เศรษฐกิจ/4 ปีทีวีดิจิตอลไทย…ลูกผีลูกคน ฝีที่รอบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ผ่าตัด สุดท้ายเหลือกี่ช่องกี่เจ้า…ยังฝุ่นตลบ

เศรษฐกิจ

4 ปีทีวีดิจิตอลไทย…ลูกผีลูกคน

ฝีที่รอบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ผ่าตัด

สุดท้ายเหลือกี่ช่องกี่เจ้า…ยังฝุ่นตลบ

หากนับจนถึงตอนนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดปัจจุบัน จะมีเวลาไม่ถึง 1 เดือนเต็ม ก่อนที่จะหมดวาระลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ตุลาคมนี้

ซึ่งหลังจากนั้นก็ยังไม่แน่ว่าบอร์ดชุดปัจจุบันต้องนั่งรักษาการไปอีกนานเท่าใด

อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงผลงานที่ผ่านมาของบอร์ด กสทช. ชุดปัจจุบัน มีไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

อาทิ การประมูล 3จี และ 4จี

แต่ก็ดูเหมือนจะมีผลงานใหญ่อีกหนึ่งชิ้นที่ดูจะเป็นรอยด่าง ก็คือการวางกฎ กติกา และการจัดสรรใบอนุญาต ทีวีดิจิตอล

ที่จนถึงขณะนี้สถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ตั้งแต่จัดประมูลเมื่อปลายปี 2556 หรือเกือบ 4 ปี หากไม่นับรวม 2 ช่องของ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม ที่จอดำไปแล้ว 2 ช่องก่อนหน้านี้ ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยยังคงมีอาการน่าเป็นห่วงเช่นกัน

โดยในการช่วยเหลือจะเห็นได้ว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา กสทช. เองยังต้องยืมมือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ มาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 2 แนวทาง คือ

1. การขยายกำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่เหลือจาก 3 งวดในเวลานั้น (งวดที่ 4-6) เป็น 6 งวด

และ 2. การที่ กสทช. จะช่วยผู้ประกอบทีวีดิจิตอลลดค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ขึ้นดาวเทียมไทยคม เพื่อออกอากาศผ่านทางทีวีดาวเทียม

แต่จนแล้วจนรอดดูเหมือนสถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเองก็ยังไม่ดีขึ้น

อ้างอิงได้จากการที่ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลก็ยังมีการขายหุ้นเปลี่ยนแปลงตัวผู้ถือหุ้นใหญ่กันอยู่

ประกอบด้วย บริษัท อเดลฟอส จํากัด ซึ่งมี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดี ทายาทน้ำเมาเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สัดส่วน 50% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จํากัด ที่ดำเนินธุรกิจ เช่น ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ธุรกิจวิทยุเอไทม์มีเดีย

และล่าสุดการที่บริษัท CHIT LOM LIMITED เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 2 ในสัดส่วน 9.6359% ของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นครั้งแรก เนื่องจากก่อนหน้านี้หลายช่อง อาทิ สถานีโทรทัศน์ช่องวัน และอมรินทร์ทีวี ก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่มาแล้วเช่นกัน

สำหรับการขายหุ้นถือว่าเป็นทางออกเดียวสำหรับการเอาตัวรอดทางบัญชีและการเพิ่มทุน เพราะด้วยกติกาที่ กสทช. ออกแบบไว้ว่าการก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ที่ถือใบอนุญาตของ กสทช. แล้ว จะถอนตัวได้ก็ต่อเมื่อจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลครบตามจำนวนเสียก่อน ก็ถือเป็นกำแพงสำคัญที่ไม่สามารถให้ผู้ประกอบการที่บาดเจ็บทางบัญชีอยู่ถอนตัวได้

แม้ก่อนหน้านี้หลายครั้งจะเห็นภาพของผู้ประกอบการเข้าเจรจากับ กสทช. ขอปลดล็อกการคืนใบอนุญาตโดยไม่ต้องจ่ายเงินงวดที่เหลือให้ครบก็ตาม

ซึ่ง กสทช. เองก็ได้ชี้แจงกลับมาแล้วหลายครั้งว่า ด้วยกฎหมายของ กสทช. ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งการจะยกร่างกฎหมายใหม่มาแก้ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดโทษฐานเอื้อประโยชน์เอกชนได้

ฉะนั้น ทางออกเดียวก็คือ มาตรา 44 แต่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุชัดเจนว่า “ยังไม่มีเสนอเข้ามา และไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ คงต้องหาวิธีการอื่นก่อน ถ้าไม่ได้ค่อยคุยกันอีกที”

เมื่อหาทางออกด้วยการ คืนใบอนุญาต หรือเลิกประกอบกิจการไม่ได้ จึงได้เห็นปรากฏการณ์ช่องต่างๆ มีการเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นรายใหญ่กันเป็นว่าเล่น

โดยเฉพาะการมีผู้ครอบครองรายใหม่ที่มีสายป่านทางการเงินที่ยาวพอ เพราะการออกกฎกติกา เรื่องการขายหุ้นของ กสทช. ชุดนี้ดูจะขัดแย้งกันพอสมควร จากการระบุว่าห้ามเปลี่ยนมือผู้ถือครองใบอนุญาต หรือส่งต่อให้ผู้ประกอบการรายอื่น แต่การเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือตามภาษาชาวบ้านเรียกว่าการซื้อ-ขายกิจการ ในบริษัทที่ถือครองใบอนุญาตทีวีดิจิตอลกลับสามารถทำได้ เพียงแต่อำนาจการบริหารต้องคงเดิม?

ซึ่งนัยยะคำว่าคงเดิมก็ยังไม่ชัดเจนว่าวัดจากอะไร เพราะในแง่ปฏิบัติผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลก็ยังคงสามารถเปลี่ยนตัวบอร์ด หรือซีอีโอ ได้ด้วยเช่นกัน

แต่ด้วยความมึนของข้อกฎหมายเรื่องหุ้นที่ออกมา ก็เลยกลายมาเป็นทางรอดเดียวของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ซึ่งดูเหมือนอุตสาหกรรมทีวียังคงเป็นอะไรที่หอมหวานสำหรับบรรดาเศรษฐีในประเทศไทยอยู่ไม่น้อย

เพราะหากนับดูดีๆ แล้วเวลานี้ผู้ครอบครองช่องทีวีดิจิตอลต่างก็เป็นตระกูลมหาเศรษฐีในประเทศไทยแทบทั้งสิ้น

อาทิ ตระกูลเจียรวนนท์ ช่องทรูโฟร์ยู และช่องข่าวทีเอ็นเอ็น, ตระกูลสิริวัฒนภักดี ช่องอมรินทร์ทีวี และช่องจีเอ็มเอ็ม25, ตระกูลปราสาททองโอสถ ช่องพีพีทีวี และช่องวัน, ตระกูลชินวัตร ช่องวอยซ์ทีวี

หรือแม้กระทั่งผู้ที่เป็นเจ้าตลาดในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ตั้งแต่ยุคอะนาล็อกเดิมจนกลายเป็นมหาเศรษฐี ได้แก่ นายกฤตย์ รัตนรักษ์ ช่อง 7 และตระกูลมาลีนนท์ ช่อง 33 ช่อง 28 และ 13 เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งที่ตามมาหลังจากการขายหุ้นเพิ่มทุนกันได้แล้ว รูปแบบรายการจากการที่แต่ละช่องต่างมีแนวทางในการนำเสนอคอนเทนต์รายการในรูปแบบที่ตนเองถนัด หรือการเป็นคอนเทนต์ในเชิงคุณภาพ ก็หันมาเสนอคอนเทนต์ที่คิดว่าจะเรียกเรตติ้งจากคนดูได้ จึงไม่แปลกที่เวลาเปิดทีวีในเวลานี้ส่วนใหญ่จะได้เห็นรายการในรูปแบบใกล้เคียงกันซ้ำๆ หลายๆ ช่อง อาทิ รายการประกวดร้องเพลง หรือชกมวย ออกมาเกลื่อนตลาด

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมด้วยว่าสถานการณ์การแข่งขันกันเองของทีวีดิจิตอลในเวลานี้ ไม่ได้แข่งขันกันแย่งเค้กส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่ราวปีละ 90,000-100,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยังต้องแข่งขันกับพวกที่เผยแพร่คอนเทนต์ภาพและเสียงต่างๆ บนอินเตอร์เน็ต (OTT) ซึ่งข้อมูลจาก กสทช. ก็ออกมาระบุแล้วว่าช่องทางดังกล่าวเข้ามากินส่วนแบ่งของผู้ประกอบการโทรทัศน์ไปแล้วราว 20% และยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีก

ทั้งนี้ ท้ายสุดการแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล อาจเป็นงานวัดกึ๋นชิ้นสำคัญของบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ที่กำลังจะมารับไม้ต่อเร็วๆ นี้ก็เป็นได้ มิเช่นนั้นแล้วทีวีดิจิตอลจะกลายไปเป็นสงครามคนรวยในท้ายที่สุดก็เป็นได้…