ขนพองสยอง “เลือกตั้ง”

“เพื่อน…ที่ระลึก” ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของค่าย GDH กำกับฯ โดย จิม โสภณ ศักดาพิศิษฏ์

ใช้ชื่อภาคภาษาอังกฤษว่า The Promise

หยิบเอา “คำสัญญา” ของเพื่อนสาววัยรุ่น 2 คน ที่เผชิญ “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยํากุ้ง” ในปี 2540 มาผูกเป็นเรื่องราว

โดยมี “ตึกสาทรยูนีค” ที่คนพากันเรียกว่า The Ghost Tower เพราะสร้างไม่เสร็จจากวิกฤตดังกล่าว เป็นสักขีพยาน

สักขีพยานที่บอกว่า มีเพื่อนคนหนึ่งไม่ทำตาม “สัญญา”

เพื่อนอีกคนหนึ่ง จึงตามมาทวง “สัญญา” อย่างเขย่าขวัญ

เรื่องของสัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ดูหนังแล้วย้อนกลับมาดูโลกแห่งความเป็นจริง

โลกแห่งความเป็นจริง ที่ผูกพันด้วย “คำสัญญา” เช่นกัน

เป็นคำสัญญาจากคณะรัฐประหารที่เข้ามาบริหารประเทศ แล้วรับปากว่าจะจัด “เลือกตั้ง” เพื่อคืนประชาธิปไตยให้กับคนไทย

แต่กระนั้น คำสัญญาดังกล่าว ดูจะถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ

จากปี 2559 เป็นปี 2560 เป็นต้นปี 2561 เป็นปลายปี 2561

และปัจจุบัน ฝ่ายกุมอำนาจ ทั้งฝ่ายบริหาร คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และฝ่ายนิติบัญญัติ อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เริ่มส่งสัญญานว่า การเลือกตั้งอาจจะต้องยืดไปถึงปี 2562

เพราะกฎหมายลูกยังไม่เรียบร้อย

นับจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กำลังคืบคลานสู่ปีที่ 3 ของการบริหารประเทศ “การเลือกตั้ง” ก็ยังไม่เกิดขึ้น

และหากลากดึงไปถึงปี 2562 ก็เท่ากับรัฐบาลจากรัฐประหารจะบริหารประเทศครบ 1 วาระ คือ 4 ปีเลยทีเดียว

จนเริ่มมีการตั้งคำถาม นี่เป็นปัญหาทางเทคนิค

หรือเป็นความจงใจ ที่จะยืดการเลือกตั้งให้ออกไปนานที่สุดเท่าที่จะนานได้

ซึ่งก็เริ่มเห็นเค้าความต้องการนั้นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

เช่น การออกมาโยนก้อนหินถามทางถึง “รัฐบาลแห่งชาติ”

โดยรวมเอาพรรคการเมืองทั้งหมดมาจัดตั้งรัฐบาล แล้วมอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่า “ไม่มีความเห็น ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดในช่วงนี้” และยืนยันว่าไม่คิดดึงเวลา

แม้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ระบุว่า แนวคิดตั้งรัฐบาลรัฐบาลแห่งชาติ เป็นเรื่องของการเมือง เป็นการโยนหินถามทางบรรดาพรรคการเมืองมากกว่า

และแม้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวว่า ตอนนี้เป็นแค่เรื่องที่พูดกันไป เป็นการคาดเดาเอามากกว่า อย่าเพิ่งกังวลกันมาก ยังไม่ถึงเวลา

แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า “เค้า” ดังกล่าว มี “ความนัย”

ความนัยที่อาจมีผู้ต้องการเช็กกระแสว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะยืดการเลือกตั้งออกไป

หากมีการ “ขานรับ” มาก ก็จะเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายกุมอำนาจจะเดินหน้า

เดินหน้าว่า การสืบทอดอำนาจจะต้องไม่สะดุด อันเป็นเป้าหมาย “สูงสุด” ที่ต้องการ

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า 3 ปีของการรัฐประหาร มีการออกแบบรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เอื้อต่อรัฐบาลและ คสช. ในการดำรงอำนาจไว้ต่อไป

ขณะเดียวกันก็มีการเดินหน้าบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่ส่งแกนนำขั้วตรงข้ามเข้าคุกจำนวนมาก

ทั้งผ่านการกดดันทางการเมืองและกดดันผ่านอำนาจคณะรัฐประหารจนฝ่ายตรงข้ามขยับเขยื้อนอะไรมากไม่ได้

แต่กระนั้น รัฐบาลและ คสช. ก็ยังไม่มั่นใจต่อ “การเลือกตั้ง” สักเท่าไหร่

ตั้งแต่พื้นฐานเลยว่า หากผ่อนคลาย “กฎเหล็ก” เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองจะ “เซื่องๆ” อย่างที่เห็นหรือเปล่า

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยนั้น แม้จะดูเหมือน “แพแตก” หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนีคดีจำนำข้าว แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้ถึง “กระจัดกระจาย” ไร้สภาพ

ตรงกันข้ามกลับสามารถรวมตัวกลับมามีจุดยืนที่จะสู้ต่อไปอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ยังสามารถโยนเผือกร้อนกลับไปยังรัฐบาลและ คสช. ให้ต้องมาแก้ข้อกล่าวหา “กันเอง” ในฟากรัฐบาลว่าไฉนจึงปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หายไปอย่างไร้ร่องรอยได้

เป็นการเกี้ยเซียะกัน หรือเป็นเพราะฤทธิ์เดชที่ยังไม่หมดสิ้นของนายทักษิณ ชินวัตร ที่สามารถล้วงคองูเห่า ช่วยน้องสาวออกนอกประเทศได้อย่างเหนือชั้น

และขณะนี้ นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กบดานเงียบ

กลายเป็น “ความสยองขวัญ” ที่ไม่รู้ว่าจะโผล่ออกมาหลอกหลอนเมื่อใด

ขณะเดียวกัน หากกระแส “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่อาจเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ รัฐบาลและ คสช. ก็คงต้องประเมิน “กำลัง” ของตัวเองอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเสียงในสภา

แน่นอน วุฒิสมาชิก 250 คนนั้นไม่เป็นปัญหา

แต่พรรคการเมือง จะฝากผีฝากไข้ใครได้

เพราะด้านหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดิสเครดิตนักการเมืองอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นปัญหาของชาติ แล้วจู่ๆ จะไปอี๋อ๋อเป็นเพื่อนรักกับฝ่ายการเมืองเลยทันทีก็ดูจะกระไรอยู่

ทางออกทางหนึ่งก็คือ สร้างพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งก็คงไม่ง่ายกับการที่จะหานักการเมืองที่บริสุทธิ์ผุดผ่องมาเป็นฐานให้

ที่ดูจะเป็นไปได้ที่สุดก็คือ พึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้ตั้งพรรคขึ้นมา แล้วดูดเอานักการเมืองเข้ามาเป็นพวก ซึ่งแน่นอนก็คงมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแนวร่วม พร้อมๆ กับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตอนนี้เหลื่อมซ้อนกันอยู่ระหว่าง กปปส. กับ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ซึ่งหากมีการแยกออกไปตั้งพรรค ก็ย่อมเกิดการแข่งขันกันเอง เพราะต่างมีฐานเสียงเดียวกันคือในภาคใต้และ กทม.

นั่นย่อมไม่อาจดำเนินไปตามแนวทาง “แตกและโต” หากแต่เป็นไปในทาง “แตกแล้วแยก” กันไปมากกว่า

ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็คงต้องเผชิญคำถามว่าจะเป็นผู้นำประชาธิปไตยตามครรลอง คือเชื่อมั่นในระบบเลือกตั้ง หรือจะเล่นไปตามเกมของนายสุเทพและ กปปส. นั่นคือยอมเป็นมือเป็นเท้าสนับสนุนให้ “ทหาร” ครองอำนาจต่อไป

หรือหากมองในแง่ดีที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถต่างคนต่างเดินกับนายสุเทพได้

แต่ก็ยังต้องเผชิญกับคำถามอื่นอยู่ดี

นั่นคือ ทั้งนายสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะทะลวงเข้าไปในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นฐานสำคัญของพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่

หากไม่ได้ แถมยังเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544, เลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548, เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 และเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554

ที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด

ความระส่ำระสายทางการเมืองก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

พรรคเพื่อไทยเองก็คงไม่เดินไปตามเกม อย่างที่ฝ่าย คสช. และรัฐบาลต้องการ

โดย นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ย้ำว่าจะเดินตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่อิงแอบกับกลุ่มอำนาจนอกระบบ ไม่เป็นรัฐบาลที่ไปตั้งในค่ายทหาร แต่จะจับมือกับประชาชนที่รักความเป็นธรรม และเคารพต่อผลการเลือกตั้ง ไม่เป็นประเภทขี้แพ้แล้วพาล เพราะเป็นการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน

เช่นเดียวกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ชี้ว่าควรให้ประชาชนได้ใช้อำนาจในการตัดสินใจเลือกรัฐบาลและอนาคตของประเทศผ่านการเลือกตั้ง ต้องยึดเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นหลัก

หากเลือกตั้งแล้วผลออกมาว่าได้พรรคการเมืองเข้ามาจำนวนมาก ก็ต้องปล่อยให้พรรคการเมืองได้พิจารณาตัดสินความร่วมมือกันในสภา ซึ่งก็จะขึ้นกับสถานการณ์หรือภาวะบ้านเมืองขณะนั้นว่าเป็นแบบไหน อย่างไร

ทั้งนี้ การจะเกิดรัฐบาลแห่งชาติขึ้น ควรจะต้องมีภาวะพิเศษ เช่น การเกิดสงครามโลก ซึ่งในอดีตประเทศอังกฤษเคยใช้กรณีดังกล่าวเพื่อพาชาติผ่านพ้นวิกฤต

แต่ในกรณีของประเทศไทยเรายังไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต ไม่ได้อยู่ในจุดที่ประชาชนตัดสินใจเลือกใครไม่ได้จนถึงกับต้องมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้น

ดังนั้น จึงควรต้องเริ่มต้นด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยก่อน

“อยู่ดีๆ ผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะมาจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยที่พวกท่านไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผมคงไม่เอาด้วย และเชื่อว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็คิดแบบเดียวกัน” นายภูมิธรรมระบุ

ภาวะเช่นนี้ คสช. และรัฐบาล ก็มองออก

และคงประเมินได้ว่า ตอนนี้รัฐบาลและ คสช. ซื้อใจประชาชนได้มากเพียงใด

สามารถสร้างความปรองดอง ไม่แยกเป็นฝักเป็นฝ่ายได้หรือไม่

หรือภาวะสงบราบคาบขณะนี้ เป็นเพราะถูกกดด้วยอำนาจเหล็ก จึงดูเหมือนประชาชนส่วนใหญ่ยืนเคียงข้าง

แต่หากสนามการเมือง และสนามเลือกตั้งเปิดขึ้น

ภาวะสงบราบคาบจะดำรงอยู่หรือไม่

ความไม่แน่นอน และมีโอกาสผันแปรอยู่ตลอดเวลานี้เอง ที่นำไปสู่ภาวะความไม่สุกงอมต่อการเลือกตั้ง

และอาจจะเป็นเรื่อง “ขนพองสยองเกล้า” เลยทีเดียว หากลุยสนามเลือกตั้ง “อย่างไม่พร้อม”

ดังนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุด ก็คือการต้อง “เลื่อน” โรดแม็ปครั้งแล้วครั้งเล่า

จาก “ปฏิญญาโตเกียว” เป็น “ปฏิญญานิวยอร์ก” กระทั่งไม่สามารถมีคำตอบที่แจ่มชัดและแน่นอนในตอนนี้

ด้วยหวังว่าการเลื่อนวาระแห่ง “การเลือกตั้ง” ให้เนิ่นยาวออกไปจะเป็นผลดีให้กับ คสช. และรัฐบาล

แต่กระนั้นก็ต้องเผชิญความกดดันอันหนักหน่วงอย่างแน่นอน

เพราะเท่ากับไม่รักษา “คำพูด” ไม่รักษา “สัญญา”

ทั้งกับคน “ในประเทศ” และ “ต่างประเทศ”