E-DUANG : ลงจาก”หลังเสือ” ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

ไม่ว่าข้อเสนอว่าด้วย “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่ว่าข้อเสนอว่าด้วย “เปรม โมเดล” ของ นายพิชัย รัตตกุล มีรากงอกมาจากอะไร

1 ด้วยความปรารถนาดี

ขณะเดียวกัน 1 เป็นความปรารถนาดีในการหา “ทางออก” ของประเทศ

ออกจากภาวะซึ่งรับรู้และเรียกว่า “ทศวรรษอันอับจน”

ขณะเดียวกัน ในด้าน 1 ความพยายามนี้ก็เท่ากับเป็นการทอดสะพานให้คสช.ได้อำลา

และลงจาก”หลังเสือ”ด้วยความสง่างาม

ยังไม่มีใครรู้ว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” จะเกิดขึ้นหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ว่า “เปรมโมเดล” จะปรากฏเป็นจริงหรือไม่

เพราะไม่มีใครตอบได้ว่าจะ “เลือกตั้ง” เมื่อใด

 

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 นายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีรู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด

หลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 ก็เช่นเดียวกัน

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ก็พอรู้ว่าการเลือกตั้งน่าจะอยู่ไม่เกินปี 2522

หลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ก็เช่นเดียวกัน

นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ก็พอรู้ว่าการเลือกตั้งน่าจะอยู่ไม่เกินปี 2535

หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก็เช่นเดียวกัน

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็พอรู้ว่าการเลือกตั้ง น่าจะไม่เกินปี 2550

แต่ ณ วันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด

 

แม้จะมีการยืนยันต่อหน้านักธุรกิจ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นกว่า 600 คนว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2561

แต่ก็เป็นคำสัญญาอย่างมี “เงื่อนไข”

เงื่อนไข 1 กระบวนการด้านกฎหมายมีความพร้อม 1 ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือปรองดอง

เงื่อนไขเช่นนี้อดไม่ได้ที่จะนึกถึง “ปฏิญญาโตเกียว”

เงื่อนไขเช่นนี้อดไม่ได้ที่จะนึกถึง “ปฏิญญานิวยอร์ค”

เหมือนกับเป็น “คำสัญญา” เหมือนกับเป็นการบ่งบอก “ขอเวลาอีกไม่นาน”

จึงไม่แน่ว่าจะเลื่อนจากปี 2561 ไปอีกหรือไม่