หล่อจังฮู้

เมื่อเทียบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ นายทักษิณ ชินวัตร แล้ว

ต้องยอมรับว่า นาทีนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ดูดี” หรือ “หล่อ” กว่ามาก

และฉวยไปสร้าง “ประโยชน์” ได้ในทุกเม็ดทุกซีน

อย่างในวันที่ 25 สิงหาคม ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ “หนี” ไม่ไปฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีโครงการรับจำนำข้าว

นายอภิสิทธิ์ซึ่งไปปาฐกถาเรื่อง การปฏิรูปการศึกษายุค 4.0 ในงานปฐมนิเทศพนักงานครูเทศบาล นครศรีธรรมราช ได้กล่าวว่า

“ทราบข่าวแล้วใช่ไหมครับ ดีใจหรือเสียใจ ข่าวไม่มาศาล ทุกคนคงทราบกันแล้ว น้ำในหูไม่เท่ากัน ไม่มีใบรับรองแพทย์ถือว่าเท็จ ผมพูดเรื่องจริง ไม่ได้ทับถม มีหมายจับแล้วผมไม่พูดนะ”

ปรากฏว่ามีเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือลั่นห้องประชุม

ทำให้สื่อบางสำนักหยิบไปรายงานในออนไลน์ “มาร์คเย้ยปูไม่มาศาล”

อาจทำให้ความ “หล่อ” ลดลง จึงมีการส่งทีมงานแก้ข่าวในทันที

รวมถึงนายอภิสิทธิ์ ที่ใช้โอกาสไปร่วมเสวนา หัวข้อ “บทบาทสื่อมวลชนไทยในยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยภายใต้กติกาใหม่” เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่สถาบันพระปกเกล้า แก้ข่าวว่า

“เป็นห่วงเรื่องคุณภาพสื่อมวลชน ยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ความสนใจอยู่ที่การพิพากษาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งในวันดังกล่าว ผมมีภารกิจการบรรยายครูเทศบาลที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ผู้รับฟังการบรรยายต่างกังวลและติดตามข่าวของคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อมีผลออกมาว่า ศาลออกหมายจับและเลื่อนการอ่านคำพิพากษา ผมก็ได้เล่าถึงข้อเท็จจริงไปกับผู้บรรยายเพื่อให้คลายกังวล แต่กลับมีสื่อท้องถิ่นนำเสนอข่าวว่า ผมเย้ย น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ไม่มาศาล ทั้งที่ผมไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น จนสื่อมวลชนตัดสินใจแก้ข่าวให้ โดยแก้เพียงพาดหัวเป็น “อภิสิทธิ์เห็นใจยิ่งลักษณ์” จึงสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าสื่อต้องการเสรีภาพ แต่ยังมีปัญหาด้านคุณภาพการนำเสนอ ก็ย่อมเป็นข้อกังวลของสังคม” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ฟังแล้ว “หล่อ”

แม้ว่าหลายคนจะมีคำถามว่า กรณีดังกล่าวไม่เย้ยจริงหรือ

เพราะหลังจากนั้น นายอภิสิทธิ์ก็เสริมความหล่อทุกเม็ด

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

เช่น งัดมุข ที่เริ่มใช้มาแล้วครั้งสองครั้ง ออกมาใช้อีกครั้ง

นั่นคือ ได้ทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ของนายอภิสิทธิ์เอง

เรื่อง “ความรู้สึกของคุณเมื่อทราบว่าคุณยิ่งลักษณ์ไม่ปรากฏตัวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม”

โดยเตรียมคำตอบสำหรับเลือก จำนวน 4 ข้อ ได้แก่

1. ไม่แปลกใจ คิดว่าต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว

2. คาใจ ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

3. โล่งใจ เป็นทางออกสำหรับทุกฝ่าย ไม่ต้องขัดแย้ง

4. ไม่พอใจ ตอกย้ำปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของไทย

และเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม นายอภิสิทธิ์ได้เปิดเผยผลโพล ว่า จากที่มีผู้ตอบมามากถึง 2,343 คน

หลายคนเขียนมาเพิ่มเติมว่าอยากตอบมากกว่าหนึ่งข้อ

บางคนยอมรับว่ามีความรู้สึกขัดแย้งในตัวเอง

กว่าครึ่งของผู้ตอบ (52%) บอกว่าไม่แปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

23% ยังรู้สึกคาใจว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม เกิดขึ้นได้อย่างไร

นายอภิสิทธิ์สรุปว่าเป็นการสะท้อนอารมณ์ของสังคมได้ระดับหนึ่ง

นายอภิสิทธิ์ยังได้ขยายผลต่อเนื่อง เช่น “ชี้แนะ” ให้พรรคเพื่อไทยก้าวข้ามผลประโยชน์ของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง นำความนิยมของประชาชนมาทำงานการเมืองต่อไป

ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมปลุกกระแสการยกเลิกหนังสือเดินทางของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่ไก่โห่

โดยบอกว่า ขณะนี้เข้าเกณฑ์ในการยกเลิกแล้ว

เพราะตามระเบียบในการขอหรือเพิกถอนพาสปอร์ตได้กำหนดคุณสมบัติบุคคลที่สามารถขอและเพิกถอนไว้ 2 ข้อ คือ 1.กรณีมีหมายจับ และ 2.ศาลห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อแล้ว

จึงสงสัยทำไมรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศไม่ถอน จะใช้ดุลพินิจว่าจะไม่ถอนก็ต้องอธิบาย

การที่ให้ข้อมูลว่าต้องรอคำพิพากษาของศาลก่อนนั้น ทำให้ประชาชนสับสนและความจริงไม่ใช่

นอกเหนือจาก คสช. แล้ว นับเป็นการเอางานเอาการของนายอภิสิทธิ์อย่างยิ่ง ที่เกาะติดเรื่องนี้

เพราะเมื่อเทียบกับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่มีใคร “หล่อ” และเอาการเอางานเท่า

ด้วยเหตุนี้เองจึงมีเสียงตอบโต้จากพรรคเพื่อไทย

เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกว่า ที่นายอภิสิทธิ์ระบุให้พรรคเพื่อไทยก้าวข้ามผลประโยชน์ของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง นำความนิยมของประชาชนมาทำงานการเมืองต่อไปนั้น

สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น

นายอภิสิทธิ์เองก็ควรหันกลับไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี

หันกลับไปคิดนโยบาย

เดินหน้าพรรคการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

อย่ามัวแต่กระแหนะกระแหน ควรเลิกพูดถึงคนอื่นโดยเฉพาะบุคคลที่สาม ซึ่งเขาไม่สามารถออกมาโต้ตอบได้

ที่สำคัญไม่เอื้อให้เกิดประโยชน์กับการเมืองไทยด้วย

ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุถึงการที่นายอภิสิทธิ์กดดันให้ยกเลิกหนังสือเดินทางของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าควรใช้ความระมัดระวัง

เพราะอาจถูกตั้งคำถามได้ว่า ไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย

อาจถูกมองว่า ไปกดดันการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือไม่

นายอภิสิทธิ์เคยเป็นนายกรัฐมนตรี น่าจะทราบว่า การดำเนินการใดๆ ต้องยึดหลักความถูกต้องตามกฎหมาย

ขนาดสมาชิกพรรคเพื่อไทยยังไม่ทราบเลยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ที่ไหน และยังไม่รู้เลยว่าจะขอลี้ภัยทางการเมืองหรือไม่

จึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปคาดการณ์ไปในทางหนึ่งทางใด จะสร้างความสับสนไปเปล่าๆ และสังคมไม่ได้ประโยชน์

“นายอภิสิทธิ์ควรเลิกยุ่งเรื่องคนอื่น เอาเวลาไปคิดนโยบายและพัฒนาพรรค เผื่อจะชนะการเลือกตั้งจะดีกว่า” นายอนุสรณ์กล่าว

เสียงท้วงติงดังกล่าว จะทะลุความ “หล่อ” เข้าไปถึงใจนายอภิสิทธิ์ หรือไม่ไม่มีใครตอบได้

เพราะไม่เพียงการโชว์หล่อเหนือการหนีคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์เท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังได้ “ความหล่อ” เสริมจากคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ “ยกฟ้อง” ในคดีฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จากการออกคำสั่ง ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินและแยกราชประสงค์จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

ที่เห็นว่า นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ได้ออกคำสั่งในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว

ดังนั้น หากกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวน

และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา

ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้อง

ทำให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ หลุดรอดพ้นคดีแทบจะสมบูรณ์

เพราะก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. ก็ได้มีมติไม่รับพิจารณากรณีดังกล่าว เพราะเห็นว่า นปช. ชุมนุมโดยไม่สงบและมีคนเสื้อดำติดอาวุธเข้ามาแทรกแซงด้วย

ภาวะ “ดับเบิล” หล่อของนายอภิสิทธิ์ในตอนนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธ

แต่คำถามที่น่าสนใจต่อไปก็คือ นายอภิสิทธิ์จะใช้ภาวะดับเบิลหล่อนี้อย่างไร

โดยเฉพาะการนำพาพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเถลิงอำนาจหลังการเลือกตั้ง

เพราะว่ากันตามจริงแล้ว สมการการเมืองตอนนี้

ภาวะ “ดับเบิ้ลหล่อ” ของนายอภิสิทธิ์ตอนนี้ แทบไม่ได้มีผลต่อความเชื่อเลยว่านายอภิสิทธิ์จะสามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ตรงกันข้าม กลับเป็นแค่หางเครื่องให้กับคณะรัฐประหารที่วางตัว “ผู้นำ” เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

นายอภิสิทธิ์ตกอยู่ในภาวะ “ผู้ตาม”

ตามทั้ง “กปปส.” ของนายสุเทพ

ตามทั้งกระแสนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จองไว้แล้ว

“หล่อจังฮู้” จะมีประโยชน์อะไรหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ท้าทายยิ่งสำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

โดยเฉพาะผลโพลของสถาบันพระปกเกล้า ในวาระครบรอบ 19 ปีของสถาบัน

ที่สุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ อายุ 18 ปีขึ้นไป รวม 33,420 คน เก็บข้อมูลวันที่ 24 เมษายน-15 พฤษภาคม 2560

ผลสำรวจความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2545-2560

นายกฯ ที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาคือ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมถึง 92.9% ในปี 2546 แต่ลดลงมาเหลือ 77.2% ในปี 2549 ก่อนมีการรัฐประหาร

ลำดับถัดมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 87.5% ในปี 2558 ซึ่งเป็นหนึ่งปีหลังรัฐประหาร โดยความนิยมลดลงมาเล็กน้อยใน 2 ปีถัดมาที่ 84.6% และ 84.8%

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2555 คือ 69.9% แต่ตกลงมาเหลือ 63.4% ในปี 2556-2557

ส่วน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2553 คือ 61.6% ตกลงมาเหลือ 51.2% ในปี 2554

นายกฯ ที่ได้รับความนิยมต่ำสุดคือ นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 37.6% ในปี 2551

ผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อบุคคลหรือคณะบุคคล

พบว่า 5 อันดับแรก ประกอบด้วย แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ 86.4% แพทย์ในโรงพยาบาลของเอกชน 85.6% ทหาร 85.1% พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ 84.8% และ คสช. 82.3%

ขณะที่ความนิยมต่ำสุด 5 อันดับ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ 36.8% องค์กรพัฒนาเอกชน 38.3% พรรคเพื่อไทย 39.4% พรรคการเมืองโดยรวม 43.5% และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) 47.6%

ปรากฏว่าผลโพลชี้ว่า นายอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ แย่ทั้งคนและพรรค

ขัดกับความพยายาม “หล่อจังฮู้” อยู่มาก–ทำไม