขึ้นของ “เรือเหาะ” กองทัพบก

ดำเนินไปในแบบ “คนละเรื่อง เดียวกัน”

เป็นคนละเรื่องเพราะเรื่องหนึ่งสัมพันธ์กับ “ป่า” ขณะที่อีกเรื่องหนึ่งสัมพันธ์กับ “อากาศยาน”

แต่เมื่อเดินตามไปถึงที่สุดกลับอยู่ที่คนๆเดียวกัน

เป็นคนละเรื่องเพราะเรื่อง “ป่า” ลงนามอนุมัติโดยรัฐมนตรี่ว่า การกระทรวงมหาดไทย ขณะที่เรื่อง “เรือเหาะ” เสนอผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยผู้บัญชาการทหารบก

แต่เป็นเรื่องเดียวกันเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คือ ผบ.ทบ.

 

หากมองจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่เหมือนกับว่าไม่ว่าเรื่อง “ป่าเสื่อมโทรม” ไม่ว่าเรื่อง “เรือเหาะ”

ล้วนเดินมาถึง “บทจบ”

เพราะเมื่อบริษัทเจ้าของที่ดินไม่ยอมเดินหน้าโครงการกรณีอันเกี่ยวกับ “ป่าเสื่อมโทรม” ก็เหมือนกับไม่ได้เกิดขึ้น

เพราะเมื่อ “เรือเหาะ” ได้รับการประกาศปลดระวางในเดือนกันยายน 2560 โดยผบ.ทบ.คนปัจจุบัน จึงไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับ ผบ.ทบ.ที่เป็นเจ้าของเรื่องเมื่อเดือนมีนาคม 2552

จึงไม่น่าจะมีการฟื้นฝอยหาตะเข็บ

แต่คำถามที่ตามมาอย่างฉับพลันทันใดคือ สังคม “ปัจจุบัน” ต้องการจะให้ “จบ” หรือไม่

ตอบได้เลยว่า ไม่น่าจะจบง่าย-ง่าย

 

ในความเป็นจริงกรณี “ป่าเสื่อมโทรม” มากด้วยเงื่อนงำ มากด้วยช่องว่างและรอยโหว่

เพราะป่าไม่ได้เสื่อมโทรม

เพราะในระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด มีการจัดทำเอกสาร”ปลอม”มากมาย

เช่นเดียวกับกรณี “เรือเหาะ”

ปัญหาที่สังคมข้องใจเป็นอย่างมากคือ ในการจัดซื้อจัดจ้างมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ รัดกุมหรือไม่เพราะเป็น “เรือ” ที่ไม่ยอม “เหาะ” เสียแล้ว

คำถามในทาง “สังคม” อันตามมาก็คือ ใครสมควร “รับผิดชอบ” ในเรื่องนี้