นิธิ เอียวศรีวงศ์ : บ้านกับเมือง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ผมได้ทราบด้วยความยินดีจากอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้เขียน A History of Ayutthaya ร่วมกับอาจารย์คริส เบเคอร์ ว่า หนังสือเล่มนี้กำลังถูกแปลเป็นไทย และจะตีพิมพ์ในเร็วๆ นี้

น่ายินดีก็เพราะหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งเขียนคลุมทั้ง 4-5 ศตวรรษของอยุธยานั้นมีน้อยในภาษาไทย (รวมภาษาอื่นด้วย) ทั้งหนังสือเล่มนี้ยังไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่เน้นแต่พัฒนาการทางการเมือง (ใครแย่งราชสมบัติของใคร) แต่เสนอพัฒนาการทุกด้าน รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อกันในแต่ละด้านด้วย

ยังไม่พูดถึงข้อมูลใหม่ หรือที่ยังไม่รู้จักคุ้นเคยอีกมาก ที่ทำให้เราเห็นอยุธยาจากแง่มุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน การวิเคราะห์ตีความประวัติศาสตร์ของผู้เขียนทั้งสองท่าน ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกิดในอยุธยาได้อย่างแจ่มชัด แต่ละยุคสมัย มีกำเนิดจากปัจจัยหลากหลายด้าน ที่ทำกริยาและปฏิกิริยาต่อกันอย่างสลับซับซ้อนมาอย่างไร

“ประวัติศาสตร์อยุธยา” ของอาจารย์ผาสุกและอาจารย์คริสจะเป็นตำราหลักของประวัติศาสตร์อยุธยาไปอีกนาน เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ของท่านได้เป็นอยู่เวลานี้

ผมอยากพูดถึงหนึ่งในการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของท่าน ที่ในทัศนะของผมเป็นข้อเสนอที่ท้าทายที่สุด ไม่ใช่แก่นักประวัติศาสตร์ไทยเพียงอย่างเดียว แต่ผมคิดว่ามันเปลี่ยนภาพของประเทศไทยในอดีต ซึ่งย่อมอยู่ในจินตนากรรมเบื้องหลังนักไทยคดีศึกษาทุกสาขาวิชาไปอย่างสิ้นเชิง

ทั้งสองท่านเสนอในบทที่ 5 ว่า สังคมไทยในสมัยอยุธยานั้นเป็นสังคมเมือง ไม่ใช่สังคมชนบท

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากการวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี แล้วพบว่าถิ่นที่ตั้งภูมิลำเนาของผู้คนในสมัยอยุธยานั้น นอกจากในเขตเมืองแล้ว ก็จะอยู่ในบริเวณรอบตัวเมืองอยุธยาเป็นรัศมีไม่เกิน 10 ก.ม. แน่นอนประชากรไม่ได้กระจายไปในรัศมีนั้นอย่างเท่ากันหมด ย่อมกระจุกอยู่ในเขตริมฝั่งน้ำเป็นสำคัญ

ดูจากเชิงอรรถว่าท่านทั้งสองใช้หลักฐานอะไร (แต่ก็ไม่ได้ตามไปอ่านแหล่งข้อมูลในเชิงอรรถทั้งหมด) พบว่าท่านอาศัยร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานเก่า จากคำบอกเล่าของผู้คน และร่องรอยทางวัตถุ เช่น การกระจายตัวของวัดเก่าครั้งอยุธยา จึงทำให้พอกำหนดอาณาบริเวณของ “เมือง” อยุธยาได้

หมายความว่า พ้นจากเขตเมืองออกไปก็คือแหล่งเกษตรกรรม ซึ่งอาจเป็นนาของเอกชน, ของขุนนาง และของหลวง ซึ่งมีแรงงานคนผลิตข้าวอยู่ ได้ผลผลิตเพื่อเลี้ยงครอบครัวผู้ผลิตแล้ว ก็เหลือพอจะระบาย (โดยถูกบังคับหรือโดยตลาดก็ตาม) มาแก่คนในเมืองอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ทำนาเอง

มีชีวิตไม่ห่างจากเมืองเกิน 10 ก.ม. ซ้ำมีเส้นทางคมนาคมทางน้ำ (และอาจจะทางบกด้วย) ที่สะดวก เชื่อมต่อแหล่งเกษตรกรรมและเมือง ถ้าอย่างนั้นคนที่อยู่ในรัศมีนี้ก็แทบไม่ได้หลุดกระแสไปจากเมืองสักเท่าไรนัก ละครนอกที่เล่นกันให้ชาวเมืองดู ก็อาจเร่ไปแสดงในงานหาของคหบดี “บ้านนอก” ได้ เขาแย่งอำนาจกันในอยุธยา คน “บ้านนอก” ก็รู้ได้ในวันเดียว หรืออาจมีส่วนร่วมในการช่วยเป่านกหวีดชิงอำนาจด้วยก็ได้ การนำของมาขายในเมือง ก็อาจแวะซื้อของแถวตลาดประตูจีนด้วย

ดังนั้น คน “บ้านนอก” ย่อมรู้จักหรือบางคนอาจเคยกินขนมจันอับมาตั้งแต่ก่อนกรุงแตกแล้ว

ผมคิดว่า แม้แต่ในภาษาที่เราใช้เรียกคนที่ไม่ได้อยู่ในเมือง ก็อาจมีความหมายถึงชาวเมืองอีกประเภทหนึ่งเท่านั้น คำว่า “บ้านนอก” ก็คือ “บ้าน” หรือชุมชนที่ตั้งอยู่นอกเมือง แต่ก็ไม่ได้ไกลสุดกู่ชนิดที่คนเมืองนึกไปไม่ถึง เรียกว่า “นอก” ให้ต่างจากบ้านที่อยู่ “ใน” เมืองเท่านั้น และหลายคนคงมีญาติอยู่ “บ้านนอก” เอกสารโบราณชอบเรียกว่า “คามนิคมชนบท” แล้วเราก็นึกถึงชุมชนที่ไกลจากเมืองสุดกู่ ต้องบุกป่าฝ่าดงไปไกลกว่าจะได้เจอ แต่ความหมายในภาษาบาลีก็หาได้ไกลอย่างนั้นไม่ คามก็คือบ้าน นิคมคือที่อยู่ ชนบทคือทางไปของผู้คน ก็แค่ตามท้องนาที่อยู่รอบเมืองเท่านั้น

ผมเข้าใจจากที่อ่านและคิดเอาเองว่า “เมือง” ในประเทศไทยหรือในหมู่ชนที่พูดภาษาไทยล้วนเป็นอย่างนี้ คือมีชุมชนหนาแน่นซึ่งเป็นที่ตั้งของอำนาจ (ท้องถิ่นหรือระดับรัฐ) เรียกว่า “เมือง” แล้วก็มีผู้คนที่พากันมาอยู่ใกล้ๆ เพื่อต้องการความคุ้มครองและบริการที่เมืองอาจมอบให้ได้ (เช่น ตลาด, ศาสนสถาน เป็นต้น) หรืออาจถูกเกณฑ์มาตั้งอยู่ใกล้ๆ เพื่อเรียกเก็บแรงงานและภาษีได้ง่าย กลไกการบริหารทางการเมืองและสังคมของไทยโบราณ ก็มีได้เท่านี้เอง หากชนบทกระจายออกไปอย่างกว้างขวางเหมือนสมัยหลัง จะเกณฑ์ไพร่เกณฑ์ส่วยเกณฑ์ทัพกันได้อย่างไร อย่าลืมว่าระบบราชการไทยนั้นเล็กนิดเดียว

ราชอาณาจักรเกิดขึ้นได้ ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินสามารถเรียกร้องความภักดีจากเจ้าเมืองอื่นๆ ซึ่งอยู่ไกลออกไป แล้วก็สร้างกลไกนานาชนิดขึ้นเพื่อรักษาให้ความภักดีนั้นยั่งยืนต่อไปในระยะยาว

ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในปริมณฑลของ “เมือง” อย่างนี้ พ้นจากปริมณฑลนี้ออกไปคือป่าซึ่งอำนาจของเมืองไม่อาจล่วงล้ำเข้าไปได้ เมืองอื่นก็กระจายเป็นจุดๆ อยู่ในราวป่าอย่างนี้ทั้งสิ้น และคงมีปริมณฑลเล็กกว่าอยุธยามาก นับตั้งแต่ที่นักเดินทางชาวยุโรปในต้นศตวรรษที่ 19 บอกว่าเท่ากับหมู่บ้าน ไปจนถึงมีรัศมีเกิน 1 ก.ม. เช่นพิษณุโลก, โคราช และนครศรีธรรมราช

ภาพของชนบทที่อยู่ไกลจากเมือง จนขาดจากเมืองในเกือบทุกด้าน เป็นภาพที่เกิดขึ้นหลังสนธิสัญญาเบาริ่งแล้ว เมื่อประชาชนพากันไปเปิดที่นาใหม่เพื่อผลิตข้าวส่งออกกันอย่างกว้างขวาง ขอให้มีเส้นทางคมนาคมที่พอจะขนข้าวสู่ตลาดได้ ผู้คนก็อพยพไปก่นสร้างนาขึ้นทั่วไป คำว่า “บ้านนอก” ก็เปลี่ยนความหมายไปอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน คือหากเป็นบ้านนอกแล้วก็ต้องคอกนาด้วย

ผมยอมรับว่า “ตาสว่าง” เลยครับ เพราะนี่ไม่ใช่ภาพของสังคมไทยในอดีตที่ผมมีมาก่อน ตาที่สว่างขึ้นนี้ทำให้ย้อนกลับไปอ่านอะไรที่เคยอ่านเคยรู้มาแล้วได้เข้าใจมากขึ้น เช่น พงศาวดารเมืองพัทลุงบอกว่า พอเปลี่ยนเจ้าเมืองที ก็ย้ายเมืองที แล้วแต่เจ้าเมืองจะมีบ้านอยู่ที่ไหน ผมไปพัทลุงแล้วพบว่า บ้านของเจ้าเมืองนั้นไม่ได้อยู่ห่างกันแค่บางลำพูกับสนามหลวงนะครับ แต่ไกลจากกันเกิน 10 ก.ม. ก็มี เลยเกิดงุนงงว่า ทำไมต้องย้ายเมืองล่ะหว่า

แต่พอเข้าใจ “เมือง” อย่างที่อาจารย์ผาสุกและอาจารย์คริสเสนอ ก็สว่างเลย นั่นหมายความว่าที่พัทลุงมี “เมือง” หรือชุมชนที่ผู้คนหนาแน่นกระจายหลายแห่งอยู่แล้ว เมื่อกรุงเทพฯ เลือกผู้นำท้องถิ่นคนใดของ “เมือง” ตามความหมายนี้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ก็เป็นธรรมดาที่เมืองพัทลุงย่อมย้ายไปอยู่ที่ “เมือง” อันเป็นที่ตั้งของอำนาจท้องถิ่นนั้นๆ

ผมเคยอ่านพบที่ไหนก็จำไม่ได้แล้วว่า เจ้าเมืองซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งจากเมืองหลวงนั้น ต้องตั้งคนในตำแหน่งปกครองในเมืองของตนเอง ลงไปถึงระดับนายบ้าน ผมเคยนึกสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร คนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองได้นั้น ควรมีเครือข่ายในท้องถิ่นของตนเอง แต่ใครจะมีเครือข่ายกว้างขวางลงไปถึงระดับหมู่บ้านในชนบท แต่พอตาสว่างจากข้อเสนอของอาจารย์ผาสุกและอาจารย์คริส ก็เข้าใจได้ทันทีว่า เครือข่ายท้องถิ่นของเจ้าเมืองกว้างลงไปถึงหมู่บ้านก็ได้ หากชนบทเป็นเพียงขอบนอกที่ล้อมรอบเมืองอยู่ ส่วนผู้คนในชนบทของเมืองขนาดเล็กที่ต้องขึ้นกับหัวเมืองใหญ่ ก็เป็นเรื่องของเจ้าเมืองขนาดเล็กนั้นจะมีเครือข่ายควบคุมชนบทของเมืองตน แต่ตัวเจ้าเมืองเล็ก ต้องสวามิภักดิ์ต่อเจ้าเมืองใหญ่ที่อยุธยาแต่งตั้งขึ้นเท่านั้น

ในภาคกลางซึ่งอยู่ห่างจากเขตภูเขาหรือที่ James C Scott เรียกว่า Zomia ผู้คนจะหนีรัฐได้อย่างไร? ต้องดั้นด้นให้เลยอุตรดิตถ์ขึ้นไปก็ดูจะเหนื่อยเกินกำลัง (ของลูกเมียญาติพี่น้องที่ไปด้วยกัน) แต่หาก “เมือง” ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำนาจรัฐคือกระจุกของประชากรในปริมณฑลแคบๆ อย่างที่กล่าวนี้ การหนีอำนาจรัฐหรือการปฏิบัติ “ศิลปะของการไม่ถูกปกครอง” ก็ง่ายเท่าลัดนิ้วมือ เพราะเดินทางออกไปพ้นปริมณฑลดังกล่าวนิดเดียวก็เข้าป่า ซึ่งปลอดอำนาจรัฐเสียแล้ว

โจรที่ปล้นเรือนขุนช้างคงตั้งซ่องในป่า ไม่ไกลจาก “เมือง” เท่าไรนัก เช่นเดียวกับหมื่นซ่องพ่อนางบัวคลี่ ถึงอยู่ในป่าก็ไม่ไกลจากเมืองเหมือนกัน ไม่มีใครยกกำลังจากเขตภูเขาลงมาปล้นถึงเมืองสุพรรณหรอก นอกจากกษัตริย์ยกทัพเท่านั้น ขุนแผนพานางวันทองหนีเข้าป่า ก็ไม่ได้ไกลจากปริมณฑลที่เป็นเมืองเช่นเดียวกัน

เช่นเดียวกับชนชั้นสูงและนักรบ “ไต-ไท” ที่ยกกำลังมาตั้ง “เมือง” ในเขตภูเขาหรือ Zomia นับตั้งแต่สิบสองจุไท, ริมฝั่งน้ำของ, น้ำปิง, วัง, ยม, น่าน, ไปจนถึงเขตภูเขาในลุ่มน้ำสาลวิน และเลยไปทางตะวันตก คนเหล่านี้พากันตั้ง “เมือง” ขึ้นตามที่ราบหุบเขา ซึ่งก็ไม่ใหญ่โตนัก แต่สามารถให้ความคุ้มครองและบริการบางอย่างได้ ทำให้มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอยู่ใกล้ๆ รวมทั้งลาดเขาที่อยู่รอบๆ เมืองด้วย ผู้ปกครองกลายเป็น “เจ้าฟ้า”, “เจ้าหลวง” หรือกษัตริย์ของ “เมือง” บางยุคสมัยหรือกษัตริย์บางองค์ ก็สามารถขยายอำนาจไปยังหุบเขาอื่น (เช่น พญาเจือง หรือพญามังราย) ตั้งเป็นราชอาณาจักรซึ่งอาจมีอายุยืนนานหรือช่วงสั้นๆ ก็ได้

 

ในกรณีของไทย คู่ตรงข้ามของ “เมือง” ไม่ใช่ชนบท แต่คือ “เมือง” ที่ตั้งอยู่อีกราวป่าหนึ่ง ผมไม่ได้หมายความว่า ในป่าถัดจากเมืองออกไป ไม่มีคนอยู่เลย อาจจะมีเช่นคนหนีรัฐพวกหนึ่งละ อีกพวกหนึ่งอาจเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ที่นั่นมาก่อน หรือเคยอยู่ในที่ราบ แต่ต้องถอยร่นออกไปเมื่อระบบการเมืองแบบ “เมือง” เข้ามาครอบงำพื้นที่ตรงนั้น ป่าจึงเป็นพื้นที่นอกรัฐ หรือเป็นที่อยู่ของคนหนีรัฐ หรือคนที่อยากรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ให้ต่างจากเมือง (เช่น ไม่อยากถือพุทธ)

ป่าจึงเป็นพื้นที่ลี้ลับที่น่ากลัวแก่คนในเมือง นอกจากสิงสาราสัตว์และคนนอกรัฐประเภทต่างๆ ซึ่งรัฐไม่อาจควบคุมได้แล้ว ยังมีเจ้าป่าเจ้าเขา ผี และเทพคอยทำร้ายผู้คน โดยเฉพาะคนที่ไม่เคารพระเบียบของป่า

แต่มาถึงต้นรัตนโกสินทร์ การเดินทางระหว่างเมืองมีความจำเป็นมากขึ้น เช่น ส่งออกของป่าปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้จำเป็นที่ไพร่จะต้องเข้าป่าเพื่อรวบรวมส่วยของป่า เป็นไปได้ด้วยว่าการสื่อสารคมนาคมระหว่างรัฐบาลกลางและหัวเมืองเพิ่มมากขึ้นตามการขยายอำนาจของรัฐบาลกลาง เกิดความจำเป็นที่ใครจะต้องเดินผ่านป่า เพื่อนำสารจากราชธานีไปหัวเมือง หรือจากหัวเมืองไปราชธานี การค้าที่ขยายตัวขึ้นทำให้ต้องส่งหรือรับสินค้าจากต่างเมือง

ป่าจึงกลายเป็นทางผ่านของการเดินทางจากเมืองสู่เมือง

ป่าในวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์จึงผ่อนคลายลงกว่าป่าในวรรณกรรมอยุธยาอย่างเห็นได้ชัด ป่ากลายเป็นที่เล่นสนุกของกวีในการหานกหรือสัตว์ที่ชื่อตรงหรือคล้ายกับต้นไม้มาเกาะเกี่ยวกัน เช่น นกยางหมดสิทธิ์จะเกาะไม้อะไรนอกจากต้นยาง นอกจากนี้ ป่ากลายเป็นความงามตามธรรมชาติของน้ำตก, ดอกไม้, ผีเสื้อ ฯลฯ แทนความน่ากลัวของอำนาจที่อยู่นอกรัฐ

ทัศนคติที่มีต่อป่าเปลี่ยนไปเช่นนี้ ทำให้คนในเมืองเลิกกลัวป่า ไพร่และทาสที่ได้รับการปลดปล่อยในสมัย ร.5 จึงกล้าพาลูกเมียออกไปก่นสร้างไร่นาของตนเองในเขตป่า จนทำให้นาในประเทศไทยกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาอย่างที่เห็นในสมัยหลัง

ดังนั้น คำว่า “ชนบท” ที่เราใช้ในปัจจุบัน จึงเป็นทั้งความหมายใหม่และพื้นที่ใหม่ เพราะไม่นานมานี้เอง มันยังเป็นป่าและเพิ่งถูกก่นถางให้กลายเป็นบ้านขึ้น แต่ “ชนบท” กลับกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่ ระบบปกครองของไทยที่ผ่านมาในอดีตไม่เคยมีประสบการณ์ในการปกครองเหนือ “ชนบท” แบบนี้มาก่อน ในทางสังคม ความรู้เกี่ยวกับ “ชนบท” ใหม่อย่างนี้ก็ไม่เคยมีหรือสะสมกันมา ที่เราบ่นว่าหลักสูตรการศึกษาไทยไม่สอนให้รู้จัก “ชนบท” ในความหมายใหม่นี้ ก็เพราะเราไม่รู้จักมันนี่ครับ จนถึงทุกวันนี้ “ชนบท” ยังแปลกหน้าสำหรับเอลีตไทยที่อยู่ในเมืองเลย ได้แต่สร้างปราชญ์ชาวบ้าน, วัฒนธรรมชุมชน และประชารัฐขึ้นมาจากจินตนาการ